‘จีน‘ ทดสอบ ’หยวนดิจิทัล‘ ข้ามพรมแดน ร่วมมือไทย-พันธมิตร ใช้บล็อกเชนทำธุรกรรม

‘จีน‘ ทดสอบ ’หยวนดิจิทัล‘ ข้ามพรมแดน ร่วมมือไทย-พันธมิตร ใช้บล็อกเชนทำธุรกรรม

‘จีน‘ เดินหน้าทดสอบ ’หยวนดิจิทัล‘ ข้ามพรมแดน ร่วมมือ ’ไทย‘ และพันธมิตร ใช้บล็อกเชนทำธุรกรรม ประหยัดทั้งเวลา-ต้นทุน สู่ผู้นำเทคโนโลยีในอนาคต

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า ธนาคารกลาง “จีน” (PBOC) เผยว่าได้เริ่มทดลองการชำระเงินข้ามพรมแดนโดยใช้ “หยวนดิจิทัล“ สกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) ร่วมกับพันธมิตรอย่าง ซาอุดีอาระเบีย ฮ่องกง ไทย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมไปถึงองค์กรระหว่างประเทศ เช่น กองทุนการเงินระหว่างประเทศ 

PBOC เผยว่าปัจจุบัน CBDC ใช้เทคโนโลยีบล็อคเชนในการบันทึกธุรกรรม ซึ่งทำให้สามารถชำระเงินข้ามพรมแดนได้ภายในไม่กี่วินาทีและลดต้นทุนได้มากถึง 50% 

ปัจจุบัน การโอนเงินระหว่างประเทศส่วนใหญ่มักใช้ระบบ SWIFT ซึ่งต้องผ่านธนาคารตัวกลาง ทำให้การทำธุรกรรมใช้เวลานานหลายวันถึงหนึ่งสัปดาห์ ทั้งนี้การใช้ CBDC จะช่วยเสริมการทำธุรกรรมที่ไม่ใช่เงินดอลลาร์และลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์ของจีน

ความก้าวหน้าของจีนในด้านสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (CBDC) กำลังกระตุ้นให้ประเทศชั้นนำอื่นๆ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรปเร่งพัฒนาเทคโนโลยีนี้เช่นกัน โดยมีการประกาศร่วมกันในเดือนเมษายนเพื่อทดลองใช้ระบบชำระเงิน CBDC ร่วมกับภาคเอกชน 

นาโอกิ สึกิโอกะ จาก Mizuho Research & Technologies มองว่า จีนมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้นำในการกำหนดมาตรฐานและเทคโนโลยีใหม่สำหรับธุรกรรมในอนาคต

 PBOC เริ่มศึกษาและพัฒนาระบบเงินหยวนดิจิทัลตั้งแต่ปี 2557 โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อใช้ในการชำระเงินในชีวิตประจำวัน เช่น การซื้อของที่ร้านค้าหรือร้านอาหารผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ

โครงการนำร่องครั้งแรกเริ่มต้นที่เมืองเซินเจิ้นในปี 2563 และขยายไปยังหลายพื้นที่ทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีการนำเงินหยวนดิจิทัลไปใช้จ่ายในหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสินค้า การชำระค่าอาหาร หรือแม้แต่การจ่ายเงินเดือนและภาษี

จากข้อมูลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมิถุนายน ธุรกรรมเงินหยวนดิจิทัลมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านหยวนใน  17 จังหวัด สะท้อนให้เห็นถึงความก้าวหน้าและศักยภาพของสกุลเงินดิจิทัลชนิดนี้ในการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของจีน

หนึ่งในอุปสรรคสำคัญของการนำหยวนดิจิทัลมาใช้งานอย่างแพร่หลายคือ ผู้บริโภคชาวจีนจำนวนมากยังไม่เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนระหว่างหยวนดิจิทัลกับแอปพลิเคชันชำระเงินยอดนิยมอย่าง WeChat Pay และ Alipay ที่ใช้งานอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่าธุรกรรมการชำระเงินในจีนปัจจุบันส่วนใหญ่เป็นแบบไร้เงินสดอยู่แล้ว