รู้จัก ‘ยาห์ยา ซินวาร์’ ผู้นำฮามาสคนล่าสุด ที่อิสราเอลปลิดชีพสำเร็จ

รู้จัก ‘ยาห์ยา ซินวาร์’ ผู้นำฮามาสคนล่าสุด ที่อิสราเอลปลิดชีพสำเร็จ

รู้จัก “ยาห์ยา ซินวาร์” ผู้นำฮามาสที่อิสราเอลเพิ่งปลิดชีพ ซึ่งถือว่าเป็นการสูญเสียผู้นำ ที่ทำให้ฮามาสตกอยู่ในภาวะสุญญากาศอีกครั้ง และต้องคิดหนัก เมื่อซินวาร์ถือเป็นหนึ่งในผู้นำที่มีความเด็ดขาด ไร้ความประนีประนอมมากที่สุดแล้ว

ยาห์ยา ซินวาร์ เป็นที่รู้จักในชื่อ อาบู อิบราฮิม เกิดเมื่อปี 1962 ในค่ายผู้ลี้ภัยข่านยูนิสทางตอนใต้ของฉนวนกาซา พ่อแม่ของเขามาจากเมืองอัชเคลอน (เมืองในดินแดนปาเลสไตน์ ปัจจุบันตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิสราเอล ) และพวกเขาต้องกลายเป็นผู้อพยพหลังจากเกิดเหตุการณ์ที่ชาวปาเลสไตน์เรียกว่า “อัล-นักบา” ซึ่งเป็นการอพยพครั้งใหญ่ของชาวปาเลสไตน์จากบ้านเกิดในปาเลสไตน์ ในช่วงสงครามที่เกิดขึ้นหลังจากอิสราเอลสถาปนาประเทศเมื่อปี 1948

ซินวาร์ เรียนจบโรงเรียนมัธยมชายล้วนข่านยูนิส จากนั้นจบการศึกษาระดับปริญญาตรีภาษาอารบิกจากมหาวิยาลัยอิสลามในกาซา และถูกอิสราเอลจับกุมอยู่บ่อยครั้งช่วงต้นทศวรรษ 1980 เนื่องจากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวต่อต้านการยึดครองในมหาวิทยาลัยอิสลามในกาซา

ผู้นำฮามาสรายนี้เคยถูกจับกุมครั้งแรกเมื่อปี 1982 ซึ่งตอนนั้นเขามีอายุเพียง 19 ปี ต่อมาก็ถูกจับกุมอีกในปี 1985 และในช่วงเวลาดังกล่าวเป็นช่วงที่ซินวาร์ได้รับความไว้วางใจจากชีก อาเหม็ด ยัสซิน ผู้ก่อตั้งกลุ่มฮามาส

หลังจากเรียนจบ ซินวาร์ได้ช่วยสร้างเครือข่ายนักรบเพื่อต่อต้านอิสราเอลด้วยอาวุธ ซึ่งต่อมากลุ่มดังกล่าวกลายเป็นกองพลน้อยอัล-กัสซัม ที่เป็นกองกำลังทหารของกลุ่มฮามาส

 

โกบี ไมเคิล นักวิจัยอาวุโสจากสถาบันเพื่อการศึกษาความมั่นคงแห่งชาติในเทลอาวีฟบอกว่า ชีก อาเหม็ด ยัสซิน และซินวาร์สนิทกันมากขึ้น และต่อมากลุ่มฮามาสได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1987 โดยมีซินวาร์เป็นหนึ่งในผู้นำ และเขายังได้ก่อตั้งองค์กรความมั่นคงภายในที่ชื่อว่าอัล-มาจด์ ในตอนที่เขาอายุ 25 ปีเท่านั้น

กลุ่มอัล-มาจด์ กลายเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงในแง่ลบ กลุ่มนี้มีการลงโทษผู้ที่ถูกกล่าวหาว่าทำผิดศีลธรรม โดยไมเคิลบอกว่า ซินวาร์มักมุ่งเป้าไปที่ร้านจำหน่ายหนังผู้ใหญ่ รวมถึงตามล่า และสังหารใครก็ตามที่ต้องสงสัยว่าร่วมมือกับอิสราเอล

บีบีซีระบุว่า ในปี 1988 ซินวาร์ถูกกล่าวหาว่า วางแผนลักพาตัว และสังหารทหารอิสราเอล 2 นาย และในปีเดียวกันนั้นเขาก็ถูกจับกุม โดยอิสราเอลตัดสินว่าเขาสังหารชาวปาเลสไตน์ 12 ราย และต้องจำคุกตลอดชีวิต 4 เท่า หรือเท่ากับ 426 ปี ขณะที่อัลจาซีราระบุว่า ในปีนั้นเขาถูกกล่าวหาว่าสังหารทหารอิสราเอล 2 นาย และสังหารสายลับปาเลสไตน์ 4 ราย

ขณะถูกคุมขัง ซินวาร์ได้เขียนนวนิยายเกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์ ชื่อ The Thorn and the Carnation ซึ่งคาดว่าเป็นการเขียนอัตชีวประวัติของเขาบางส่วนด้วย

อย่างไรก็ตาม ซินวาร์จำคุกเป็นเวลาแค่ 23 ปีเท่านั้น จากนั้นได้รับการปล่อยตัวในปี 2011 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลงแลกเปลี่ยนนักโทษปาเลสไตน์ และชาวอาหรับเชื้อสายอิสราเอล 1,027 คน แลกกับการปล่อยตัวประกันอิสราเอลเพียงคนเดียวคือ กิลาด ชาลิต ทหารอิสราเอลจากกองกำลังป้องกันอิสราเอล (ไอดีเอฟ) ที่ถูกฮามาสจับกุม

นอกจากนี้ในระหว่างถูกคุมขังช่วงเวลาดังกล่าว ซินวาร์ยังได้เรียนรู้ภาษาฮีบรู และมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกิจการ และการเมืองภายในอิสราเอลเป็นอย่างดี

หลังจากได้รับการปล่อยตัว ซินวาร์ก็ไต่เต้าขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งระดับสูงของกลุ่มฮามาสได้อย่างรวดเร็ว โดยในปี 2012 เขาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งในสำนักงานการเมืองของกลุ่ม และมีหน้าที่ประสานงานกับกองพลน้อยอัล-กัสซัม

ซินวาร์ยังมีบทบาทเป็นผู้นำทางการเมือง และการทหารในระหว่างที่อิสราเอลบุกโจมตีกาซาเป็นเวลา 7 สัปดาห์เมื่อปี 2014 และในปีต่อมาสหรัฐประกาศให้ซินวาร์เป็นผู้ก่อการร้ายที่โลกต้องการตัวมากที่สุด

ในปี 2017 ซินวาร์ได้ขึ้นมาเป็นหัวหน้าฮามาสในกาซา สืบทอดตำแหน่งต่อจากฮานิเยห์ที่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานสำนักงานการเมืองของฮามาส

อย่างไรก็ตาม ซินวาร์แตกต่างจากฮานิเยห์ที่มักเดินทางไปทั่วภูมิภาค และกล่าวสุนทรพจน์ตลอดช่วงที่เกิดสงครามในกาซาจนถูกสังหารในที่สุด เพราะซินวาร์ปิดปากเงียบมาตั้งแต่ความขัดแย้งฮามาส-อิสราเอล ปะทุขึ้นเมื่อวันที่ 7 ต.ค.2023

บีบีซี ระบุว่า ซินวาร์มีความใกล้ชิดกับอิหร่าน แม้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอิสลามนิกายชีอะห์ กับกลุ่มอาหรับนิกายซุนนีไม่ปรากฏชัดเจน แต่ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายเหมือนกันคือ การล้มรัฐอิสราเอล และปลดปล่อยเยรูซาเลมจากการยึดครองของอิสราเอล

ทั้งสองฝ่ายทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยอิหร่านจัดหาเงินทุน ฝึกอบรม และให้อาวุธแก่ฮามาส เพื่อช่วยเพิ่มขีดความสามารถของกองทัพ และรวบรวมคลังแสงขีปนาวุธหลายพันลูกไว้ใช้โจมตีเมืองต่างๆ ของอิสราเอล

การสูญเสียยาห์ยา ซินวาร์ อาจเป็นเหมือนการโจมตีฮามาสครั้งใหญ่ เมื่อกลุ่มเลือกเขาขึ้นมาเป็นผู้นำฮามาสในภารกิจโดยรวม แทนที่ฮานิเยห์เมื่อเดือนส.ค. ซึ่งถือเป็นการเลือกที่ท้าท้าย เพราะกลุ่มไม่สามารถหาคนที่มีความเด็ดขาดได้ขนาดนี้แล้ว

ตอนนี้ฮามาสต้องตัดสินใจว่า ถึงเวลาที่จะพิจารณาข้อตกลงเพื่อยุติปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลที่ทำลายล้างกาซามานานนับปี หรือจะต่อต้าน และต่อสู้ต่อไปจนกว่าอิสราเอลจะหมดความอดทน แม้ความขัดแย้งนี้ทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจำนวนมากก็ตาม

 

อ้างอิง: BBC, Al Jazeera

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์