อินเดียลั่น ‘ไม่ร่วม’ RCEP ของจีน มองมังกรใช้ WTO ทุ่มตลาดด้วยสินค้าราคาถูก
‘อินเดีย’ ปฏิเสธการเข้าร่วม ‘RCEP’ ข้อตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยให้เหตุผลว่าไม่สอดคล้องกับผลประโยชน์ของชาติ มองการทำข้อตกลงกับจีนจะส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมภายในประเทศ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าของอินเดีย “ปฏิเสธ” ข้อเสนอในการเข้าร่วมความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค” (RCEP) โดยยืนยันว่าการเข้าร่วมข้อตกลงการค้าเสรีกับจีนนั้น “ไม่เป็นประโยชน์ต่อประเทศอินเดีย”
“อินเดียจะไม่เข้าร่วม RCEP เพราะไม่ได้สะท้อนถึงหลักการที่อาเซียนก่อตั้งขึ้นมา และไม่เป็นผลประโยชน์ต่อชาติในการทำข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน”
ปียุช โกยาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์และอุตสาหกรรมของอินเดียกล่าว
สำหรับ RCEP หรือ ข้อตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ถูกลงนามในปี 2020 โดยประเทศในเอเชีย-แปซิฟิก 15 ประเทศ ซึ่งคิดเป็น 30% ของ GDP โลก และมีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2022 โดยประกอบด้วยสมาชิก 10 ประเทศของอาเซียน และหุ้นส่วนการค้ารายใหญ่ที่สุด 5 ประเทศ ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
การเจรจาเพื่อทำ ข้อตกลง RCEP เริ่มขึ้นในปี 2013 และในช่วงแรกมีอินเดียเข้าร่วม ซึ่งสมาชิกบางประเทศมองว่าอินเดียเป็นตัวถ่วงดุลกับจีน อย่างไรก็ตาม ในปี 2019 อินเดียเลือกที่จะไม่เข้าร่วม RCEP โดยอ้างถึงปัญหา “ผลประโยชน์หลัก” ที่ยังไม่สามารถแก้ไขได้ ซึ่งอินเดียไม่ได้ระบุรายละเอียดผลประโยชน์หลักนั้นว่าคืออะไร
โกยาลกล่าวว่า ในเวลานั้น อินเดียมีข้อตกลงการค้าเสรีกับอาเซียน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้แล้ว รวมถึงการค้าทวิภาคีกับนิวซีแลนด์มูลค่า 300 ล้านดอลลาร์
“นี่ไม่เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรของเรา RCEP ไม่ได้สะท้อนถึงความต้องการของอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อมของเรา และในบางแง่มุม ก็เป็นเพียงข้อตกลงการค้าเสรีกับจีน” โกยาลเสริม
“เมื่อมองจากมุมมองภายนอกประเทศ คุณจะไม่เข้าใจว่าการแข่งขันกับเศรษฐกิจที่ไม่โปร่งใสนั้นยากแค่ไหน” รัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์กล่าวต่อ โดยอ้างอิงถึงประเทศจีน
“แน่นอนว่าไม่มีใครที่บ้านต้องการที่จะมี FTA กับเศรษฐกิจที่ไม่โปร่งใส มีความขุ่นมัวในทางปฏิบัติทั้งทางเศรษฐกิจ ระบบการค้า ระบบการเมือง โดยมีวิธีการจัดการที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากสิ่งที่โลกประชาธิปไตยต้องการ”
โกยาลยังกล่าวหาจีนว่า ใช้ประโยชน์จากนโยบายขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยทุ่มตลาดหลายประเทศด้วยสินค้าราคาถูก ตั้งแต่แผงโซลาร์เซลล์ไปจนถึงรถยนต์และเหล็กกล้า ซึ่งมักไม่เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพ
อ้างอิง: CNBC