‘ทรัมป์-แฮร์ริส’ ใครดีกับเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่า
ช่วงไม่กี่ปีหลังเศรษฐกิจสหรัฐต้องเผชิญความท้าทายหนักหน่วงผลพวงโควิด-19 ระบาดใหญ่ไปที่โลก ทำให้การเติบโต และการจ้างงานเข้าสู่แดนลบ
ครั้นยกเลิกล็อกดาวน์ และมาตรการควบคุม ทุกประเทศเปิดพรมแดนทำมาค้าขายกันได้ตามปกติ เศรษฐกิจ และการจ้างงานฟื้นตัวพร้อมๆ กับเงินเฟ้อสูง กระทบรายได้ชาวอเมริกัน จึงไม่แปลกใจที่ผลการสำรวจความคิดเห็นของแกลลัพ และพิว พบว่า การเลือกตั้งในวันที่ 5 พ.ย.67 นี้ โหวตเตอร์ชาวอเมริกันกังวลเรื่องเศรษฐกิจเป็นอันดับหนึ่ง และต้องการเลือกคนที่เก่งในด้านนี้มากกว่า
เว็บไซต์นิวส์วีค รายงานว่า รองประธานาธิบดี คามาลา แฮร์ริส มีแผนลดภาษีสำหรับครอบครัวชนชั้นกลาง, สร้างบ้านเพิ่มเพื่อลดค่าเช่า และทำให้คนเป็นเจ้าของบ้านได้มากขึ้น, รัฐบาลกลางห้ามขึ้นราคาสินค้าเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ และช่วยเหลือธุรกิจสตาร์ตอัปโดยขยายการหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าใช้จ่าย
ขณะที่นโยบายเศรษฐกิจทรัมป์ ให้คำมั่น "ยุติเงินเฟ้อ, ยุติการว่าจ้างจากภายนอก และขึ้นภาษีเพื่อปกป้องการผลิตของสหรัฐ, ลดข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อเพิ่มการผลิตพลังงาน, ลดภาษีให้แรงงาน เช่น ไม่เก็บภาษีทิป และขยายการลดภาษีเมื่อปี 2017 ตอนเป็นประธานาธิบดีสมัยแรกออกไป
เมื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งทยอยไปใช้สิทธิ มาตรวัดสำคัญบ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวต่อเนื่อง สำนักวิเคราะห์เศรษฐกิจรายงานว่า ไตรมาสสาม ของปีนี้เศรษฐกิจเติบโต 2.8% เงินเฟ้อทรงตัวที่ 2.4% ในเดือนก.ย. แต่อัตราการว่างงานยังคงเพิ่มขึ้นทะลุ 4.1% ในเดือนต.ค. เทียบกับ 3.8% ในเดือนต.ค.2023 เมื่อเป็นเช่นนี้นโยบายของใครจะดีกับเศรษฐกิจสหรัฐมากกว่า นิวส์วีค สอบถามจากผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก
มาร์ก แซนดี หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากมูดีส์ อะนาลิติกส์ กล่าวว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะดีขึ้น และคนงานอเมริกันจะได้รับความเป็นธรรมมากขึ้นถ้าแฮร์ริสได้เป็นประธานาธิบดี เนื่องจากนโยบายเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังไม่เปลี่ยนแปลง
ในฐานะประธานาธิบดี แทบจะแน่นอนว่าแฮร์ริสต้องรับมือกับสภาแตกแยกจึงแทบจะเปลี่ยนแปลงนโยบายเศรษฐกิจไม่ได้เลย
สองปีแรกของรัฐบาลแฮร์ริสจะเป็นการคงสถานภาพเดิมทางนโยบายไว้บ่งชี้ว่าการลดหย่อนภาษีบุคคลธรรมดาที่กำลังจะหมดอายุในช่วงปลายปี 2025 จะได้รับการขยายเวลาออกไป รวมถึงเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้นจาก Affordable Care Act
นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะเกิดการปฏิรูปการเข้าเมืองอย่างครอบคลุม เนื่องจากทั้งสองพรรคสนับสนุนกฎหมายดังกล่าวเมื่อหลายเดือนก่อน ซึ่งจะช่วยลดการลักลอบเข้าเมืองบริเวณชายแดนภาคใต้ แต่จะเปิดให้มีการเข้าเมืองถูกกฎหมายมากขึ้นสำหรับแรงงานมีทักษะ
ส่วนทรัมป์ มีแนวโน้มขึ้นภาษีแบบเหวี่ยงแห และเนรเทศคนเข้าเมืองผ่านการออกคำสั่งฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่ต้องเกี่ยวข้องกับสภาคองเกรสไม่ว่าพรรคใดครองเสียงข้างมาก นโยบายเหล่านี้จะส่งผลให้เงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น เศรษฐกิจเติบโตลดลง
หากพรรครีพับลิกันกวาดคะแนนเสียงท่วมท้น เป็นไปได้ว่าจะลดภาษีมากขึ้น เช่น ภาษีนิติบุคคล ซึ่งจะทำให้การขาดดุลเข้าสู่ระดับสำคัญ การขาดดุลจากการลดภาษีในเศรษฐกิจที่มีการจ้างงานเต็มที่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้เงินเฟ้อได้เช่นเดียวกัน และจะนำไปสู่การขึ้นภาษีขณะที่เศรษฐกิจชะลอลง
เศรษฐกิจสหรัฐขณะนี้แข็งแกร่ง และยืดหยุ่น สามารถรับมือพายุส่วนใหญ่ในปีหน้าได้ รวมถึงการเลือกตั้งประธานาธิบดี และผลการเลือกตั้ง
แน่นอนว่าการประเมินนี้ตั้งอยู่บนข้อสันนิษฐานที่ว่า ไม่มีความไม่สงบทางสังคมครั้งใหญ่เกิดขึ้น ประธานาธิบดีและสภาคองเกรสชุดหน้าสามารถตกลงกันได้ทันเวลาว่าจะเพิ่มหรือระงับเพดานหนี้ก่อนที่กระทรวงการคลังจะหมดเงินสด และผิดนัดชำระหนี้ในฤดูร้อนหน้า
เบรตต์ ไรอัน นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสแผนกสหรัฐ จากธนาคารดอยซ์แบงก์ ประเมินนโยบายเศรษฐกิจจากผู้สมัครทั้งสองมองว่า จะกระตุ้นการเติบโตได้เล็กน้อย สมมติฐานการวิเคราะห์อยู่ที่การขยายกฎหมายลดภาษีและการจ้างงานปี 2017 ออกไปอย่างเต็มที่ ในกรณีนี้การลดภาษีเพิ่มเติมของทรัมป์จะกระตุ้นการเติบโตได้ราว 0.4%-0.5% ตลอดสองปีข้างหน้า ส่วนการขยายลดภาษีมีลูก และภาษีเงินได้อาจกระตุ้นเศรษฐกิจได้ 0.2%-0.4% ตลอดสองปีข้างหน้า
แต่ถ้าเกิดสงครามการค้าเต็มรูปแบบจะลดทอนการเติบโตที่เป็นผลจากนโยบายอื่นๆ ของทรัมป์ และหักล้างการเติบโตตามสมมติฐานของดอยซ์แบงก์
สิ่งที่ต้องจับตาต่อจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐคือ ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนที่ส่งผลต่อเนื่องมาถึงประเทศในเอเชีย ซึ่งดูเหมือนมองว่าคามาลา แฮร์ริส น่าจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่าโดนัลด์ ทรัมป์
เว็บไซต์สเตรตส์ไทมส์ รายงานว่า การกลับสู่ทำเนียบขาวเป็นครั้งที่ 2 ของทรัมป์จะมาพร้อมกับการขึ้นภาษีมหาศาล และสงครามการค้ารอบใหม่ ซึ่งจะส่งผลรุนแรงต่อเครือข่ายการผลิตสินค้าให้จีนทั่วเอเชีย
ความต้องการอ่อนค่าเงินดอลลาร์ของเขาจะบั่นทอนความสามารถในการส่งออกของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และแรงกดดันให้ชาติเอเชียต้องเลือกข้างสหรัฐหรือจีนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เมื่อทรัมป์ให้ความสำคัญในการแข่งขันกับจีน
แฮร์ริสอาจเดินตามเส้นทางที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน วางไว้แล้วจึงคาดเดาได้มากกว่าทรัมป์ เธอมีแนวโน้มคว่ำบาตรอย่างมีเป้าหมายแต่เพิ่มจำนวนขึ้น
ลิว ชินตง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมมาเลเซีย ประเมินว่า ความแตกต่างระหว่างแฮร์ริสกับทรัมป์ไม่ได้อยู่ที่ “ทิศทางแต่เป็นความเข้มข้น” ทั้งสองคนไม่สามารถย้อนเวลากลับไปสู่โลกที่มีขั้วอำนาจเดียวแบบเรียบง่ายอย่างในอดีตได้
“แน่นอนว่าทรัมป์จะใช้แนวทางโดดเดี่ยวตัวเอง และอเมริกาต้องมาก่อนมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าแฮร์ริสจะสามารถนำโลกย้อนกลับไปเมื่อปี 1995 ตอนก่อตั้งดับเบิลยูทีโอได้” ลิว กล่าวโดยหมายถึงความหวังในการลดอุปสรรคทางการค้า และขยายการค้าโลกตอนเพิ่งก่อตั้งองค์การการค้าโลก
ขณะที่ เกร็ก โพลิง จากศูนย์ยุทธศาสตร์และการต่างประเทศศึกษา (ซีเอสไอเอส) ในกรุงวอชิงตัน กล่าวว่า ถ้าไม่มีวิกฤติใหญ่เกิดขึ้นประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้น่าจะผ่านทรัมป์เวอร์ชัน 2.0 ไปได้แบบไม่มีการสะดุดมากนักอย่างที่เคยเกิดขึ้นในสมัยแรก
แต่ความรู้สึกต่อสหรัฐอาจลดลง ความเชื่อมั่นในการนำของสหรัฐอาจลดลงมากระดับเลขสองหลัก ส่วนรัฐบาลสหรัฐเองจะพบว่า เมื่อทำโครงการริเริ่มใดจะหาแรงสนับสนุนทางการทูตได้ยากขึ้นทุกที
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์