‘ยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น’ นับถอยหลัง 4 ปี เร่งปรับตัวรับ ‘อีวีจีน’

‘ยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น’ นับถอยหลัง 4 ปี  เร่งปรับตัวรับ ‘อีวีจีน’

'ไทยซัมมิท' เผยสื่อนอก ‘ยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น’ นับถอยหลัง 4 ปี เร่งปรับตัวรับ ‘อีวีจีน’ ที่กำลังเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานเต็มรูปแบบ กระทบค่ายรถสันดาปและซัพพลายเออร์ ตั้งแต่โช้คอัพไปจนถึงยางล้อรถยนต์

ตลาดยานยนต์โลกรวมถึงประเทศไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน โดยตลาดรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) แม้ปัจจุบันกำลังชะลอตัวตัวลง แต่ก็ถือว่าอยู่ในทิศทางที่เติบโตอย่างรวดเร็วและบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจาก “จีน” ก็เข้ามามีบทบาทสำคัญในการแข่งขัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานอ้างถึงข้อมูลจากมาร์คไลน์ส พบว่ายอดขายในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 แม้ค่าย “โตโยต้า มอเตอร์” จะยังคงเป็นผู้นำตลาดรถยนต์ในประเทศไทย ด้วยส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดถึง 38% แต่ยอดขายกลับลดลงถึง 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน นอกจากนี้ยอดขายของฮอนด้า นิสสัน และแบรนด์ญี่ปุ่นอีก 4 แบรนด์ก็ลดลงเช่นกัน แต่ยอดขายของ “บีวายดี” จากจีนกลับเพิ่มขึ้นถึง 32%

‘ยานยนต์ไทย-ญี่ปุ่น’ นับถอยหลัง 4 ปี  เร่งปรับตัวรับ ‘อีวีจีน’

"ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ" รองประธานอาวุโสกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เปิดเผยว่า ซัพพลายเออร์ไทยและค่ายรถญี่ปุ่นยังพอมีเวลาอีกประมาณ 4 ปี ในการปรับตัวรับมือการแข่งขันที่รุนแรงจาก “ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน”

ขณะนี้อุตสาหกรรมผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ จากการที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน เช่น บีวายดี เริ่มหันไปพึ่งพาซัพพลายเออร์ในประเทศมากขึ้น

นอกจากนี้ลูกค้ารายใหญ่จากญี่ปุ่นที่เคยเป็นกำลังสำคัญของอุตสาหกรรมก็เริ่มทยอยลดกำลังการผลิตหรือปิดโรงงานในประเทศไทย เช่น กรณีของ “ฮอนด้า มอเตอร์” ที่มีแผนจะปิดโรงงานในไทยปีหน้า ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนออร์เดอร์

ไทยซัมมิทเผยถึงการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อเอาตัวรอดในอุตสาหกรรมนี้ โดยไทยซัมมิทได้บรรลุข้อตกลงกับแบรนด์จีนหลายแห่งที่เผยว่าจะผลิตในประเทศไทย เช่น บีวายดีและ ฉางอาน ออโต้โมบิล ซึ่งบริษัทเหล่านี้มีโรงงานกระจายอยู่ทั่วโลกมากกว่า 7 ประเทศ รวมถึงประเทศจีนเอง ซึ่งการเข้าถึงลูกค้าชาวจีนนั้นไม่ใช่เรื่องยากสำหรับไทยซัมมิท

“ผู้ผลิตอุปกรณ์ดั้งเดิม (OEM) จากจีนกำลังพิจารณาที่จะนำซัพพลายเออร์จากจีนเข้ามาตั้งฐานการผลิตในประเทศไทย แต่จะไม่ใช่ในรุ่นแรกๆ ของการลงทุน นั่นหมายความว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในไทยมีเวลาเตรียมตัวประมาณ 4-8 ปี” ชนาพรรณ กล่าว

ชนาพรรณย้ำว่า ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไทยไม่ควรนิ่งนอนใจหรือรอการคุ้มครองจากภาครัฐ เพราะขณะนี้บริษัท OEM จากจีนกำลังเร่งขยายฐานการผลิตในไทย และกำลังอยู่ในระหว่างการประเมินราคาและเลือกซัพพลายเออร์ หากผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยพลาดโอกาสในการเป็นซัพพลายเออร์ในรุ่นแรก จะพลาดโอกาสอีก 4 ปี หลังจากนั้นการแข่งขันจะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ไทยซัมมิทระบุว่าเห็นสัญญาณบ่งชี้ถึงการเติบโตของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในตลาดจีนและสหรัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักที่ไทยซัมมิทได้ขยายธุรกิจไปให้บริการกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ เช่น เทสลา จึงมีแผนที่จะขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากการผลิตชิ้นส่วนขนาดใหญ่จะทำได้สะดวกและมีประสิทธิภาพมากกว่าในประเทศไทย

อีกทั้งยังสอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันที่ค่อนข้างซบเซา โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าการผลิตรถยนต์ในปีนี้จะลดลงเหลือ 1.7 ล้านคัน จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2 ล้านคันเมื่อต้นปี

สมพล ธนาดำรงศักดิ์ ประธานสมาคมผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ได้แสดงความกังวลต่อสถานการณ์การแข่งขันในอุตสาหกรรมว่าอาจไม่มีศักยภาพในการแข่งขันกับจีน

สถานการณ์ดังกล่าวทวีความน่ากังวลมากขึ้นเมื่อพิจารณาถึงนโยบายจูงใจของรัฐบาลไทยที่กำหนดให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนต้องผลิตรถยนต์ในจำนวนที่เท่ากับปริมาณที่นำเข้า ในขณะที่โรงงานกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งนโยบายนี้อาจทำให้ผู้ผลิตรถยนต์จีนเร่งขยายกำลังการผลิตและสร้างความกดดันต่อผู้ประกอบการไทยอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันตลาดรถยนต์ไฮบริดในไทยก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ผลิตชาวญี่ปุ่นและซัพพลายเออร์ชาวไทยยังคงอยู่ได้ โดยเฉพาะโตโยต้าและนิสสันที่มียอดขายรถยนต์ไฮบริดเพิ่มขึ้นถึง 66% ในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2567 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งสูงกว่ายอดขายรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเห็นได้ชัด

ภาคชิ้นส่วนญี่ปุ่นเร่งปรับตัว

การขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้าอย่างรวดเร็วจากค่ายจีน ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นซึ่งเน้นการผลิตและจำหน่าย “รถยนต์สันดาป” ยังไม่สามารถปรับตัวเข้าสู่ตลาดรถยนต์พลังงานใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในญี่ปุ่น ตั้งแต่ชิ้นส่วนโช้คอัพไปจนถึงยางล้อรถยนต์

ตามข้อมูลจากสมาคมอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์แห่งญี่ปุ่น (JAPIA) เผยว่าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจ โดยคิดเป็น 10.5% ของมูลค่าการผลิตทั้งหมดของประเทศ ซึ่งมากกว่าสัดส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ถึงเท่าตัว

พนักงานกว่า 666,000 คนทำงานในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่น ซึ่งมากกว่าพนักงานของบริษัทรถยนต์ยักษ์ใหญ่ อย่างฮอนด้าและนิสสันรวมกันถึง 3 เท่า ถือเป็นเดิมพันครั้งใหญ่และบริษัทอื่นๆ ในอุตสาหกรรม

ริวตะ โมริชิมะ ประธานสมาคมแบตเตอรี่เพื่อห่วงโซ่อุปทานของญี่ปุ่น (BASC) กำลังเร่งผลักดันให้บริษัทญี่ปุ่นหันมาให้ความสนใจกับธุรกิจแบตเตอรี่มากขึ้น โดยจัดสัมมนาและฝึกอบรมเพื่อช่วยให้บริษัทเหล่านี้ปรับตัวเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทที่เคยผลิตชิ้นส่วนสำหรับเครื่องยนต์สันดาปภายใน ซึ่งกำลังเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

โตเกียวโชโกะรีเสิร์ชพบว่า รถยนต์ไฟฟ้ามีชิ้นส่วนน้อยกว่ารถยนต์ทั่วไปถึงครึ่งหนึ่ง ส่งผลให้ความต้องการชิ้นส่วนแบบเดิมลดลงอย่างมาก ทำให้บริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์จำนวนมาก ซึ่งมักเป็นธุรกิจขนาดเล็กที่พึ่งพารายได้จากผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่เพียงไม่กี่ราย

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นให้การสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในการปรับตัวเข้าสู่ยุคของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการให้คำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ การสนับสนุนทางด้านการเงินผ่านโครงการ Mikata ของรัฐบาลญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม การนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์เข้าสู่ญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา JAPIA ระบุว่าเมื่อปีที่แล้ว การนำเข้ามีมูลค่ารวม 3.2 ล้านล้านเยน (ประมาณ 7.3 ล้านบาท ) ซึ่งเป็นการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

แม้จะเผชิญกับความท้าทาย อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ยังแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่ง โดย JAPIA รายงานว่ารายได้ของอุตสาหกรรมเติบโตขึ้น 12% ในปีงบประมาณล่าสุด ทำให้มีมูลค่าสูงถึง 30.93 ล้านล้านเยน และกำไรจากการดำเนินงานก็เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญถึง 38.7% สู่ระดับ 1.56 ล้านล้านเยน ซึ่งถือเป็นอัตรากำไรที่สูงที่สุดในรอบ 5 ปี