‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ถูกท้าทาย เทรนด์ ‘ใช้เงินไม่ยั้ง’ ราวโลกจะแตก พุ่งสูงในหมู่เจน Z และ Y

‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ถูกท้าทาย เทรนด์ ‘ใช้เงินไม่ยั้ง’ ราวโลกจะแตก พุ่งสูงในหมู่เจน Z และ Y

เทรนด์ ‘Doom Spending’ หรือการใช้จ่ายอย่างไม่ยั้งคิด กำลังพุ่งขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ซึ่งหันมาใช้จ่ายอย่างฟุ่มเฟือย เพื่อดับทุกข์จากความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ แต่สิ่งนี้อาจกำลังทำลายอนาคตทางการเงินของตัวเอง และนำไปสู่ปัญหาหนี้สินในระยะยาว

แนวคิด “อดเปรี้ยวไว้กินหวาน” กำลังถูกท้าทาย เมื่อหนุ่มสาวรุ่นใหม่บางส่วนได้หันไปใช้จ่ายเงินจำนวนมากกับการท่องเที่ยวหรูหรา สินค้าฟุ่มเฟือย และของแบรนด์เนมเพื่อซื้อความสุข แทนการออมเงิน โดยใช้จ่ายประหนึ่งว่าวันนี้โลกจะแตกแล้ว ซึ่งแนวโน้มใหม่นี้มีชื่อว่า “Doom Spending” ที่สำคัญคือ เทรนด์การใช้จ่ายแบบไม่คิดหน้าคิดหลังเช่นนี้ “กำลังพุ่งสูงขึ้น” ในกลุ่มคนเจน Z และ Y  

Psychology Today นิตยสารด้านจิตวิทยาของอเมริกา ได้เรียก “Doom Spending” ว่าเป็นพฤติกรรมที่คนหนึ่งซื้อของโดยไม่คิดอย่างมีสติ เพื่อปลอบใจตัวเอง เนื่องจากรู้สึกสิ้นหวังในเศรษฐกิจและอนาคตของตนเอง 

ในมุมมองของ อิลวา เบคสตรอม (Ylva Baeckström) ผู้บรรยายอาวุโสด้านการเงินที่ King's Business School กล่าวว่า “การกระทำนี้ทั้งไม่เป็นผลดีต่อสุขภาพ และเป็นการมองโลกในแง่ร้าย โดยเทรนด์นี้เกิดขึ้นเพราะคนรุ่นใหม่ใช้เวลากับออนไลน์อย่างต่อเนื่อง และรู้สึกเหมือนกำลังได้รับ 'ข่าวร้าย' อยู่ตลอดเวลา จนทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนโลกกำลังจะแตก”

เบคสตรอมกล่าวเพิ่มเติมว่า “คนรุ่นใหม่เหล่านี้กำลังแปลความรู้สึกที่ไม่ดีให้กลายเป็นนิสัยการใช้จ่ายที่ไม่ดี”

กังวลเศรษฐกิจ ผลักดันหนุ่มสาวใช้จ่ายเพื่อความสบายใจ

จากการสำรวจของ Intuit Credit Karma เกี่ยวกับชาวอเมริกันมากกว่า 1,000 คนในเดือนพฤศจิกายน 2023 พบว่า 96% ของชาวอเมริกันมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และมากกว่า 1 ใน 4 กำลังใช้จ่ายแบบ Doom Spending เพื่อรับมือกับความเครียด

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า สเตฟาเนีย ทรอนโคโซ เฟอร์นานเดซ (Stefania Troncoso Fernández) นักโฆษณาวัย 28 ปี ที่อาศัยอยู่ในโคลอมเบียและอาศัยอยู่กับพ่อแม่ของเธอเล่าว่า เธอเคยเป็นคนที่ใช้จ่ายอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังมาก่อน แต่ตอนนี้สามารถควบคุมการใช้จ่ายได้แล้ว อย่างไรก็ตาม เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อที่สูงและความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้เธอรู้สึกว่ายากที่จะหาเหตุผลในการเก็บออมเงิน

“ฉันรู้แน่ว่าราคาอาหารสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทุกวัน และในบ้านเราไม่สามารถกินเหมือนเมื่อหนึ่งปีที่แล้วได้ เพราะทุกอย่างแพงขึ้น” เฟอร์นานเดซกล่าว

เธอเล่าต่อว่า เคยใช้จ่ายเงินอย่างไม่วางแผนไปกับเสื้อผ้าและการเดินทาง แม้ว่าตอนนั้นเธอจะหาเงินได้น้อยกว่าตอนนี้ก็ตาม ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอรู้สึกว่าไม่สามารถซื้อบ้านได้ อีกทั้งเฟอร์นานเดซเสริมว่า เธอไม่ได้ใช้เงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังเพียงคนเดียว ‘ไม่ใช่แค่ฉันเท่านั้น แต่เป็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นภายในกลุ่มของฉัน’

‘อดเปรี้ยวไว้กินหวาน’ ถูกท้าทาย เทรนด์ ‘ใช้เงินไม่ยั้ง’ ราวโลกจะแตก พุ่งสูงในหมู่เจน Z และ Y - เศรษฐกิจฝืดเคือง กระตุ้นคนรุ่นใหม่หันมาใช้จ่ายกับของหรูหราและแบรนด์เนม เพื่อคลายกังวล (เครดิต: Freepik) -

ยุคนี้หากินยากกว่ารุ่นพ่อแม่?

สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับความเห็นผู้คนยุคนี้ คือ ตามผลสำรวจความมั่นคงทางการเงินระหว่างประเทศ Your Money ของสำนักข่าว CNBC ซึ่งดำเนินการโดย Survey Monkey โดยสอบถามผู้ใหญ่ทั่วโลก 4,342 คน พบว่ามีเพียง 36.5% ของผู้ใหญ่ทั่วโลกเท่านั้นที่รู้สึกว่าตนเองมีฐานะทางการเงินดีกว่าพ่อแม่ ขณะที่ 42.8% คิดว่าตนเองมีฐานะทางการเงิน “แย่กว่า” พ่อแม่ 

“คนรุ่นใหม่ที่เติบโตขึ้นในปัจจุบัน เป็นรุ่นแรกที่กำลังจะยากจนกว่าพ่อแม่ของพวกเขา โดยมีความรู้สึกว่า อาจจะไม่สามารถบรรลุสิ่งที่พ่อแม่เคยบรรลุได้” เบคสตรอมกล่าว 

เบคสตรอมเสริมว่า “การใช้จ่ายเงินอย่างไม่คิดหน้าคิดหลังได้สร้าง ‘ภาพลวง’ ว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แม้ในยามที่ทุกสิ่งดูเหมือนจะเกินควบคุม” 

“แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริง ๆ ก็คือ ทำให้คุณมีอำนาจควบคุมน้อยลงในอนาคต เพราะถ้าคุณเก็บเงินนั้นไว้และลงทุนในสิ่งเหล่านั้น คุณอาจสามารถซื้อบ้านได้”

ไดวิก โกเอล (Daivik Goel) ผู้ก่อตั้งสตาร์ทอัปวัย 25 ปี ที่อาศัยอยู่ในซิลิคอนแวลลีย์กล่าวว่า เขาเคยเป็นคนที่ใช้จ่ายอย่างไม่คิดอนาคตในช่วงที่ทำงานเป็นวิศวกรผลิตภัณฑ์ที่สตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพ โดยใช้ไปกับเสื้อผ้าแบรนด์เนม ผลิตภัณฑ์เทคโนโลยีล่าสุด และออกไปเที่ยวสังสรรค์ โดยเล่าว่าการใช้จ่ายแบบ Doom Spending นั้นพบเห็นได้ทั่วไปในย่านซิลิคอนแวลเลย์

โกเอลกล่าวว่า “ผู้คนจะซื้อรถใหม่หลายคัน และสาเหตุก็เพราะพวกเขารู้ว่าการออมเพื่อซื้อบ้านจะใช้เวลานานมาก ดังนั้นพวกเขาจึงใช้จ่ายกับสิ่งของอื่น ๆ ที่แตกต่างแทน”

นิสัยนี้เกิดขึ้นจากความรู้สึกไม่พอใจกับงานของเขา และแรงกดดันจากเพื่อน ‘นี่เป็นเพียงความรู้สึกทั้งหมดของการพยายามหลบหนี’

จะแก้นิสัย Doom Spending อย่างไร

สำหรับแนวทางลดนิสัยการใช้จ่ายด้วยอารมณ์เช่นนี้ ซาแมนธา โรเซนเบิร์ก (Samantha Rosenberg) ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการของ Belong แพลตฟอร์มสร้างความมั่งคั่งให้แนวคิดว่า ควรทำให้การใช้จ่ายแต่ละครั้งของเรา มีความรู้สึกจริงขึ้นและจ่ายออกยากขึ้น อย่างการช้อปปิ้งออนไลน์ได้ทำให้ใช้จ่ายออกง่าย เพราะเพียงคลิก และไม่ได้สัมผัสถึงตัวธนบัตรจริง ๆ ที่จ่ายไป การเปลี่ยนเป็นออกไปดูสินค้าด้วยตัวเองและหยิบธนบัตรออกมาแต่ละใบจ่ายแทน อาจช่วยลดการซื้อสินค้าโดยไม่ตั้งใจได้

“การเพิ่มจุดตัดสินใจเพิ่มเติม ไม่ว่าการเลือกซื้อร้านค้า การใช้เวลาเดินทางไปที่นั่น การประเมินสินค้าด้วยตัวเอง และการต้องยืนต่อคิวเพื่อซื้อ จะช่วยให้เราชะลอการจ่าย และคิดอย่างรอบคอบมากขึ้นก่อนซื้อของ” เธอกล่าว

นอกจากนี้ การตั้งค่าการแจ้งเตือนทางธนาคารบนมือถือจะสร้าง “ความเจ็บปวดเล็กน้อยเพิ่มเติม” เมื่อเห็นการอนุญาตธุรกรรมผ่านมา

โรเซนเบิร์กยังแนะนำให้กลับไปใช้เงินสด อาจเป็นไปได้ว่า วิธีการชำระเงินแบบไร้รอยต่อของ Apple Pay และ Google Pay เป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการใช้จ่ายโดยไม่คิด เพราะรวดเร็วและง่ายมาก

“วิธีชำระเงินที่ง่ายดายเช่นนี้ ช่วยหลีกเลี่ยงอารมณ์ที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการตัดสินใจในการซื้อ และยังกำจัดความเจ็บปวดในการใช้จ่าย”

ถ้าต้องการแก้นิสัยใช้เงินง่าย “ก็ควรเพิ่มความเจ็บปวดในการจ่ายเงินแต่ละครั้ง” โรเซนเบิร์กกล่าวทิ้งท้าย


อ้างอิง: cnbcsofi