ADB หั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้ไม่ถึง 3% เหตุรัฐใช้จ่ายชะลอ-ส่งออกฟื้นช้า

ADB หั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้ไม่ถึง 3% เหตุรัฐใช้จ่ายชะลอ-ส่งออกฟื้นช้า

"ธนาคารพัฒนาเอเชีย" หั่นคาดการณ์จีดีพีปี 2024-2025 เหลือ 2.3% และ 2.7% ชี้การใช้จ่ายภาครัฐชะลอตัวและการฟื้นตัวของการส่งออกที่ช้ากว่าคาด ย้ำที่ไทยเป็นประเทศเดียวในกลุ่มเศรษฐกิจหลัก 6 ประเทศของอาเซียนที่ถูกปรับลดคาดการณ์ GDP ส่วนทางกับสิงคโปร์ที่ได้รับการปรับเพิ่ม

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานบทวิเคราะห์ Asian Development Outlook ฉบับล่าสุดที่เผยแพร่เมื่อวันพุธ วันนี้ (25 ก.ย.) ว่า อัตราเงินเฟ้อในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียซึ่งประกอบด้วยสมาชิกทั้งหมด 46 ประเทศของธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) หนึ่งในนั้นคือจีนกับอินเดียมีแนวโน้มอยู่ในระดับ 2.8% ในปีนี้

อัตราดังกล่าวชะลอตัวลงเล็กน้อยจากคาดการณ์เดิมของเอดีบีในเดือนก.ค.ที่ 2.9% รวมทั้งคาดการณ์ว่าในปีหน้าอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ที่ 2.9% ซึ่งลดลงมาจากคาดการณ์เดิมที่ 2.9%

"อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำลงเป็นเงื่อนไขสำหรับการผ่อนคลายนโยบายการเงินในที่สุด" ธนาคารกล่าวในรายงานแนวโน้ม

ทั้งนี้ รายงานฉบับระบุว่า เงินเฟ้อในหมวดพลังงานกลับสู่ระดับก่อนเกิดโควิด-19 ในขณะที่เงินเฟ้อในหมวดอาหาร "ยังคงสูงขึ้นมาเล็กน้อย" เมื่อเทียบกับระดับก่อนโควิด-19 แม้ว่าจะมีแนวโน้มลดลงเช่นกันโดยอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในภูมิภาคนี้ลดลงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว

อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อในปี 2024 ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขยายตัวเป็น 3.3% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 3.2% ในเดือนก.ค. โดยมีสาเหตุมาจากการลดค่าเงินในลาวและเมียนมาร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของลาวที่ 25% ซึ่งสูงที่สุดในบรรดาประเทศเศรษฐกิจกำลังพัฒนาของเอเชียทั้งหมด 46 แห่ง

ในขณะเดียวกันเอดีบียังคงคาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียไว้ที่ 5.0% ในปีนี้ โดยได้รับอานิสงส์จากความต้องการอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ADB หั่นเป้าจีดีพีไทยปีนี้ไม่ถึง 3% เหตุรัฐใช้จ่ายชะลอ-ส่งออกฟื้นช้า

ทั้งนี้ แนวโน้มเศรษฐกิจสำหรับกลุ่มประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตลอดปี 2024 ได้รับการปรับลดลงเหลือ 4.5% ซึ่งต่ำกว่าการคาดการณ์ก่อนหน้านี้ที่ 4.6% เล็กน้อย โดยมีสาเหตุมาจากการปรับลดการคาดการณ์ในเมียนมาร์ ไทย และติมอร์-เลสเต

ไทยเป็นประเทศเดียวที่ถูกหั่นคาดการณ์จีดีพี

ในบรรดาเศรษฐกิจหลักทั้ง 6 ประเทศของอาเซียน ประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เอดีบีหั่นคาดการณ์จีดีพี โดยมีสาเหตุมาจากการใช้จ่ายของรัฐบาลที่ชะลอตัวและการฟื้นตัวของการส่งออกที่อ่อนแอกว่าที่คาดการณ์ไว้ แนวโน้มการเติบโตของประเทศถูกปรับลดลงเหลือ 2.3% ในปี 2024 และ 2.7% ในปี 2025 ซึ่งทั้งสองปีลดลง 0.3% จากการคาดการณ์ก่อนหน้านี้

ในทางตรงกันข้าม การคาดการณ์จีดีพีสำหรับสิงคโปร์ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นเป็น 2.6% ในปีนี้ จากเดิม 2.4% โดยมีแรงขับเคลื่อนจากความต้องการสำหรับชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และบริการทางการเงินที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยรายงานระบุว่าอัตราการเติบโตของสิงโปร์มีแนวโน้มคงตัวที่ 2.6% ในปี 2025

นอกจากนี้ รายงานฉบับดังกล่าวยังเตือนว่า ยังมีความเสี่ยงในภูมิภาคนี้ตั้งแต่การเพิ่มขึ้นของแนวคิดการกีดกันทางการค้า (Protectionism) ไปจนถึงผลลัพธ์ของการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐซึ่งอาจนำไปสู่ "ผลกระทบด้านลบทั้งในด้านเศรษฐกิจจริงและด้านการเงิน" ของกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชีย นอกจากนี้ยังแสดงความกังวลเกี่ยวกับความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มสูงขึ้น และวิกฤติอสังหาริมทรัพย์ในจีน

อ้างอิง: Nikkei Asia