‘เชนร้านอาหารจีน’ ถาโถมอาเซียน เน้นถูก-สาขาเยอะ ท้าทายธุรกิจท้องถิ่น

‘เชนร้านอาหารจีน’ ถาโถมอาเซียน เน้นถูก-สาขาเยอะ ท้าทายธุรกิจท้องถิ่น

‘แบรนด์จีนราคาประหยัด’ ถาโถมเข้าสู่ตลาดอาเซียน ทำให้สงครามราคาในวงการอาหารเครื่องดื่มรุนแรงขึ้น ธุรกิจท้องถิ่นต้องเผชิญแรงกดดันอย่างหนัก ขณะที่หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ

ศึกแข่งขันธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มในย่านอาเซียนทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อ “แบรนด์จีนราคาประหยัด” หลั่งไหลเข้ามาตีตลาด ด้วยกลยุทธ์ราคาที่เข้าถึงง่ายและรูปแบบธุรกิจที่ทันสมัย ทำให้ธุรกิจท้องถิ่นเผชิญความท้าทายในการรับมือด้านราคา ทั้งยังต้องรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาด

เว็บไซต์นิกเกอิ เอเชียรายงานว่า ร้านอาหารและเครื่องดื่มจีนราคาประหยัด เช่น “มี่เสวี่ย” (Mixue) ไอศกรีมจากแดนมังกรที่เริ่มต้นเพียง 15 บาท หรือแม้แต่หม้อไฟจีน “ไหตี่เลา” (Haidilao) ก็ตาม กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ชื่นชอบเรื่อง “ราคาที่เข้าถึงง่าย”

อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างรวดเร็วของธุรกิจเหล่านี้ ก่อให้เกิดความกังวลถึงผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในท้องถิ่น

สำหรับนักเรียนมัธยมในเวียดนาม Mixue เป็นสถานที่พบปะยอดนิยมหลังเลิกเรียน นักเรียนหญิงรายหนึ่งในกรุงฮานอยเปิดเผยว่า “ฉันมาที่นี่ตลอดเวลา เพราะราคาถูก”

ร้าน Mixue ไม่ได้ขายเฉพาะไอศกรีมเท่านั้น ยังขายเครื่องดื่มผลไม้ต่างๆ ด้วย พนักงานรายหนึ่งของร้านเปิดเผยว่า ร้านขายเครื่องดื่มได้เฉลี่ยวันละ 500 แก้ว บางวันสูงกว่า 1,000 แก้วในวันที่มีลูกค้ามาก เมนูขายดีที่สุดคือ ชาเลมอนผสมวุ้นว่านหางจระเข้ ราคา 17,000 ดอง (23 บาท) ซึ่งถูกกว่าเครื่องดื่มจากร้านท้องถิ่นรายใหญ่อย่าง ToCoToCo ถึง 30-50% จึงค่อนข้างท้าทายสำหรับแบรนด์ท้องถิ่นในการอยู่รอดหากจะแข่งด้วยราคาอย่างเดียว เพราะจีนถูกกว่าถึง 50%

‘เชนร้านอาหารจีน’ ถาโถมอาเซียน เน้นถูก-สาขาเยอะ ท้าทายธุรกิจท้องถิ่น - เมนูของ Mixue (เครดิต: Mixue) -

แบรนด์จีนสยายปีกสาขา รุกหนักอาเซียน

Mixue ถือเป็นแบรนด์หัวหอกจีนที่เติบโตเร็วมาก เข้าสู่ตลาด “เวียดนาม” ในปี 2561 โดยเริ่มจากเมืองใหญ่ที่มีนักเรียนจำนวนมากอย่างกรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ซิตี้ภายใต้ระบบแฟรนไชส์ และในปี 2566 ก็มีสาขาเกิน 1,000 แห่งแล้ว

ใน “อินโดนีเซีย” Mixue เปิดสาขาแรกในปี 2563 และเติบโตขึ้นจนมีสาขามากกว่า 2,400 แห่งในปัจจุบัน ส่วนใน “มาเลเซีย” มีสาขามากกว่า 150 แห่ง ขณะที่ใน “ประเทศไทย” และ “ฟิลิปปินส์” กำลังอยู่ระหว่างการขยายตัว 

ภายใต้การเติบโตอย่างรวดเร็วเหล่านี้ ทำให้ Mixue มีจำนวนสาขาทั่วโลกเกินกว่า 36,000 แห่งไปแล้ว

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชนนี้สามารถรักษาต้นทุนการผลิตให้ต่ำได้ก็คือ “การผลิตวัตถุดิบหลักในปริมาณมากที่จีน” โดยบริษัทในเครือของแบรนด์จีนรายนี้เป็นผู้ผลิตและจัดส่งวัตถุดิบเหล่านี้ไปยังสาขาต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งเป็นการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคา

นอกจากร้านไอศกรีมแล้ว “Cotti Coffee” อีกหนึ่งเชนร้านกาแฟจีนได้เข้าสู่ตลาดไทยในเดือนธ.ค. 2566 โดยมีราคากาแฟขนาดปกติอยู่ที่ 45 บาท ถูกกว่า “Cafe Amazon” เชนร้านกาแฟเจ้าถิ่นที่ใหญ่ที่สุดของไทย ซึ่งอยู่ที่แก้วละ 65 บาท

‘เชนร้านอาหารจีน’ ถาโถมอาเซียน เน้นถูก-สาขาเยอะ ท้าทายธุรกิจท้องถิ่น - Cotti Coffee (เครดิต: Windmemories) -

Cotti มีสาขาประมาณ 7,000 แห่งในประเทศจีนนับตั้งแต่ก่อตั้งในปี 2565 และจำนวนสาขาที่มาก ทำให้สามารถสั่งซื้อวัตถุดิบได้ในราคาที่ถูกลง

ด้านเชนร้านสุกี้อย่าง Haidilao ก็กำลังเติบโตในภูมิภาคนี้เช่นกัน ณ สิ้นเดือนธ.ค. 2566 มีสาขา 70 แห่งในแถบอาเซียนรวมถึงไทย อาหารเริ่มต้นที่ราคาประมาณ 370 บาท และลูกค้าสามารถเพลิดเพลินกับบริการฟรีที่เป็นเอกลักษณ์ของร้านระหว่างรออาหาร เช่น ขนม ไอศกรีม และแม้แต่การทำเล็บ

“ภาวะเศรษฐกิจถดถอยของจีน ได้ผลักดันให้เชนร้านค้าจากจีนหลั่งไหลเข้ามาทำธุรกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” ยูจิ คาโตะ จากสถาบันวิจัยโนมูระ ประเทศไทยกล่าว

ธุรกิจจีนหนีศก.ฝืดออกไปต่างประเทศ

สำหรับแรงผลักดันที่ทำให้ร้านค้าสัญชาติจีนแห่ลุยต่างประเทศ เป็นเพราะธุรกิจแบรนด์อาหารและเครื่องดื่มของจีนกำลังเผชิญกับภาวะเงินฝืด การจับจ่ายใช้สอยค่อนข้างซบเซา รวมถึงจำนวนคู่แข่งก็สูงด้วย อีกทั้งตลาดภายในมีแนวโน้มจะหดตัวลงในอนาคต อันเนื่องมาจากอัตราการเกิดใหม่ของชาวจีนที่ลดลง เหล่าบริษัทในแดนมังกรจึงมองไปที่ตลาดอาเซียนที่กำลังเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ แทน

ด้วยการหลั่งไหลของแบรนด์สินค้าจีนราคาถูก กำลังทำให้ธุรกิจท้องถิ่นของประเทศต่างๆ ทำธุรกิจได้ยากขึ้นกว่าเดิม “เจริญ แก้วสุกใส” ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ร้านอาหารในไทยอาจเผชิญแรงกดดันจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ในเวียดนาม เชนร้านเครื่องดื่มอย่าง ToCoToCo ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2555 ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมา 3 ปีจนถึงปี 2566 สาเหตุหลักมาจากการแข่งขันที่รุนแรงจากแบรนด์จีนที่เน้นราคาถูก แม้ ToCoToCo จะพยายามปรับตัวด้วยการขยายสาขาไปกว่า 700 แห่ง แต่ก็ยังไม่สามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่กลับมาได้

ในภูมิภาคอาเซียน ยังมีความกังวลเพิ่มขึ้นด้วยเกี่ยวกับการที่จีนระบายสินค้าราคาถูกออกมาจำนวนมาก ตั้งแต่รถยนต์ไฟฟ้า เหล็กและสินค้าอื่นๆ ที่ถูกส่งออกเกินปริมาณที่ตลาดต้องการ

อินโดนีเซียเป็นตัวอย่างล่าสุดที่เพิ่งประกาศปรับขึ้นภาษีผลิตภัณฑ์สิ่งทอและสินค้าอื่นๆ จากจีน เพื่อไม่ให้มีราคาสินค้าที่ต่ำเกินไปเข้ามาจนสินค้าท้องถิ่นแข่งขันไม่ได้ ขณะที่ไทยเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าต่ำกว่า 1,500 บาท โดยไม่มีข้อยกเว้น เพื่อแก้ปัญหาสินค้าจีนราคาถูกทะลักเข้าประเทศ

อ้างอิง: nikkei