‘ญี่ปุ่น’ เริ่มวิกฤติ ‘หนี้ครัวเรือน’ สูงเกินรายได้ ครั้งแรกในรอบ 70 ปี

‘ญี่ปุ่น’ เริ่มวิกฤติ ‘หนี้ครัวเรือน’ สูงเกินรายได้ ครั้งแรกในรอบ 70 ปี

เศรษฐกิจ ‘ญี่ปุ่น’ เริ่มวิกฤติ ‘หนี้ครัวเรือน’ สูงเกินรายได้ ครั้งแรกในรอบ 70 ปี สินเชื่อที่อยู่อาศัยพุ่งทะลุ 229 ล้านล้านเยน คนรุ่นใหม่วัย 30-40 เป็นหนี้ กู้เงินมหาศาลท่ามกลางอัตราดอกเบี้ยต่ำเพื่อสร้างครอบครัว

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานถึงวิกฤติ “หนี้ครัวเรือน”ญี่ปุ่นทวีความรุนแรงขึ้น โดยหนี้สินเฉลี่ยของครัวเรือนที่มีสมาชิก 2 คนเฉลี่ยอยู่ที่ 6.55 ล้านเยน (ประมาณ 1.455 ล้านบาท) ในปี 2566 ซึ่งขึ้นไปสูงเกินกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 6.42 ล้านเยน  (ประมาณ 1.426 ล้านบาท) ซึ่งพุ่งสูงเกินกว่ารายได้เฉลี่ยต่อปีเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 70 ปี นับตั้งแต่เริ่มมีการสำรวจรายได้และรายจ่ายของครัวเรือนในช่วงปี 2493 

สถานการณ์หนี้ครัวเรือนญี่ปุ่นในปี 2567 ยังคงน่าเป็นห่วง โดยมีแนวโน้มที่เลวร้ายลงจากปีก่อนหน้า ข้อมูลล่าสุดชี้ให้เห็นว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อเงินออมยังคงอยู่ในระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่นกำลังพิจารณาปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่ม ทำให้เกิดความกังวลเกี่ยวกับความสามารถของผู้กู้ยืมที่จะชำระเงินให้ทัน 

วิกฤติหนี้ที่อยู่อาศัย

ทาคุยะ โฮชิโนะ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์แห่งสถาบันวิจัย Dai-ichi Life มองว่าราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นเร็วกว่าค่าจ้าง ส่งผลให้มูลค่าสินเชื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มสูงขึ้น

ราคาคอนโดมิเนียมในใจกลางกรุงโตเกียวที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องกำลังสร้างความกังวลอย่างมากให้กับผู้คนและเศรษฐกิจของประเทศญี่ปุ่น ผลสำรวจล่าสุดของกระทรวงที่เกี่ยวข้องชี้ให้เห็นว่า สินเชื่อที่อยู่อาศัยและหนี้สินอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับที่อยู่อาศัยคิดเป็นสัดส่วนถึง 90% ของมูลค่าสินทรัพย์รวมของครัวเรือน 

รายงานการไหลเวียนของเงินทุนล่าสุดจากธนาคารแห่งประเทศญี่ปุ่นเผยให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เมื่อสินเชื่อที่อยู่อาศัยรวมทั่วประเทศสูงถึง 229 ล้านล้านเยน ณ สิ้นปี 2566 ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงการเติบโตของหนี้สินที่อยู่อาศัยอย่างรวดเร็ว และสะท้อนให้เห็นถึงภาระหนี้สินที่หนักอึ้งของครัวเรือนญี่ปุ่น

วิกฤติหนี้คนรุ่นใหม่

สถานการณ์หนี้สินของคนญี่ปุ่นวัย 30-40 ปี กำลังอยู่ในระดับวิกฤติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ ผู้คนในช่วงวัยนี้ต่างกู้เงินจำนวนมากเพื่อซื้อบ้าน ซื้อรถ และตอบสนองความต้องการในการใช้ชีวิตประจำวัน ข้อมูลล่าสุดเผยให้เห็นว่า ครัวเรือนที่มีหัวหน้าครอบครัวเป็นคนวัย 30-40 ปี มีเปอร์เซ็นต์หนี้สูงเป็นประวัติการณ์

ชายวัย 30 ปีที่กู้เงินจำนองมูลค่าประมาณ 100 ล้านเยนเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมในโตเกียวเล่าว่า เราไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการกู้ยืมเพิ่มเติมเพื่อตอบสนองความต้องการของเรา สะท้อนให้เห็นถึงความยากลำบากที่คนรุ่นใหม่ต้องเผชิญในการสร้างครอบครัวและมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีท่ามกลางค่าครองชีพที่สูงขึ้น

อัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ที่สูงขึ้นเป็นสัญญาณเตือนภัยที่บ่งบอกถึงความเสี่ยงทางการเงินที่กำลังคุกคามครัวเรือนจำนวนมาก การมีหนี้สินเกินกว่ากำลังในการชำระหนี้ ทำให้ครัวเรือนมีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ เช่น การสูญเสียงาน หรือการลดเงินเดือน หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ผู้กู้จะประสบปัญหาในการชำระหนี้ตามกำหนด ซึ่งอาจนำไปสู่การผิดนัดชำระหนี้ การถูกยึดทรัพย์ และปัญหาทางการเงินอื่นๆ ตามมา

รายงานจากหน่วยงานการเงินที่อยู่อาศัยของญี่ปุ่นระบุว่า ผู้กู้เงินประมาณ 76.9% ในญี่ปุ่นเลือกอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ผันแปร (variable interest rate) ซึ่งหมายความว่า หากอัตราดอกเบี้ยของระบบเพิ่มสูงขึ้น ค่าผ่อนชำระรายเดือนของผู้กู้กลุ่มนี้ก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ภาระหนี้สินเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค

การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการผ่อนชำระหนี้ของคนในวัย 30 ปีสูงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันและการวางแผนทางการเงินในระยะยาว  โดยข้อมูลในปี  2566 ระบุว่าหนี้สินของครัวเรือนในช่วงวัย 30 ปีคิดเป็น 270% ของรายได้ และ 230% ของเงินออม ยิ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเปราะบางทางการเงินของกลุ่มคนวัยนี้

อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มผู้สูงอายุจะมีอัตราส่วนหนี้สินต่อรายได้ต่ำกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากไม่มีภาระหนี้สินจากการศึกษาหรือการซื้อบ้านใหม่ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้เงินฝากของผู้สูงอายุให้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น ส่งผลดีต่อกำลังซื้อและความมั่นคงทางการเงิน

อ้างอิง Nikkei