สื่อนอกตีข่าว ไทย-กัมพูชา ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน หวังปลดล็อก 'ขุมพลังงาน'

สื่อนอกตีข่าว ไทย-กัมพูชา ฟื้นเจรจาพื้นที่ทับซ้อน หวังปลดล็อก 'ขุมพลังงาน'

สื่อนอกเผย รัฐบาลไทยชุดใหม่เตรียมฟื้นการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ไทย-กัมพูชา หวังปลดล็อกขุมทรัพย์ 'น้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติ' กว่า 3 แสนล้านดอลลาร์

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานในวันนี้ว่า รัฐบาลไทยชุดใหม่จะเริ่มการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล (OCA) ระหว่างไทยกับประเทศกัมพูชาอีกครั้ง เพื่อสำรวจแหล่งน้ำมัน และก๊าซนอกชายฝั่งที่คาดว่าจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ (กว่า 10 ล้านล้านบาท) ซึ่งทั้งสองประเทศมีข้อพิพาทกันมาตั้งแต่ทศวรรษ 1970

นส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนกันยายน กล่าวว่า การสำรวจร่วมกันเป็นหนึ่งใน 10 เป้าหมายเร่งด่วนสูงสุดของรัฐบาล เนื่องจากประเทศไทยต้องการเพิ่มปริมาณพลังงานสำรองที่กำลังลดลง รวมถึงควบคุมเรื่องค่าไฟ และการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศที่พุ่งสูงขึ้น

บลูมเบิร์กระบุว่า ประเทศไทย และกัมพูชาเห็นพ้องกันเมื่อต้นปี 2567 นี้ว่า จะเจรจาหารือกันเพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลขนาด 26,000 ตารางกิโลเมตรได้อย่างยุติธรรม ซึ่งคาดว่าพื้นที่นี้จะมี "ก๊าซธรรมชาติ" มากถึงประมาณ 10 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และ "น้ำมันดิบ" มากถึง 300 ล้านบาร์เรล 

ทว่ากระบวนการนี้ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทั้งสองประเทศต่างก็มีประวัติความขัดแย้งทางการทูต และความอ่อนไหวในเรื่องอำนาจอธิปไตย ขณะที่การเจรจาหยุดชะงักมาตั้งแต่ปี 2544 เมื่อทั้งสองประเทศตกลงกันว่าจะต้องมีการหารือเพื่อตกลงเรื่องการอ้างสิทธิในพื้นที่ OCA ไปพร้อมๆ กับการพัฒนาแหล่งทรัพยากรร่วมกัน
 

อย่างไรก็ตาม บางฝ่ายในประเทศไทยคาดหวังว่า สถานการณ์ความเร่งด่วนของการผลิต และทรัพยากรก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลง รวมถึงเทรนด์การลดใช้พลังงานฟอสซิลของโลก จะช่วยให้การเจรจามีความก้าวหน้าในที่สุด "โดยจะเปิดทางให้ทั้งสองประเทศสามารถเริ่มการสำรวจร่วมกันได้ก่อนตั้งแต่ตอนนี้ และแก้ไขข้อพิพาททับซ้อนทางทะเลกันในภายหลังแทน"

"เราไม่จำเป็นต้องแก้ไขความเห็นที่แตกต่างกันเกี่ยวกับเขตแดน เราเพียงแค่ต้องพูดคุยกันแบบเพื่อนบ้าน

และพยายามใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์" นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกล่าวในรัฐสภาเมื่อเดือนที่แล้ว

"นั่นจะช่วยเพิ่มความมั่นคงทางพลังงาน และยังช่วยลดค่าสาธารณูปโภคลงด้วย"

ทางด้านเพ็ญ โบนา โฆษกรัฐบาลกัมพูชา ออกแถลงการณ์ต่อรายงานข่าวนี้ว่า กัมพูชายังคงมุ่งมั่นที่จะหารือประเด็นนี้กับไทย

“หากรัฐบาลใหม่ของไทยพร้อม เราก็ยินดีที่จะดำเนินการเจรจาต่อไป” 

ก๊าซธรรมชาติในไทยร่อยหรอหนัก

รายงานระบุว่าปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติเป็นพลังงานที่รองรับความต้องการใช้พลังงานในประเทศไทยมากถึง 60% โดยอุปทานภายในประเทศคิดเป็นมากกว่าครึ่งหนึ่ง และด้วยอัตราการบริโภคในปัจจุบัน ก๊าซธรรมชาติอาจหมดลงภายในอีก 5-10 ปีข้างหน้า 

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับความสามารถของไทยในการตอบสนองความต้องการใช้พลังงานที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศไทยซึ่งเป็นทั้งฮับยานยนต์ และฮับการท่องเที่ยวขนาดใหญ่ในภูมิภาค กำลังพยายามดึงดูดการลงทุน "ดาต้าเซนเตอร์" ซึ่งต้องใช้พลังงานมหาศาล

"ถ้าเราไม่ทำอะไรเลย เราจะต้องนำเข้าก๊าซ LNG เพิ่มขึ้นอีกมาก เพื่อตอบสนองความต้องการในการผลิตไฟฟ้า" คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียม และพลังงานแห่งประเทศไทยกล่าว และคาดว่าแหล่งพลังงานสำรองที่ยังไม่ได้สำรวจจะช่วยขยายอุปทานก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งของประเทศไทยไปได้อย่างน้อย 20 ปี 

การแบ่งรายได้ในพื้นที่ทับซ้อน

ทั้งไทย และกัมพูชาต่างก็มีรูปแบบการแบ่งรายได้ในพื้นที่ทับซ้อน OCA ซึ่งมีทรัพยากรมูลค่าอย่างน้อย 10 ล้านล้านบาท ตามคำกล่าวของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน 

หากการเจรจาประสบความสำเร็จคาดว่าจะส่งผลดีต่อบริษัทพลังงานต่างๆ เช่น "เชฟรอน" (Chevron) "เชลล์" (Shell) และ "ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม" (ปตท.สผ.) ของไทย ซึ่งได้รับสัมปทานในช่วงทศวรรษ 1970 แต่ยังไม่สามารถดำเนินการสำรวจใดๆ ในพื้นที่พิพาทได้ ในขณะที่บริษัทที่ได้สิทธิสัมปทานในกัมพูชา คือบริษัท โคโนโคฟิลลิปส์ (ConocoPhillips) จากสหรัฐ และโททาลเอ็นเนอจีส์ (TotalEnergies) จากฝรั่งเศส

บลูมเบิร์ก ระบุว่ากัมพูชามีเหตุผลน้อยกว่าที่จะรีบเข้าสู่โต๊ะเจรจา แม้ว่าจะต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงจากต่างประเทศเกือบทั้งหมดก็ตาม ซึ่งต่างจากไทย โดยกัมพูชาขาดอุตสาหกรรมน้ำมัน และก๊าซในประเทศที่แข็งแกร่ง และน่าจะยังคงต้องพึ่งพาประเทศเพื่อนบ้านในการนำเข้าพลังงาน และการจัดหาเชื้อเพลิงต่อไป

"หากไม่คิดเรื่องรูปแบบการแบ่งปันรายได้ ผู้ผลิต และผู้รับสัมปทานของไทยจะต้องรับภาระงานส่วนใหญ่ในพื้นที่ทับซ้อน และบริษัทของไทยจะเป็นผู้ได้รับผลประโยชน์สูงสุด" บริษัทที่ปรึกษา CLC Asia ในกรุงเทพฯ ระบุในรายงานเมื่อปีที่แล้ว

ประเทศไทยเคยมีตัวอย่างการเจรจาตกลงเรื่องพื้นที่ทับซ้อนมาก่อนแล้ว โดยในปี 2522 ประเทศไทยได้ตกลงกับ "มาเลเซีย" เรื่องเขตแดนในอ่าวไทยตอนล่าง และได้กำหนดพื้นที่ขนาดค่อนข้างเล็กเพียง 7,250 ตารางกิโลเมตรสำหรับโครงการพัฒนาร่วมกัน แต่สำหรับกรณีพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับกัมพูชานั้น โฆษกรัฐบาลไทยกล่าวว่า การเจรจาเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญของนายกรัฐมนตรี แต่ปฏิเสธที่จะระบุกรอบเวลาที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม นักวิจารณ์บางรายมองว่าประเทศไทยควรพยายามแก้ไขประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิทับซ้อนให้ชัดเจนก่อน เหมือนที่เคยทำกับมาเลเซีย ก่อนที่จะหารือถึงผลประโยชน์ร่วมกันของการสำรวจเชิงพาณิชย์

นายสมชาย แสวงการ อดีตสมาชิกวุฒิสภากล่าวว่า "หากดำเนินการตามนั้น การเจรจาจะไม่จบลง แต่เป็นรัฐบาลต่างหากที่จะจบสิ้น" และเสริมว่าการประนีประนอมใดๆ เกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยของไทยจะจุดชนวนให้เกิดการต่อต้านรัฐบาลจากสาธารณชน 

"เราต้องเจรจาเรื่องการกำหนดเขตแดนก่อน นั่นเป็นวิธีเดียวเท่านั้น"

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์