โลกแตกแยกกีดกันการค้าเพิ่ม มาริษแนะ ‘ไทยต้องคุยทรัมป์’
มาริษ เสงี่ยมพงษ์ รับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัฐบาลนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ถึงนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ท่ามกลางบริบทโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แถมยังมีปัจจัยสำคัญเรื่องการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐมาเป็นประเด็นให้จับตา
กรุงเทพธุรกิจ และสื่อในเครือเนชั่น สัมภาษณ์พิเศษเจ้ากระทรวงบัวแก้ว ในช่วงเวลาที่ไทยกำลังใช้กรอบความร่วมมือพหุภาคีหนุนให้ไทยมีบทบาทนำในเวทีโลก แต่จะร่วมมืออย่างไร ให้ไทยรักษาจุดยืนไว้ได้ ไม่กลายเป็นการเลือกข้าง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ไม่ยากหาก “ทำถึง”
รัฐมนตรี มาริษ เปิดฉากสนทนาด้วยการเผยความรู้สึกว่า ตนเองเป็นนักการทูตมืออาชีพ ไม่เคยเป็นนักการเมืองจึงรู้สึกกดดัน แต่ในการทำงาน "ต้องมองผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก"
- เลือกตั้งสหรัฐ กับผลกระทบไทย
การพูดคุยเริ่มต้นด้วยประเด็นร้อน นั่นคือ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ทั้งโลกต้องจับตา รมว.มาริษ กล่าวว่า ไทยกับสหรัฐมีสัมพันธ์ยั่งยืน และดีมาก มาโดยตลอด ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ หรือนายกรัฐมนตรีของไทย ความสัมพันธ์ยังสำคัญเสมอตาม Treaty of Amity
ในอดีตไทยยึดโยงกับสหรัฐประเทศเดียว แต่ในบริบทโลกใหม่ที่มีประเด็นด้านภูมิรัฐศาสตร์มากมายไทยได้ค่อยๆ พัฒนาแนวทาง collective approach มีการประกาศปฏิญญากรุงเทพฯ ก่อตั้งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เมื่อวันที่ 8 ส.ค.2510 ยิ่งนับวันอาเซียนก็ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันอาเซียนคือ คู่ค้าสำคัญที่สุด
"ยิ่งตอนนี้โลกแตกเป็นฝักเป็นฝ่าย (fragmented world) เราต้องใช้พลังร่วมให้ไทยอยู่รอด ภายใต้บริบทความขัดแย้ง ไม่ว่าใครจะมาเป็นผู้นำสหรัฐหรือไทย เราต้องมีความสัมพันธ์กับสหรัฐอย่างยั่งยืนไปตลอด"
ทั้งนี้ การที่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กลับมานั่งในทำเนียบขาวอีกครั้งหนึ่ง และได้หาเสียงว่าจะใช้นโยบายต่อยอดจาก America First นั่นคือ Make America Great Again ทำให้หลายคนกังวลถึงการรับมือของไทย รมว.ต่างประเทศ กล่าวว่า ทั้งไทย และสหรัฐจะต้องคุยกันว่าจะส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันได้อย่างไร การกำหนดนโยบายต่างประเทศมีสองกรอบคือ กรอบทวิภาคี และพหุภาคีที่เกี่ยวข้องกันจึงต้องพิจารณาทั้งสองกรอบ
รมว.มาริษ กล่าวต่อไปว่า โลกเริ่มกลับมาแตกแยกกันอีกครั้ง
“Protectionism ต้องกลับมาแน่นอนในอนาคตเพราะกลไกระหว่างประเทศไม่สามารถใช้การได้” รัฐมนตรี กล่าวและว่า ดังนั้นหลักการสำคัญที่ไทยต้องยืนบนโลกนี้ให้ได้คือ ยึดมั่นใน
1. กฎหมายระหว่างประเทศ (International Law)
2. กฎบัตรสหประชาชาติ
"ไม่มีทางอื่นเพราะเราเป็นประเทศเล็ก" รมว.ย้ำและว่า ด้วยหลักการสองข้อดังกล่าวจะช่วยให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในเวทีโลกอย่างมีจุดยืนที่ชัดเจน รักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นหลัก
- กรอบพหุภาคีส่งเสริมบทบาทไทย
ขณะนี้ไทยเข้าร่วมในกรอบความร่วมมือหลายกรอบ เช่น เมื่อวันที่ 30 ต.ค.67 กระทรวงการต่างประเทศและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จัดงานเปิดตัวกระบวนการหารือเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (โออีซีดี) โดย มาทีอัส คอร์มันน์ (H.E. Mr. Mathias Cormann) เลขาธิการโออีซีดี เข้าร่วมงานด้วย หรือการแสดงความประสงค์เข้าร่วมกลุ่ม BRICS ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (emerging economies) หรือที่เรียกว่ากลุ่มโลกใต้ (global south) รมว.กล่าวว่า ไทยมีความก้าวหน้ามากกว่าประเทศกำลังพัฒนาเรียกได้ว่าเป็นประเทศเศรษฐกิจใหม่แล้ว และการเข้าร่วมมือในกรอบพหุภาคีเหล่านี้จะเน้นบทบาทของไทยมากยิ่งขึ้น
กระนั้น น่าสังเกตว่าแม้ไทยเข้าร่วมกรอบความร่วมมือพหุภาคีอย่างหลากหลาย แต่การเข้าร่วมกับบางกลุ่มกลับถูกครหาว่า “ไทยเลือกข้าง” รัฐมนตรีชี้แจงว่า ประเทศไทยมีมิตรมาโดยตลอดไม่มีศัตรู ความสัมพันธ์ทวิภาคีของไทยกับประเทศต่างๆ ไม่เคยมีปัญหา ไม่ว่าจะเป็นกับอิหร่าน รัสเซีย อินเดีย จีน ทั้งยังมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐ และโลกตะวันตกมาโดยตลอด
"อย่างไรก็ตาม เราต้องมีจุดยืนที่ชัดเจน กลุ่ม global south คือ ผลประโยชน์สำคัญของไทย เป็นกลุ่มที่ใหญ่มาก แม้เราเป็นมิตรกับทุกประเทศแต่ต้องมีจุดยืนนั่นคือ ผลประโยชน์ของประเทศชาติ อะไรก็ตามที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติ ก็ต้องคุยกันว่าไม่ใช่"
รัฐมนตรีได้ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อสัปดาห์ก่อน มีการยิงจรวดเข้าไปในประเทศอิสราเอล เป็นเหตุให้คนไทยเสียชีวิตสี่ราย บาดเจ็บหนึ่งราย ตนจึงทำหนังสือไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ในฐานะที่ประเทศไทยเพิ่งได้รับเลือกเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (เอชอาร์ซี) ไทยจึงมีหน้าที่ต้องแสดงจุดยืนในเรื่องสำคัญ จึงขอให้ช่วยใช้ความยับยั้งชั่งใจเพื่อพยายามป้องกันไม่ให้ความขัดแย้งขยายตัวมากขึ้น พร้อมขอให้ทุกฝ่ายหยุดการกระทำที่จะนำไปสู่การขยายตัวของสงคราม และต้องมานั่งเจรจาเพื่อหาทางยุติข้อขัดแย้ง บนพื้นฐานของกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎบัตรสหประชาชาติเป็นหลัก ทั้งนี้จุดยืนของไทยคือ ยึดเอาผลประโยชน์ของประเทศชาติ และประชาชนเป็นที่ตั้ง
ส่วนความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์นั้น รัฐมนตรี มาริษ ย้ำว่า ไทยยึด “แนวทางสองรัฐ (2 states solution) มาโดยตลอด”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์