บุกทำเนียบ ‘ทูตสหรัฐ’ ลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดี

บุกทำเนียบ ‘ทูตสหรัฐ’  ลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดี

คืนวันอังคาร (5 พ.ย.) ซึ่งตรงกับเช้าวันพุธ (6 พ.ย.) ตามเวลาประเทศไทย สื่ออเมริกันกำลังรายงานผลการเลือกตั้งอย่างคึกคักในหลายระดับ แต่ที่ลุ้นที่สุดหนีไม่พ้นศึกชิงทำเนียบขาวระหว่างรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส จากพรรคเดโมแครต กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จากพรรครีพับลิกัน

แต่อีกฟากฝั่งหนึ่งของโลก ณ ไทยแลนด์แดนสยาม โรเบิร์ต เอฟ โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดทำเนียบบนถนนวิทยุให้แขกเหรื่อจากหลากหลายวงการรวมทั้งสื่อมวลชน ร่วมกิจกรรมติดตามผลการเลือกตั้งสหรัฐ 2567 บรรยากาศเป็นไปอย่างอบอุ่น สบายๆ สไตล์อเมริกัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายสื่อนำทีมโดยคริสโตเฟอร์ เฮล์มแคมป์ โฆษกสถานทูต คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้เป็นอย่างดี จะเดินเข้าเดินออก ตั้งกล้องถ่ายภาพนิ่งภาพเคลื่อนไหวได้หมดทุกที่ สมเป็นผู้นำโลกเสรีจริงๆ 

บุกทำเนียบ ‘ทูตสหรัฐ’  ลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดี

ได้เวลาอันสมควรท่านทูตบ๊อบแสดงสุนทรพจน์ที่ฟังเผินๆ ก็เป็นถ้อยแถลงทางการทูตทั่วไป แต่หากตั้งใจพิจารณาโดยละเอียดเจอคีย์เวิร์ดสำคัญควรค่าแก่การถอดรหัส เช่น “การออกเสียงเลือกตั้งของผู้คนหลายล้านคนสะท้อนให้เห็นถึง‘การปกครองตนเอง’ เราเห็นสิ่งที่ประธานาธิบดีอับราฮัม ลินคอล์น ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนในสุนทรพจน์ที่เมืองเกตตีสเบิร์กว่าเป็น ‘การปกครองของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน’" บุกทำเนียบ ‘ทูตสหรัฐ’  ลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดี

“ประชาธิปไตยมิได้ไร้ที่ติ แต่ประชาธิปไตยก็เป็นระบบที่ดีที่สุดที่เรามี บรรดาชายและหญิงผู้กล้าในประวัติศาสตร์ได้สละชีวิตของตนเพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยนี้”

แม้นี่เป็นการเลือกตั้งสหรัฐแต่ท่านทูตก็ได้เชื่อมโยงถึงประสบการณ์จากการได้ใช้ชีวิตในประเทศไทยมานานสองปี 

“ชาวไทยเองก็ให้ความสำคัญกับระบอบประชาธิปไตย เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่ค่านิยมของชาวอเมริกันเพียงเท่านั้น แต่เป็นค่านิยมของทั่วโลก และเป็นค่านิยมที่เรามีร่วมกันกับชาวไทย”

  หลังแถลงอย่างเป็นทางการทูตบ็อบเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสัมภาษณ์ในบรรยากาศเป็นกันเอง น่าสังเกตว่าสิ่งที่สื่อไทยกังวลมากเนื่องจากผลคะแนน ณ ช่วงเวลานั้นตามการรายงานของสื่อนอกชี้ไปในทางทรัมป์คว้าชัยชนะ คำถามคือหากทรัมป์ใช้นโยบายขึ้นภาษีจะส่งผลกระทบกับไทยอย่างไร ทูตย้ำว่า ในเดือน ม.ค.2568 สหรัฐจะมีประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอเมริกัน 

“ไม่ว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร ผมรับรองกับท่านได้ว่า สหรัฐจะยังคงเป็นหุ้นส่วนที่เข้มแข็งของไทย”

ประเด็นนี้สอดคล้องกับมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทยที่ให้สัมภาษณ์เมื่อสองวันก่อนการเลือกตั้งว่า ไม่ว่าใครจะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ หรือนายกรัฐมนตรีของไทย ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศยั่งยืนยาวนานไม่เปลี่ยนแปลง 

ส่วนประเด็นนโยบายที่ทรัมป์หาเสียงไว้เรื่องการขึ้นภาษี ทูตสหรัฐอธิบายเพิ่มเติม  สิ่งที่ผู้สมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีหาเสียงไว้ก็ต้องดูอีกทีว่าจะมาทำเป็นนโยบายอย่างไร และต้องผ่านการอนุมัติจากสภาคองเกรส แต่ไม่ว่าผลออกมาจะเป็นใคร “นี่คือสิ่งที่คนอเมริกันเลือก” 

สำหรับคนที่ลุ้นประธานาธิบดีหญิงตั้งแต่ฮิลลารี คลินตัน มาถึงแฮร์ริส อาจคิดว่าทำไมถึงได้ยากเย็นแสนเข็ญ มีอะไรที่เป็นอุปสรรคในสังคมอเมริกัน ทูตยอมรับว่า หากย้อนดูประวัติศาสตร์ผู้หญิงอเมริกันเพิ่งมีสิทธิเลือกตั้งเมื่อราว 100 ปีมานี่เอง ทั้ง ๆ ที่พวกเธอควรมีสิทธินี้มานานแล้ว สหรัฐพยายามต่อสู้เพื่อสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสม

“มาดูกันครับว่าชาวอเมริกันจะเลือกใคร ถ้าแฮร์ริสได้รับเลือกก็ถือเป็นสัญญาณบวก” ทูตกล่าว 

จากความเห็นของท่านทูตลองมาดูบรรยากาศโดยรวมของงานกันบ้าง นอกจากสื่อมวลชนแล้ว บรรดานักธุรกิจ นักวิชาการมากันอุ่นหนาฝาคั่ง รวมถึงนักการทูตระดับเอกอัครราชทูตที่ World Pulse คุ้นหน้าคุ้นตา เช่น ทูตอังกฤษ ออสเตรเลีย เคนยา สวีเดน สิงคโปร์ 

ช็อตที่ทูตบ็อบกับมาร์ค กูดดิ้ง เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทย ยืนคุยกันหนุงหนิงหน้าแผนที่ประเทศสหรัฐอันกว้างใหญ่ ชวนให้คิดว่า นี่คือตัวแทนจากสองประเทศต้นแบบประชาธิปไตยของโลก รายหนึ่งคือระบบประธานาธิบดี รายหนึ่งคือระบบรัฐสภา แม้ระบบต่างแต่หลักการเดียวกัน 

บุกทำเนียบ ‘ทูตสหรัฐ’  ลุ้นผลเลือกตั้งประธานาธิบดี

และการที่วันนี้ผู้คนที่เป็นสามัญชนคนธรรมดาจากหลากหลายวงการได้มาร่วมลุ้นกับผลการเลือกตั้งของประเทศมหาอำนาจ แสดงถึงพลังของคนธรรมดาที่มีส่วนร่วมในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ นั่นคือการเลือกตั้ง พลังแบบนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นกับประเทศที่ไม่ได้ใช้เสียงประชาชนตัดสินอนาคต แม้ประเทศเหล่านั้นจะได้ชื่อว่าเป็นมหาอำนาจก็ตาม