รัสเซียเปิดประชุม BRICS หนุนสมาชิกเพิ่มในวาระระเบียบโลกใหม่

รัสเซียเปิดประชุม BRICS หนุนสมาชิกเพิ่มในวาระระเบียบโลกใหม่

ในสัปดาห์นี้กำลังมีการประชุมใหญ่ในสองซีกโลกที่สะท้อนให้เห็นถึง "การแบ่งขั้ว" ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและการเมืองที่ชัดเจนมากขึ้นในยุคปัจจุบัน กับการประชุม BRICS และ IMF-World Bank

ฝั่ง "สหรัฐ" เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมประจำปีของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) และธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ที่ทยอยเรียกความสนใจไปแล้วตั้งแต่การออกรายงานหนี้สาธารณะทั่วโลกที่พุ่งทะลุ 100 ล้านล้านดอลลาร์เป็นครั้งแรก มาจนถึงการออกรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลกฉบับล่าสุดเดือนต.ค. ที่เตือนเรื่องความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์และการกีดกันทางการค้าซึ่งจะเพิ่มสูงขึ้น

ส่วนในฝั่ง "รัสเซีย" จะเปิดบ้านในเมืองคาซาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศ จัดการประชุมสุดยอดผู้นำกลุ่มประเทศ "บริกส์" (BRICS) ที่มีสมาชิกดั้งเดิม 4+1 ประเทศคือ บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และผู้นำ/ผู้แทนจาก 34 ประเทศเข้าร่วมระหว่างวันที่ 22 - 24 ต.ค. โดยมีไฮไลต์ที่การเข้าร่วมประชุมครั้งแรกของเหล่า "สมาชิกใหม่" 5 ประเทศ และการสะท้อนนัยยะทางการเมืองครั้งสำคัญของรัสเซียภายใต้ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน

สำนักข่าวอัลจาซีราห์รายงานอ้างนักวิเคราะห์หลายฝ่ายว่า การประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ในครั้งนี้ จะเป็นการประชุมครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในรอบหลายสิบปีของรัสเซีย และเป็นสัญญาณที่สื่อไปถึงโลกตะวันตกโดยตรงว่า "รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยว"

อัสลี อัยดินทัสบาส ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากตุรกี กล่าวกับสถาบันคลังสมองบรูกกิงส์ในสหรัฐว่า ภายหลังสงครามในฉนวนกาซา (ซึ่งสหรัฐส่งอาวุธไปให้กับอิสราเอล) รัสเซียและจีนได้ใช้ประโยชน์จากความรู้สึกต่อต้านตะวันตกได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยอาศัยความผิดหวังจากการกระทำสองมาตรฐานของตะวันตก รวมถึงความไม่พอใจจากคว่ำบาตรและบีบบังคับทางเศรษฐกิจของตะวันตก 

"เรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่ากลุ่มประเทศตรงกลางจะแปรพักตร์จากอิทธิพลของสหรัฐไปซบจีนแทน แต่ประเทศเหล่านี้กำลังเปิดใจให้จีนและรัสเซียมากขึ้น เพื่อให้โลกมีอิสระและกระจายขั้วอำนาจมากขึ้น"

จับตาสมาชิกใหม่ BRICS+

ขณะที่ซีเอ็นบีซีรายงานว่า รัสเซียพยายามใช้วาทกรรมการรวมกลุ่มของประเทศซีกโลกใต้ (Global South) ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และลาตินอเมริกา เพื่อต่อกรท้าทายระเบียบโลกใหม่กับซีกโลกเหนือที่นำโดยสหรัฐ ซึ่งจะเป็นวาระสำคัญในการประชุมครั้งนี้ ตัวปูตินเองได้เปรยเอาไว้เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า การขยายสมาชิกกลุ่มบริกส์เป็น "ตัวบ่งชี้ที่ชัดเจนถึงอำนาจที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มและบทบาทในกิจการระหว่างประเทศ" พร้อมส่งสัญญาณว่าเขาตั้งใจที่จะนำเสนอรูปแบบการรวมกลุ่มที่เรียกว่า "BRICS+" (บริกส์พลัส) เพื่อท้าทายตะวันตกทั้งในด้านภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ

ปูตินจะใช้วันสุดท้ายของการประชุมสุดยอดผู้นำบริกส์ 10 ประเทศ จัดการประชุมคู่ขนาน BRICS and Outreach หรือ BRICS Plus ควบคู่ไปด้วย ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย แอฟริกา ตะวันออกกลาง และละตินอเมริกาเกือบ 40 ประเทศเข้าร่วม และเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของกลุ่มในการขยายความสัมพันธ์กับประเทศในซีกโลกใต้

"ประเทศสมาชิกกลุ่มบริกส์กำลังกลายเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และในอนาคตอันใกล้นี้ เศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นกลไกหลักในการเพิ่ม GDP โลก และเศรษฐกิจของกลุ่มบริกส์จะเป็นอิสระจากอิทธิพลภายนอกมากขึ้น" ปูตินกล่าวในการประชุมภาคธุรกิจกลุ่มบริกส์เมื่อวันศุกร์ที่แล้ว

รัสเซียเปิดประชุม BRICS หนุนสมาชิกเพิ่มในวาระระเบียบโลกใหม่

นอกจากผู้นำของกลุ่มประเทศก่อตั้ง 5 ประเทศ ยกเว้นเพียงบราซิลที่ส่งผู้แทนมาร่วมประชุมเนื่องจากประธานาธิบดี ลูลา ดา ซิลวา ประสบอุบัติเหตุ ผู้นำของ 5 ประเทศสมาชิกใหม่ต่างมาร่วมประชุมบริกส์อย่างคึกคัก อาทิ ประธานาธิบดีของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) อิหร่าน อียิปต์ และเอธิโอเปีย ส่วนซาอุดีอาระเบียส่งรัฐมนตรีต่างประเทศเข้าร่วมการประชุมแทน 

นอกจากนี้ยังมีผู้นำประเทศอื่นๆ ที่ไม่ใช่สมาชิกเข้าร่วมด้วย อาทิ นายกรัฐมนตรีเวียดนาม และแม้แต่อันโตนิโอ กูเตียร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ส่วน 3 ประเทศที่แสดงความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นสมาชิกกลุ่มประเทศบริกส์ไปแล้ว ได้แก่ ไทย มาเลเซีย และตุรกีนั้นมีรายงานว่าประธานาธิบดีเรย์เซบ เตย์ยิป เออร์ดวน ของตุรกี รัฐมนตรีเศรษฐกิจของมาเลเซีย ราฟิซี รัมลี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ จะเข้าร่วมการประชุมด้วย

ทิโมธี แอช นักวิชาการในโครงการรัสเซียและยูเรเซียของสถาบันชัทแธมเฮ้าส์ในลอนดอน กล่าวว่าในฉากหลังนั้น ปูตินกำลังคาดหวังถึงชัยชนะด้านการประชาสัมพันธ์ครั้งใหญ่เหนือยูเครนและตะวันตก โดยพยายามส่งสารว่า แม้จะมีสงครามและถูกคว่ำบาตรจากตะวันตก แต่รัสเซียก็ยังคงมีพันธมิตรระหว่างประเทศจำนวนมากที่เต็มใจจะคบค้าและค้าขายด้วยกับรัสเซีย

ทั้งนี้หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครนเปิดฉากขึ้นอย่างเต็มรูปแบบในเดือนก.พ. 2565 รัสเซีย ปูติน และบรรดาแกนนำในรัฐบาลต่างก็ถูกโดดเดี่ยวจากประชาคมโลก สหรัฐ สหภาพยุโรป (อียู) และบรรดาประเทศพันธมิตร เช่น แคนาดา ญี่ปุ่น ไต้หวัน และสหราชอาณาจักรต่างออกมาตรการคว่ำบาตรธุรกิจพลังงาน ธนาคาร และกลาโหมของรัสเซีย ท่ามกลางแรงกดดันให้ประเทศอื่นๆ คว่ำบาตรรัสเซียตามมาหลังจากนั้น 

ไม่เพียงแต่การคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจเท่านั้น ศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ในกรุงเฮกได้อนุมัติการออกหมายจับปูตินในข้อหาก่ออาชญากรรมสงครามเมื่อปี 2566 ทำให้ผู้นำรัสเซียไม่สามารถเดินทางไปประเทศที่มีธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศได้ และเคยต้องงดการไปร่วมประชุมสุดยอดผู้นำประเทศบริกส์ครั้งก่อนที่แอฟริกาใต้มาแล้ว และงดเข้าร่วมแม้แต่การประชุมจี20 ในปีที่แล้วที่ประเทศอินเดีย แม้จะไม่มีข้อตกลงกับ ICC ก็ตาม 

"การประชุมสุดยอดที่คาซานมีความสำคัญทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเชิงปฏิบัติต่อระบอบการปกครองของปูติน" แองเจลา สเตส่วนนต์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษายูเรเซีย รัสเซีย และยุโรปตะวันออกแห่งมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ กล่าวกับสถาบันบรูกกิงส์ "การประชุมสุดยอดครั้งนี้จะแสดงให้เห็นว่า รัสเซียไม่ได้โดดเดี่ยวเพียงลำพัง แต่ยังมีพันธมิตรที่สำคัญ เช่น อินเดีย จีน และประเทศตลาดเกิดใหม่ที่สำคัญๆ"

ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของจีน ตอกย้ำให้เห็นภาพนี้ด้วยการจับมือกับปูตินอย่างแน่นแฟ้นในงานและส่งสารอย่างชัดเจนถึงการรวมกลุ่มครั้งนี้ว่า ความร่วมมือในกลุ่มบริกส์เป็น "เวทีสำคัญที่สุดสำหรับความเป็นอันหนึ่งอันเดียวและร่วมมือกันระหว่างประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนาในโลกวันนี้ เป็น “พลังหลักในการส่งเสริมให้เกิดการตระหนักรู้ถึงโลกหลากขั้วอย่างเท่าเทียมและเป็นระเบียบ รวมถึงโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมและอดกลั้น”