วิเคราะห์สาเหตุ ทำไม 'เนทันยาฮู' ไม่ยุติสงคราม แม้สังหารผู้นำฮามาสไปแล้ว

วิเคราะห์สาเหตุ ทำไม 'เนทันยาฮู' ไม่ยุติสงคราม  แม้สังหารผู้นำฮามาสไปแล้ว

นักวิเคราะห์มอง อิสราเอลไม่ยุติสงครามในกาซาเพราะ "เนทันยาฮู" นายกฯอิสราเอลกลัวสูญเสียอำนาจ ทำให้อิสราเอลตกอยู่ในวังวนแห่งความขัดแย้ง ขณะที่การต่อต้านจากชาวปาเลสไตน์จะยังคงมีอยู่ต่อไปในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง แม้ฮามาสถูกอิสราเอลกำจัดจนสิ้นซากก็ตาม

การสังหารผู้นำฮามาส ของ อิสราเอล เมื่อสัปดาห์ก่อน ทำให้บรรดานักวิเคราะห์ตะวันตกมีความหวังมากขึ้นว่า จะเปิดโอกาสให้ สงครามกาซา ยุติลงหรือยับยั้งไม่ให้ความขัดแย้ง อิสราเอล-ปาเลสไตน์ ขยายวงกว้างมากขึ้น

แต่นักวิเคราะห์หลายคนเผยกับอัลจาซีราว่า เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล อาจพยายามหาข้ออ้างอื่น ๆ เพื่อให้ประเทศอยู่ในภาวะสงครามเพื่อผลประโยชน์ส่วนตน สานต่อความฝันขยายดินแดนของอิสราเอลด้วยการขับไล่ปาเลสไตน์ และรักษาการยึดครองดินแดนต่อไปอย่างไม่มีกำหนด

‘เนทันยาฮู’ กลัวเสียอำนาจ

อัลจาซีรา ระบุว่า เนทันยาฮูกลัวสูญเสียอำนาจเนื่องจากมีความเป็นไปได้ที่เขาอาจต้องจำคุกเป็นเวลาหลายปี

ในปี 2562 นายกฯอิสราเอลถูกกล่าวหา 3 คดีได้แก่ การฉ้อโกง การติดสินบนและละเมิดความน่าเชื่อถือ ซึ่งหากถูกตัดสินว่ามีความผิด เขาเสี่ยงถูกจำคุกนานถึง 10 ปี

ตามข้อกล่าวหา ระบุว่า เนทันยาฮูเสนอสนับสนุนและให้ของตอบแทนบางอย่างกับผู้มีอำนาจในอุตสาหกรรมสื่อ แลกกับการนำเสนอข่าวในด้านดีของเขา

หนึ่งปีหลังจากนั้น เนทันยาฮูได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยที่ 5 และพรรคร่วมรัฐบาลฝ่ายขวาจัดรีบเสนอร่างกฎหมายซึ่งอาจเป็นบ่อนทำลายระบบตุลาการของประเทศ โดยร่างดังกล่าวอนุญาตให้รัฐบาลสามารถแต่งตั้งผู้พิพากษา จำกัดการกำกับดูแลของศาล และอาจถึงขั้นมีอำนาจยกเลิกการทำงานของศาลได้

ไดอานา บัตตู นักวิเคราะห์เกี่ยวกับความขัดแย้งอิสราเอล-ปาเลสไตน์ บอกว่า

“(เนทันยาฮู) จะหาข้ออ้างอื่นหรือบุคคลอื่นเพื่อทำสงครามต่อไป นั่นจะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกไม่มั่นคงมากขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาต้องการ เขาอยากทำให้ชาวอิสราเอลเชื่อว่าพวกเขาอยู่ภายใต้ภาวะฉุกเฉินหรือสงคราม นั่นคือวิธีที่เขาใช้ควบคุมคนและดำรงอยู่ในอำนาจ”

ติดอยู่ในวังวนความขัดแย้ง

โอมาร์ ราห์มัน นักวิชาการรับเชิญเกี่ยวกับประเด็นอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ประจำสภาตะวันออกลาง สถาบันคลังสมอง Global Affairs ในกรุงโดฮา กล่าวว่า “ผมไม่เชื่อว่าการเสียชีวิตของซินวาร์จะเปลี่ยนการวางแผนของอิสราเอล หากมองในแง่ของความมุ่งมั่นเนทันยาฮูที่ต้องการทำลายล้าง และลดประชากรในฉนวนกาซาต่อไป”

เมื่อเดือน ต.ค. ปีก่อน การทำสงครามในกาซาของอิสราเอลเริ่มต้นขึ้นเพื่อตอบโต้ที่ฮามาสโจมตีทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ทำให้ประชาชนในอิสราเอลเสียชีวิต 1,139 ราย และถูกจับเป็นตัวประกันราว 250 ราย ขณะที่การทำสงครามในกาซาของอิสราเอลคร่าชีวิตประชาชนไปมากกว่า 42,000 รายแล้ว

เยซิด ซาอิคห์ ผู้เชี่ยวชาญอิสราเอล-ปาเลสไตน์และตะวันออกกลาง จากสถาบันคลังสมอง Carnegie Middle East ในกรุงเบรุต บอกว่า “อิสราเอลสังหารผู้นำปาเลสไตน์มาแล้วหลายคน และจะคงปฏิบัติการเช่นนี้ต่อไป จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพราะโดยปกติแล้ว รัฐบาลอิสราเอลแม้ไม่ได้อยู่ภายใต้พรรคลิคุด แต่อยู่ภายใต้พรรคแรงงาน ก็ไม่เต็มใจที่จะสละดินแดนหรือสละอำนาจอธิปไตยที่แท้จริงของปาเลสไตน์”

ซาอิคห์เสริมอีกว่า

“ผลลัพธ์คือ (อิสราเอล) ขังตัวเองไว้ในความขัดแย้งอย่างถาวร และพวกเขายังคงเลือกตอบโต้ด้วยกำลังทางทหารต่อไป เพราะพวกเขาวางตัวเองให้อยู่ในสถานะที่ไม่สามารถหาทางออกทางการเมืองได้”

อัลจาซีรา ระบุ เนทันยาฮูมีแนวโน้มที่จะดำเนินกลยุทธ์นี้ต่อไป โดยเมื่อวันศุกร์ (18 ต.ค.) เนทันยาฮูกล่าวว่าอิสราเอลต้องทำสงครามในกาซาต่อ เพื่อช่วยเหลือตัวประกันอิสราเอลที่ยังถูกจับกุมอยู่ รวมถึงในเลบานอน

เมื่อวันที่ 31 ก.ค. เนทันยาฮูยังได้สังให้กองกำลังด้านความมั่นคงของตนลอบสังหารอิสมาอิล ฮานิเยห์ ผู้นำทางการเมืองของฮามาส และผู้เจรจาดีลหยุดยิงคนสำคัญในระหว่างที่ฮานิเยห์เยือนอิหร่าน

โอเรน ซีฟ นักวิจารณ์การเมืองชาวอิสราเอล เผยว่า การสังหารซินวาร์ล่าสุดทำให้กลุ่มฝ่ายขวาจัดของอิสราเอลฮึกเหิมมากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่ยังคงสนับสนุนความมุ่งมั่นของเนทันยาฮูที่ต้องการชนะสงครามในกาซา ซึ่งซีฟบอกว่าเป็นพฤติกรรมที่เหมือนคนติดยาเสพติด

“การเสียชีวิตของซินวาร์เป็นเหมือนยาโดสหนึ่งในตอนนี้ แต่ไม่ได้ทำให้ประชาชนหรือรัฐบาลฝ่ายขวาพอใจ (ในระยะยาว) พวกเขาต้องการสังหารเพิ่มและทำสงครามากขึ้นอีก” ซีฟ กล่าว

การต่อต้านของชาวปาเลสไตน์ยังคงมีอยู่

เมื่อเดือน มี.ค. ปี 2549 อิสราเอลสังหารชีก อาเหม็ด ยัสซิน ผู้ก่อตั้งและผู้นำทางจิตวิญญาณของฮามาส ซึ่งขณะนั้นเป็นอัมพาตครึ่งล่าง โดยยิงขีปนาวุธใส่ยัสซิน 3 ลูกขณะที่เขาออกจากมัสยิดใกล้ๆบ้านในกาซา

ก่อนที่ยัสซินเสียชีวิต เขาได้เรียกร้อง “สันติภาพเย็นชา” (cold peace) กับอิสราเอล ซึ่งมีเงื่อนไขให้อิสราเอลถอนกองทัพออกจากกาซาและเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครอง แต่การตอบโต้ของอิสราเอลคือการพยายามทำลายฮามาส ด้วยการสังหารอาเหม็ด ยัสซิน และผู้นำปาเลสไตน์คนอื่น ๆ

บัตตู กล่าวว่า แนวทางดังกล่าวทำให้ฮามาสแข็งแกร่งมากกว่าแต่ก่อน (ตอนที่อาเหม็ด ยัสซิน ยังมีชีวิตอยู่)

“เมื่อเวลาผ่านไป ผู้คนจำนวนมากตระหนักได้ว่า(อิสราเอล)สังหารผู้นำขบวนการต่อต้านได้ แต่จะไม่สามารถสังหารขนวนการต่อต้านได้”

ด้านราห์มัน มองว่า ฮามาสจะยังคงอยู่รอดในสงครามที่ดำเนินอยู่ แม้ได้รับความเสียหายอย่างมากก็ตาม

“หากพูดในเชิงองค์กร (การสังหารซินวาร์) บั่นทอนฮามาส ทั้งในแง่ของความเป็นผู้นำและการปฏิบัติการ แต่ตัวองค์กรยังคงอยู่ ยังมีนักรบที่ปฏิบัติการอยู่แม้ปราศจากผู้นำที่คอยสั่งการ”

ราห์มันเสริมอีกว่า ไม่ว่าฮามาสจะรอดหรือร่วง แต่การต่อต้านของชาวปาเลสไตน์จะยังคงมีอยู่ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

โดยบัตตูและราห์มันย้ำว่า การต่อสู้ด้วยอาวุธมีรากฐานมาจากความทุกข์ยากของชาวปาเลสไตน์ที่ต้องเผชิญกับการยึดครองของอิสราเอล ดังนั้น หากอิสราเอลทำลายกาซาจนสิ้นซากจะยิ่งทำให้ชาวปาเลสไตน์ไม่พอใจมากขึ้น

“ความคับข้องใจของชาวปาเลสไตน์ยังไม่ได้รับการแก้ไข ดังนั้น การต่อต้านการยึดครองดินแดนของอิสราเอลยังคงมีอยู่ต่อไป มันก็ง่าย ๆ แค่นี้ นี่คือสมการง่ายๆ” ราห์มัน กล่าว

 

อ้างอิง: Al Jazeera