‘เทสลา’ จ่อเปิดตัว Cybercabs ธุรกิจ 'แท็กซี่ไร้คนขับ' ที่ยังขาดทุนมหาศาล
‘เทสลา’ ของ ‘อีลอน มักส์’ เตรียมเปิดตัว Cybercabs ‘แท็กซี่ไร้คนขับ’ ราคาต่ำ 9.9 แสน แต่ธุรกิจนี้ยังไม่มีใครทำกำไรได้ แถมยังขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ ในตลาดคู่แข่งดุเดือดและกฏระเบียบซับซ้อน จับตาแผนธุรกิจชัดเจนแค่ไหน
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “เทสล่า” (Tesla) ของ “อีลอน มักส์” เตรียมเปิดตัว “แท็กซี่ไร้คนขับ” ที่ชื่อว่า “ไซเบอร์แคป” (Cybercabs) ที่หลายคนรอคอยมานาน โดยระบุว่าการผลิตอาจเริ่มต้นขึ้นในปี 2569 และจะมีราคาต่ำกว่า 30,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 9.9 แสนบาท
ขณะเดียวกัน นักลงทุนและนักวิเคราะห์ได้ชี้ให้เห็นความท้าทายด้านเทคโนโลยีและพยายามควบคุมความคาดหวัง เพราะ คำถามหลัก ๆ ที่ทุกคนอยากรู้ในการจัดงานครั้งนี้คือ เทสลาจะสามารถผลิตแท็กซี่ไร้คนขับได้เร็วแค่ไหน ต้นทุนในการผลิตสูงแค่ไหน และที่สำคัญที่สุด บริษัทจะทำเงินได้มากน้อยเพียงใดจากธุรกิจนี้
Cybercabs กองยานพาหนะแท็กซี่ไร้คนขับที่ผู้โดยสารสามารถเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันได้ นอกจากนี้ เจ้าของรถเทสลายังสามารถสร้างรายได้เสริมได้ง่ายๆ เพียงแค่ลงทะเบียนรถของตนเข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่ง Cybercabs จะเป็นเหมือน Uber หรือ Grab เวอร์ชั่นอัตโนมัติ โดยผู้โดยสารสามารถเรียกรถผ่านแอปและรถจะขับเคลื่อนไปรับและส่งยังจุดหมายปลายทางโดยอัตโนมัติโดยไม่ต้องมีคนขับ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการให้บริการและเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้โดยสาร
การเปิดตัวรถแท็กซี่ไร้คนขับอยู่ในงาน "We, Robot" ที่จะจัดขึ้นในวันพฤหัสบดีนี้ ณ สตูดิโอ Warner Bros กำลังเป็นที่จับตามองของเหล่าผู้รักเทคโนโลยีทั่วโลก ชื่อของงานที่ดูเหมือนจะอ้างอิงถึงเรื่องสั้นวิทยาศาสตร์นิยายชื่อดัง "I, Robot" ของ ไอแซค อาซิมอฟ นั้นบ่งบอกเป็นนัยถึงวิสัยทัศน์ที่ยิ่งใหญ่ของเทสลาในการก้าวเข้าสู่ยุคของหุ่นยนต์ปัญญาประดิษฐ์
นอกจากนี้ ผู้เข้าร่วมงานยังให้ความสนใจกับความคืบหน้าของซอฟต์แวร์ระบบขับขี่กึ่งอัตโนมัติ Full Self-Driving (FSD) ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของเทคโนโลยีรถยนต์ไร้คนขับของเทสลา
อย่างไรก็ดี คาดว่ามัสก์อาจเปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่ราคาเข้าถึงได้มากขึ้น รวมถึงอัปเดตความคืบหน้าของหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์ Optimus ซึ่งเป็นอีกหนึ่งโครงการที่น่าจับตามองของเทสลา
ธุรกิจที่ทำแล้ว ‘ขาดทุน’ มหาศาล
ย้อนไปในปี 2562 มัสก์เคยมั่นใจว่าเทสลาจะมีแท็กซี่ไร้คนขับพร้อมใช้งานในปีต่อมา แต่แผนนี้ก็ถูกเลื่อนออกไป จนถึงปีนี้เทสลาได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนายานพาหนะรุ่นใหม่ โดยเลิกแผนการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กราคาประหยัด เพื่อมุ่งเน้นไปที่เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้น เช่น รถยนต์ไร้คนขับ
แม้ว่าเทสลาเคยเป็นผู้นำในตลาดรถยนต์ไฟฟ้า แต่ปัจจุบันกำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายใหม่ ทำให้ยอดขายของเทสลามีความเสี่ยงที่จะลดลง เนื่องจากแรงจูงใจในการซื้อไม่สามารถดึงดูดลูกค้าได้เพียงพอสำหรับรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นเก่า รวมทั้งการลดราคาขายอย่างรุนแรงส่งผลกระทบต่อกำไรขั้นต้น
นักวิเคราะห์มองว่า มัสก์จำเป็นต้องแสดงต้นแบบและให้แผนโดยละเอียดว่าเทสล่าจะสามารถแซงหน้าคู่แข่งอย่าง Waymo ของ Alphabet ซึ่งดำเนินการแท็กซี่ไร้คนขับที่รับผู้โดยสารที่จ่ายเงินในเมืองต่างๆ ของสหรัฐฯได้อย่างไร และสามารถรักษาอัตราการเติบโตอย่างรวดเร็วเหมืนอในหลายไตรมาสที่ผ่านมาได้หรือไม่
ตลาดแท็กซี่ไร้คนขับเต็มไปด้วยความท้าทาย ทั้งเทคโนโลยีที่ยังคงพัฒนาอยู่และกฎระเบียบที่เข้มงวด ทำให้หลายบริษัทต้องเผชิญกับความสูญเสียมหาศาล ขาดทุนหลายพันล้านดอลลาร์ หรือบางรายถึงกับต้องปิดตัวลงไป แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีบริษัทใหญ่ๆ อย่าง Cruise ของ General Motors และ Zoox ของ Amazon ที่ยังคงเดินหน้าลงทุนในธุรกิจนี้ รวมถึงบริษัทสัญชาติจีนอย่าง WeRide ที่เข้ามาร่วมแข่งขันในตลาดนี้ด้วย
อีลอน มัสก์เลือกที่จะพึ่งพากล้องและปัญญาประดิษฐ์เพียงอย่างเดียว เพื่อลดต้นทุนในการผลิต แตกต่างจากบริษัทคู่แข่งที่ใช้เทคโนโลยี LiDAR ราคาแพงในการพัฒนาระบบขับขี่อัตโนมัติ (FSD) ทำให้การตัดสินใจเลือกใช้เทคโนโลยีของมัสก์ ที่ผู้ขับขี่คอยจับตาดูอยู่ตลอดเวลา และเกิดอุบัติเหตุร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับระบบนี้มาแล้วอย่างน้อยสองครั้ง ทำให้ FSD ของเทสลาตกเป็นเป้าสายตาของหน่วยงานกำกับดูแลและกฎหมาย
อ้างอิง reuter