รู้จัก ‘ชิเงรุ อิชิบะ’ นายกฯ ใหม่ญี่ปุ่น ผู้ฉุดหุ้นนิกเคอิร่วง 1,900 จุด
แทบไม่บ่อยครั้งนักที่การได้ผู้นำประเทศคนใหม่จะถือเป็นข่าวร้ายของตลาดหุ้น และถูกต้อนรับด้วยการเทขายอย่างถล่มทลายของนักลงทุนดังเช่นที่ปรากฏในประเทศ “ญี่ปุ่น” กับตลาดหุ้นที่ร่วงลงหนักถึงเกือบ 5% ในวันเดียว
เมื่อวานนี้ (30 ก.ย.) ดัชนีนิกเคอิ ตลาดหุ้นโตเกียว ปิดลบหนัก 1,910.01 จุด หรือ 4.8% ปิดที่ระดับ 37,919.55 จุด ในขณะที่ดัชนีโทปิกซ์ ปิดลบ 95.00 จุด หรือ 3.47% ปิดที่ 2,645.94 จุด นับเป็นวันที่หุ้นญี่ปุ่นร่วงหนักที่สุดเป็นวันที่ 3 ของปีนี้ จากปัจจัยค่าเงินเยนที่แข็งค่าขึ้นอย่างหนัก ต้อนรับชัยชนะของว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ “ชิเงรุ อิชิบะ” (Shigeru Ishiba)
อิชิบะ จะก้าวขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีใหม่ของญี่ปุ่นแทน ฟูมิโอะ คิชิดะ ภายหลังชนะการลงคะแนนเลือกหัวหน้าพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP) โดยเฉือนชนะตัวเก็งอย่าง ซานาเอะ ทาคาอิชิ รัฐมนตรีความมั่นคงทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น ที่เกือบจะขึ้นมาเป็นนายกฯ หญิงคนแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นแล้ว แต่ก็แพ้การโหวตที่ดูเหมือนว่าพรรคจะเหลือเพียง 2 ตัวเลือกหลักๆ คือ นายกฯ สายพิราบที่ตามรอยนโยบายเอาใจตลาดแบบ “อาเบะโนนิกส์” แต่เป็นผู้หญิง หรือนายกฯ สายเหยี่ยว
สายเหยี่ยวในที่นี้มาจากการที่อิชิบะมีนโยบายทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนว่า สนับสนุนการ “ขึ้นดอกเบี้ย” ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพื่อปรับนโยบายการเงินของประเทศไปสู่ “ภาวะปกติ” ตามที่ควรจะเป็น หลังจากที่ญี่ปุ่นอยู่ในภาวะไม่ปกติทางการเงินมาเป็นเวลาช้านานจากการใช้อัตราดอกเบี้ยติดลบ เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ติดหล่มภาวะเงินฝืดมาหลายสิบปี
ญี่ปุ่นแก้ปัญหาเงินฝืดได้ตั้งแต่ 1-2 ปีมานี้ จนนำไปสู่การขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งแรกในรอบ 17 ปี เมื่อเดือนมี.ค. 2567 และมีการขึ้นดอกเบี้ยอีกตามมาจนอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 0.25%
ทว่าปัญหาก็คือ แม้ว่า BOJ จะเคยส่งสัญญาณว่าควรจะต้องมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นในการประชุมครั้งสุดท้ายของปีนี้ คือวันที่ 18 - 19 ธ.ค. แต่เศรษฐกิจและภาคธุรกิจญี่ปุ่นที่คุ้นชินกับมาตรการผ่อนปรนมานานหลายทศวรรษ ยังไม่ต้องการการขึ้นดอกเบี้ยรอบใหม่ เนื่องจากค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างหนักในระยะหลังไปแตะระดับ 140 เยนต่อดอลลาร์ในเดือนนี้
แนวนโยบายของอิชิบะที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยและอาจรวมถึงการขึ้นภาษีนิติบุคคล จึงเกิดแรงกดดันหนักให้ค่าเงินเยนแข็งค่าขึ้นถึง 1.8% เมื่อเทียบดอลลาร์สหรัฐเมื่อวันศุกร์ที่อิชิบะชนะการเลือกหัวหน้าพรรคแอลดีพี และหุ้นญี่ปุ่นปิดลบหนักตามมาในวันจันทร์
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่าการเทขายอย่างหนักในตลาดหุ้นญี่ปุ่นอาจเป็นปฏิกิริยาแค่ช่วงสั้น เนื่องจากตลาดขึ้นไปรับข่าวล่วงหน้าก่อนหน้านี้ว่าทาคาอิชิจะเป็นผู้ชนะ และจะคงนโยบายเชิงผ่อนคลายต่อ เมื่อผลออกมาไม่เหมือนที่คาดไว้จึงเป็นเรื่องปกติที่หุ้นจะตก
“ภาวะนี้จะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราว นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นญี่ปุ่นเพราะคาดหวังเรื่องเงินเฟ้อ การขึ้นค่าแรง และการปฏิรูปตลาดด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องการผ่อนปรนของบีโอเจเพียงอย่างเดียว ผมคิดว่าหลังจากนี้ตลาดจะกลับไปโฟกัสที่เรื่องปัจจัยพื้นฐาน” โคเฮย์ โอนิชิ นักกลยุทธ์การลงทุนอาวุโสจากบริษัทหลักทรัพย์มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ มอร์แกน สแตนลีย์ ซีเคียวริตีส์ กล่าวกับบลูมเบิร์ก
นอกจากนี้ อิชิบะเองก็พอจะทราบปฏิกิริยาของตลาดและกล่าวมาตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 29 ก.ย. แล้วว่า นโยบายการเงินของประเทศยังจำเป็นต้องอยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลายต่อไป นับเป็นการส่งสัญญาณว่าญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องใช้อัตราดอกเบี้ยในระดับต่ำต่อไปเพื่อฟื้นเศรษฐกิจที่อ่อนแรงมานานหลายสิบปี
“เป็นเรื่องที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น ซึ่งมีหน้าที่ดูแลเสถียรภาพด้านราคา จะตัดสินใจต่อไปในขณะที่ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับรัฐบาล” อิชิบะกล่าวกับสถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเค ระหว่างตอบคำถามว่าบีโอเจจะขึ้นดอกเบี้ยต่อไปหรือไม่
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า อิชิบะอาจแต่งตั้งให้ “คัตสึโนบุ คาโตะ” เป็นรัฐมนตรีคลังคนต่อไปแทนที่ชุนอิจิ ซูซูกิ ซึ่งคาโตะนั้นมีแนวคิดสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจเชิงผ่อนปรนแบบอาเบะโนมิกส์ ซึ่งเป็นแนวนโยบายยุคอดีตนายกรัฐมนตรีชินโสะ อาเบะ ผู้ล่วงลับ แม้อิชิบะจะไม่เห็นด้วยกับแนวทางนี้มากนัก แต่ข่าวนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าเขามีแนวทางที่ดูผ่อนปรนมากกว่าจะชนกันในเชิงนโยบาย
ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ 27 ต.ค. นี้
อิชิบะ ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่น ประกาศในวันนี้ (30 ก.ย.) ว่า เขาจะยุบสภาผู้แทนราษฎร และจัดการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 27 ต.ค. ซึ่งจะถือเป็นบททดสอบสำคัญลำดับแรกๆ ในฐานะหัวหน้าพรรครัฐบาล หลังจากที่พรรคต้องเผชิญข่าวอื้อฉาวจนส่งผลกระทบต่อคะแนนนิยมของพรรคในหมู่ชาวญี่ปุ่น
สำนักข่าวเกียวโดรายงานว่า การเลือกตั้งทั่วไปต้องจัดขึ้นก่อนที่วาระปัจจุบันของสภาผู้แทนราษฎรจะสิ้นสุดลง ซึ่งอิชิบะกล่าวถึงวันเลือกตั้งว่า “ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งดี” เพื่อยืนยันถึงเสียงสนับสนุนจากประชาชนหลังจากที่เขาก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี
ทั้งนี้ อิชิบะเพิ่งชนะการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคแอลดีพีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และเตรียมรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นอย่างเป็นทางการในการประชุมสภานิติบัญญัติสมัยวิสามัญในวันนี้ (1 ต.ค.) โดยปัจจุบัน พรรคแอลดีพีและพรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคโคเมอิโตะ ครองเสียงข้างมากในทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา
สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเคระบุว่า การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จะเป็นบททดสอบสำคัญสำหรับพรรคแอลดีพี ซึ่งสูญเสียศรัทธาในหมู่ประชาชนชาวญี่ปุ่น เนื่องจากเรื่องอื้อฉาวเกี่ยวกับการได้มาซึ่งเงินทุนของพรรค รวมทั้งความเชื่อมั่นในตัวอิชิบะ ในฐานะนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคคนใหม่ที่จะแก้ไขปัญหานี้
โจทย์ท้าทายอยู่ที่เรื่อง ‘ต่างประเทศ’
ชิเงรุ อิชิบะ วัย 67 ปี เป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และรัฐมนตรีกระทรวงเกษตรฯ แม้จะเคยเป็นนายแบงก์มาก่อนที่จะเป็นนักการเมือง แต่สิ่งที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักกลับเป็นเรื่องความมั่นคง ในฐานะผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุนการจัดตั้งกรอบความร่วมมือการปกป้องตนเองในเอเชีย แบบเดียวกับองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เพื่อป้องกันตนเองจากภัยคุกคามในภูมิภาค
เขายังได้หยิบยกประเด็นต่างๆ ระหว่างการหาเสียงเลือกหัวหน้าพรรคแอลดีพีในช่วงที่ผ่านมา เช่น การเสริมสร้างขีดความสามารถด้านการป้องกันประเทศให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเรียกร้องให้ญี่ปุ่นพิจารณาข้อตกลงการแบ่งปันอาวุธนิวเคลียร์ โดยประเทศพันธมิตรจะมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับการใช้อาวุธนิวเคลียร์ของสหรัฐ
เว็บไซต์นิกเคอิเอเชียระบุว่า ว่าที่นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของญี่ปุ่นไม่มีเวลามากนัก และจะต้องเผชิญบททดสอบเรื่องนโยบายต่างประเทศตามมาทันทีในยุคที่ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนทวีความตึงเครียดขึ้น
อิชิบะจะเผชิญเวทีการประชุมใหญ่ 3 แห่งในปีนี้ ตั้งแต่การประชุมสุดยอดผู้นำเอเชียตะวันออก ซึ่งเป็นเวทีคู่ขนานกับการประชุมอาเซียนซัมมิท ที่สปป.ลาว วันที่ 9-11 ต.ค. นี้ ตามมาด้วยการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) ในวันที่ 15-16 พ.ย. และปิดท้ายที่การประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศจี 20 ในวันที่ 18-19 พ.ย.
ความท้าทายทางการทูตเรื่องแรกคือการรับมือกับ “จีน” หลังจากในยุคผู้นำคนก่อน นายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ได้พบปะกับประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” ของจีนเมื่อปลายปีที่แล้ว และตกลงจะสร้างความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์ที่เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองประเทศ และที่ผ่านมามีความคืบหน้าไปแล้วหลายเรื่อง เช่น จีนตกลงที่จะเจรจากลับมานำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่นอีกครั้ง หลังจากที่หยุดชะงักไปนานจากกรณีการปล่อยน้ำเสียที่โรงงานนิวเคลียร์ฟุกุชิมะ
ในด้านความมั่นคงนั้น หลังจากที่คิชิดะประกาศลาออกจากตำแหน่งเมื่อกลางเดือนส.ค. นิกเคอิระบุว่าจีนยังคงใช้มาตรการยั่วยุทางการทหารอย่างต่อเนื่อง ในช่วงปลายเดือนส.ค. เครื่องบินทหารจีนได้ละเมิดน่านฟ้าญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก และในวันที่ 18 ก.ย. เรือบรรทุกเครื่องบินลำหนึ่งได้เข้าสู่เขตน่านน้ำญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกเช่นกัน ในขณะที่จีนและรัสเซียยังมีการเดินเรือร่วมกันใกล้กับน่านน้ำของญี่ปุ่นด้วย
อิชิบะจะพบกับนายกรัฐมนตรี “หลี่ เฉียง” ของจีนระหว่างร่วมการประชุมที่ลาว และเป็นที่คาดว่าอาจจะได้พบกับประธานาธิบดีสีเป็นครั้งแรก ซึ่งคาดว่าผู้นำจีนจะร่วมการประชุมเอเปคที่เปรู และจี 20 ที่ประเทศบราซิลด้วย
ขณะเดียวกัน อิชิบะยังต้องกระชับความสัมพันธ์กับ “สหรัฐ” ในยุคผู้นำคนใหม่ ระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส หรืออดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ท่ามกลางการเลือกตั้งสหรัฐในวันที่ 5 พ.ย. นี้ด้วย โดยที่ผ่านมาญี่ปุ่นได้กระชับสัมพันธ์ด้วยการขยายความร่วมมือระหว่างกองกำลังป้องกันตนเองของญี่ปุ่นกับกองกำลังสหรัฐ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือวิกฤตการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในเอเชียตะวันออกแล้ว และคาดว่าอิชิบะจะเดินหน้าความร่วมมือด้านความมั่นคงนี้ต่อไปเช่นกัน