กำไร 7 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น กอดคอร่วง  57% ยอดขายดิ่ง เซ่นตลาดซบเซา

กำไร 7 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น กอดคอร่วง  57% ยอดขายดิ่ง เซ่นตลาดซบเซา

'7 ค่ายรถยนต์ญี่ปุ่น' เผชิญอุปสรรคตลาดซบเซา กดกำไรกอดคอร่วง 57% ยอดขายดิ่ง 4% 'เยนอ่อนค่า' ก็ไม่พอที่จะชดเชยต้นทุนที่สูงขึ้น

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่ากำไรสุทธิรวมในไตรมาส 3 ปี 2567 ของ 7 ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ Toyota, Honda, Nissan, Mazda, Suzuki, Subaru และ Mitsubishi Motors ร่วงลงถึง 57% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีมูลค่าอยู่ที่ 5,500 ล้านดอลลาร์ หรือราว 1.8 แสนล้านบาท

อุตสาหกรรมยานยนต์ญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และยอดขายที่ชะลอตัว ส่งผลให้กำไรลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นี่ถือเป็นการลดลงของกำไรสุทธิรวมที่ต่อเนื่องกันเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส และยอดขายของทั้ง 7 บริษัทลดลง 4% เหลือ 6.01 ล้านหน่วย

Nissan และ Mazda ประสบปัญหาขาดทุนสุทธิอย่างหนัก โดยนิสสันขาดทุน 9.3 พันล้านเยน และมาสด้าขาดทุน 14.4 พันล้านเยน

Subaru และ Suzuki เป็นเพียงสองบริษัทเท่านั้นที่สามารถสร้างกำไรรายไตรมาสได้เพิ่มขึ้น Subaru มียอดขายที่แข็งแกร่งในสหรัฐอเมริกา ขณะที่ Suzuki สามารถเพิ่มยอดขายในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ อุตสาหกรรมยานยนต์ทั่วโลกกำลังเผชิญกับความท้าทายครั้งใหญ่ เมื่อผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่หลายแห่งประกาศแผนการปรับลดกำลังการผลิต และเลิกจ้างพนักงาน

  • Nissan

ยักษ์ใหญ่จากญี่ปุ่นประกาศเมื่อวันพฤหัสบดี ว่า จะเลิกจ้างพนักงานทั่วโลก 9,000 คน ส่งผลให้กำลังการผลิตลดลง 20% เพื่อลดต้นทุน และปรับตัวให้เข้ากับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

  • Stellantis

ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากยุโรปที่มีแบรนด์ดังอย่าง Fiat, Peugeot และ Chrysler เตรียมเลิกจ้างพนักงาน 1,100 คนในโรงงานของสหรัฐ

  • Volkswagen

ยักษ์ใหญ่จากเยอรมนี มีแผนจะปิดโรงงานอย่างน้อย 3 แห่งในเยอรมนี และเลิกจ้างพนักงานหลายหมื่นคน เพื่อปรับโครงสร้างองค์กร และลดต้นทุน

'เยนอ่อนค่า' หนุนกำไร

ในช่วงต้นปี 2024 อุตสาหกรรมยานยนต์เผชิญความท้าทายจากการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน และการขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ แม้สถานการณ์นี้จะทำให้ผู้ผลิตสามารถขึ้นราคาได้ง่ายขึ้น แต่การฟื้นตัวที่ช้าได้นำไปสู่การแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้นในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา และผู้ผลิตต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้นจากการสนับสนุนทางการเงินให้ตัวแทนจำหน่ายในสหรัฐ การลงทุนพัฒนายานยนต์ไฟฟ้า เทคโนโลยีการขับเคลื่อนอัตโนมัติ รวมถึงนวัตกรรมต่างๆ และต้นทุนแรงงานที่เพิ่มขึ้น

แม้เงินเยนที่อ่อนค่าจะช่วยเพิ่มกำไรสุทธิของผู้ผลิตรถยนต์ทั้ง 7 ราย รวม 240,000 ล้านเยนในไตรมาสที่ 3 แต่เมื่อยอดขายชะลอตัวลง ผลดีจากค่าเงินก็ไม่เพียงพอที่จะชดเชยต้นทุนที่พุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านการพัฒนา และแรงงานที่ทำให้กำไรสุทธิลดลงถึง 440,000 ล้านเยน

ลงทุนเทคใหม่ ฉุดกำไรร่วง

โตโยต้า มอเตอร์  ยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตรถยนต์ของญี่ปุ่น ประกาศปรับลดคาดการณ์กำไรสุทธิประจำปีลง 830,000 ล้านเยน ซึ่งเป็นผลมาจากการลงทุนอย่างหนักในด้านทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาธุรกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังก้าวเข้าสู่ยุคของรถยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีใหม่ๆ

โยอิจิ มิยาซากิ รองประธานบริหารของโตโยต้า กล่าวว่า "เราจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของห่วงโซ่อุปทาน"

ในขณะเดียวกัน ฮอนด้า ซึ่งเป็นอีกหนึ่งผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของญี่ปุ่น ก็เผชิญกับความท้าทายที่คล้ายคลึงกัน โดยผลประกอบการในไตรมาสล่าสุดของฮอนด้าได้รับผลกระทบจากต้นทุนการวิจัย และพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าที่สูงขึ้น ทำให้กำไรลดลงถึง 52.9 พันล้านเยน

ตลาดรถยนต์ซบเซา

นอกจากนี้ ตามข้อมูลจาก GlobalData บริษัทวิเคราะห์ข้อมูลคาดการณ์ว่าความต้องการรถยนต์ทั่วโลกจะเติบโตเพียง 2% ในปีนี้เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่าอัตราการเติบโตที่เคยสูงถึง 10% ในปีที่ผ่านมา

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่กดดันผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นคือ การแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายใหม่ โดยเฉพาะบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าจากจีนอย่าง BYD ที่กำลังขยายฐานการผลิตไปทั่วโลก ทั้งในจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และอเมริกาใต้ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญของผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น

อ้างอิง Nikkei

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์