‘เมลาเนีย ทรัมป์’ หักสามีประกาศหนุน ‘ทำแท้งเสรี’
เมลาเนีย ทรัมป์ กลายเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งของพรรครีพับลิกันคนล่าสุดที่สนับสนุนสิทธิการทำแท้ง สวนทางจุดยืนสามี
ก่อนหน้า นางทรัมป์ มีอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งพรรครีพับลิกันอีกหลายคนที่ออกมาแสดงจุดยืนสนับสนุนสิทธิการทำแท้ง ซึ่งขัดแย้งกับทัศนคติของสามีพวกเธอ
ในคลิปวิดีโอสั้นๆ เพื่อโปรโมตหนังสือเล่มใหม่ของเธอ นางทรัมป์แสดงการสนับสนุน "เสรีภาพส่วนบุคคล" ของสตรี โดยอธิบายว่าเสรีภาพนี้เป็น “สิทธิขั้นพื้นฐานที่สตรีทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด"
การออกมาแสดงความเห็นดังกล่าว มีขึ้นหนึ่งวันหลังจากที่รายงานในหนังสือพิมพ์ระบุว่าเธอได้ตีพิมพ์ส่วนหนึ่งของบันทึกความทรงจำของเธอที่กำลังจะออกวางตลาดในเร็วๆ รายงานระบุว่าเธอมีจุดยืนที่ชัดเจนยิ่งขึ้นในการสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งของผู้หญิง
ท่าทีที่ชัดเจนของนางทรัมป์เกี่ยวกับประเด็นนี้ดูเหมือนจะขัดแย้งกับท่าทีของสามี อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งได้รับการกล่าวขานว่ามีส่วนช่วยคว่ำคดีโรกับเวด (Roe v Wade) ที่ส่งผลให้มีการตัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญในการทำแท้ง และให้เป็นไปตามกฎหมายของแต่มลรัฐแทน ว่าจะให้ทำแท้งได้หรือไม่
แต่การกระทำของนางทรัมป์ เป็นการเจริญรอยตามอดีตสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งแห่งพรรครีพับลิกันที่เห็นตรงกันว่าควรคุ้มครองการเข้าถึงการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย นับตั้งแต่มีการตัดสินคดี Roe v Wade ครั้งแรกในปี 1973
ในปี 1975 ขณะที่สามียังมีอำนาจในทำเนียบขาว สุภาพสตรีหมายเลขหนึ่ง นางเบ็ตตี้ ฟอร์ด กล่าวถึงคำตัดสินของศาลในคดีโร และเวดว่าเป็น “เป็นคำตัดสินที่ยิ่งใหญ่มาก"
นางแนนซี เรแกน รอจนกระทั่งสามีของเธอ ประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ออกจากตำแหน่งก่อนที่จะประกาศต่อสาธารณะว่าเธอ “เชื่อมั่นในทางเลือกของผู้หญิง” แต่ก่อนหน้านั้นมีรายงานว่าจุดยืนของเธอในประเด็นนี้เป็นที่รู้กันดีในทำเนียบขาว
นางบาร์บารา บุช ภริยาของประธานาธิบดี จอร์จ เอช ดับเบิลยู บุช และลูกสะใภ้ นางลอร่า บุช ภริยาของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ก็มีทัศนคติคล้ายกัน โดยได้เปิดเผยจุดยืนของพวกเธอในประเด็นนี้หลังจากสามีของพวกเธอหมดอำนาจ และออกจากทำเนียบขาวแล้ว
“ฉันคิดว่าเป็นเรื่องสำคัญที่การทำแท้งยังเป็นเรื่องที่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะฉันคิดว่ามันสำคัญสำหรับผู้คน ด้วยเหตุผลทางการแพทย์ และเหตุผลอื่นๆ” นางลอร่า บุช กล่าวในการสัมภาษณ์เมื่อปี 2010 เพื่อโปรโมตบันทึกความทรงจำของเธอ
แต่วิธีการแสดงออกของนางทรัมป์นั้นแตกต่างออกไป
ในวิดีโอขาวดำที่โพสต์บนบัญชี X ของเธอเมื่อวันพฤหัสบดี (3 ต.ค.67) ตามเวลาท้องถิ่น นางทรัมป์ กล่าวว่า “ไม่มีช่องทางสำหรับการประนีประนอมเมื่อพูดถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้หญิงทุกคนมีมาตั้งแต่เกิด นั่นก็คือ เสรีภาพส่วนบุคคล”
“ร่างกายของฉัน ทางเลือกของฉัน มีความหมายอย่างไรกันแน่” นางทรัมป์ กล่าวต่อ
วิดีโอนี้เผยแพร่ออกมาหนึ่งวันหลังจากที่หนังสือพิมพ์ The Guardian เผยแพร่ข้อความบางส่วนจากหนังสือเล่มใหม่ของเธอชื่อ “Melania” ซึ่งมีกำหนดวางจำหน่ายในวันที่ 8 ตุลาคม
ในข้อความที่อ้างโดย The Guardian เธอเขียนว่า “สิ่งสำคัญคือ ต้องรับประกันว่าผู้หญิงจะมีอำนาจตัดสินใจเองว่าต้องการมีลูกหรือไม่ โดยยึดตามความเชื่อของตนเอง โดยปราศจากการแทรกแซงหรือแรงกดดันจากรัฐบาล”
“เหตุใดบุคคลอื่นนอกจากผู้หญิงจึงมีอำนาจกำหนดสิ่งที่เธอทำกับร่างกายของตัวเองได้ สิทธิขั้นพื้นฐานของผู้หญิงในการมีเสรีภาพส่วนบุคคลในชีวิตของตนเองทำให้เธอมีอำนาจในการยุติการตั้งครรภ์ได้หากต้องการ” เธอกล่าวต่อ
การจำกัดสิทธิของผู้หญิงในการเลือกที่จะยุติการตั้งครรภ์ที่ไม่ต้องการหรือไม่นั้นก็เหมือนกับการปฏิเสธการควบคุมร่างกายของเธอเอง
“ฉันเชื่อแบบนี้มาตลอดช่วงชีวิตผู้ใหญ่ของฉัน”
ด้านนางสาว เคท แอนเดอร์เซน บราวเวอร์ นักข่าวและผู้เขียนหนังสือ First Women กล่าวว่าเธอ “ตกใจ” กับความคิดเห็นดังกล่าว
“ฉันตกใจมาก จนอยากตรวจสอบว่ามันเป็นเรื่องจริงหรือไม่” เธอกล่าว “นางทรัมป์เห็นด้วยกับสามีอย่างมากมาโดยตลอด แล้วเธอทนใช้เวลาหลายปีดูเขาทำลายสิ่งที่เธอดูเหมือนจะแคร์ได้อย่างไร”
นางบราวเวอร์ กล่าวว่า นางทรัมป์ค่อนข้างจะแตกต่างมากกับสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งคนอื่นๆ ความคิดเห็นของนางทรัมป์ดู “ขัดแย้งโดยสิ้นเชิง” กับทัศนคติของสามีเธอในประเด็นนี้
และเธอเป็นสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งเพียงคนเดียวที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ที่แสดงจุดยืนเกี่ยวกับการทำแท้งในขณะที่สามีของเธอกำลังรณรงค์หาเสียงเพื่อเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอีกรอบ
อันที่จริงแล้ว จังหวะเวลาของการแสดงความคิดเห็นของนางทรัมป์ชี้ให้เห็นถึงมุมมองทางการเมืองที่อาจจะเปลี่ยนแปลงไป นางสาวบราวเวอร์กล่าว
“ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ที่การกระทำดังกล่าวจะออกมาโดยตั้งใจก่อนการเลือกตั้ง เพราะอาจดึงดูดใจผู้มีสิทธิเลือกตั้งในรัฐที่ยังไม่ตัดสินใจลงคะแนนเสียงให้ใคร ซึ่งไม่พอใจกับคำวินิจฉัยศาลฎีกาที่คว่ำคำตัดสินคดี Roe v Wade” เธอกล่าว “บางทีพวกเขาอาจมองว่านี่เป็นสัญญาณว่า [ทรัมป์] อาจกำลังมีท่าทีอ่อนลงต่อการคัดค้านการทำแท้ง”
แต่นักกลยุทธ์การเสียงของพรรครีพับลิกัน รินา ชาห์ เห็นต่างออกไป และกล่าวว่า แนวคิดที่ว่านางทรัมป์พยายามช่วยเหลือสามีของเธอนั้น “ไม่สอดคล้องกับเมลาเนียที่เรารู้จัก”
“ณ จุดนี้ของเกม ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และเธอก็รู้เรื่องนั้น” นางสาวชาห์ กล่าว “มีการลงคะแนนเลือกตั้งล่วงหน้าแล้วในบางพื้นที่แล้ว มันสายเกินไปแล้ว”
การเข้าถึงการทำแท้งเป็นประเด็นสำคัญในการเลือกตั้งเดือนหน้าปี 2024 นี้ และถือเป็นจุดอ่อนของพรรครีพับลิกันซึ่งพยายามอย่างหนักเพื่อดึงดูดฐานเสียงอนุรักษนิยมที่คัดค้านการทำแท้ง แต่ในขณะที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่สนับสนุนการทำแท้ง
ตลอดการรณรงค์หาเสียงปี 2024 จุดยืนของโดนัลด์ ทรัมป์ในประเด็นดังกล่าวขึ้นๆ ลงๆ เมื่อต้นสัปดาห์นี้ ทรัมป์ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันกล่าวเป็นครั้งแรกว่า เขาจะยับยั้งกฎหมายที่ห้ามการทำแท้งทั่วประเทศ ซึ่งตามความเป็นจริงแล้วไม่น่าจะเป็นไปได้ที่กฎหมายดังกล่าวจะผ่านการเห็นชอบจากรัฐสภา
รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส ผู้ได้รับการเสนอชื่อชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคเดโมแครต พยายามใช้จุดยืนของทรัมป์เพื่อดึงคะแนนเสียงเพิ่มให้กับเธอเอง
เธอมักจะกล่าวหา ทรัมป์ว่าเป็นภัยคุกคามต่ออำนาจตัดสินใจของสตรีเนื่องจากกรณีการคว่ำคำตัดสินคดี Roe v Wade ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากที่เขาแต่งตั้งผู้พิพากษาเสียงข้างมากที่มาจากสายอนุรักษนิยมให้ดำรงตำแหน่งในศาลฎีกา
“น่าเศร้าสำหรับผู้หญิงทั่วอเมริกาที่สามีของนางทรัมป์ไม่เห็นด้วยกับเธออย่างหนักแน่น และเป็นสาเหตุให้ผู้หญิงอเมริกันมากกว่าหนึ่งในสามคนต้องใช้ชีวิตอยู่ภายใต้กฎหมายห้ามทำแท้งของทรัมป์ ซึ่งเป็นการคุกคามสุขภาพ เสรีภาพ และชีวิตของพวกเธอ” ซาราฟินา ชิติกา โฆษกทีมรณรงค์หาเสียงของแฮร์ริส-วอลซ์ กล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์