นโยบายกระตุ้น ‘คนรุ่นใหม่มีลูก’ ไร้ผล ยอดเด็กแรกเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์

นโยบายกระตุ้น ‘คนรุ่นใหม่มีลูก’ ไร้ผล ยอดเด็กแรกเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์

วิกฤติประชากรในจีนทวีความรุนแรงขึ้น หลังยอดเด็กเกิดใหม่ดิ่งลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.02 ล้านคนในปีที่ผ่านมา สวนทางกับความพยายามของรัฐบาลที่ทุ่มงบมหาศาลผลักดันนโยบายส่งเสริมการมีบุตร ทั้งขยายวันลาคลอด เพิ่มเงินลดหย่อนภาษี และสนับสนุนที่อยู่อาศัย

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระวันนี้ (12 พ.ย.) ว่า ความพยายามที่ผ่านมาของสี จิ้นผิง ในการแก้ไขวิกฤติทางด้านประชากรปรับตัวลดน้อยลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเด็กแรกเกิดยังไม่เกิดประสิทธิภาพมากนัก

แม้ว่าที่ผ่านมาจีนจะเริ่มผ่อนคลาย “นโยบายลูกคนเดียว” ที่บังคับใช้อย่างเข้มงวดมาเกือบทศวรรษแล้ว ทว่าอัตราการเกิดก็ยังคงดิ่งลง โดยมีทารกเกิดใหม่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 9.02 ล้านคนในปีที่แล้ว

ทั้งนี้ บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์โนมูระ เปิดเผยข้อมูล ณ​เดือน พ.ย. ว่า นอกจากจำนวนเด็กแรกเกิดจะน้อยลงแล้ว จำนวนการจดทะเบียนสมรสใหม่ยังลดลง 25% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่สามของปีก่อนหน้าซึ่งบ่งชี้ว่ายอดรวมทั้งปีจะลดลงเหลือ 6.4 ล้านคู่ ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปี 2522

ลอเรน จอห์นสตัน รองศาสตราจารย์จากศูนย์จีนศึกษา มหาวิทยาลัยซิดนีย์ กล่าวว่า แทนที่จะพยายามกระตุ้น "การเกิดให้เพิ่มขึ้น" อย่างมีนัยสำคัญ แต่นโยบายของจีนจนถึงตอนนี้กลับเป็นเรื่องของ "การสนับสนุนครอบครัวและอนุญาตให้ผู้ที่ต้องการมีลูกคนที่สองหรือสามสามารถทำได้ง่ายขึ้นและค่าใช่จ่ายไม่มาก"

เธอกล่าวว่ามาตรการล่าสุดเป็น "ก้าวเล็กๆ ในวาระระยะยาว"

เมื่อเดือนที่แล้ว ทางการจีนประกาศแผนขั้นสูงเกี่ยวกับเงินอุดหนุนและการลดหย่อนภาษีสำหรับครัวเรือนที่มีเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี มาตรการดังกล่าวยังขยายการลาคลอดจาก 98 วันเป็น 158 วัน เมื่อปีที่แล้ว รวมทั้งได้เพิ่มการลดหย่อนภาษีสำหรับการดูแลเด็กเป็นสองเท่าเป็น 2,000 หยวน (280 ดอลลาร์) ต่อเดือน

การเกิดในจีน มีแนวโน้มลดลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่รัฐบาลนำ "นโยบายลูกคนเดียว" มาใช้ทั่วประเทศในปี 2523 ในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา สหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ ว่า จีนประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับสองของโลก มีแนวโน้มที่จะสูญเสียประชากรมากกว่าครึ่งภายในปี 2643 ซึ่งเป็นการลดลงที่มากที่สุดในบรรดาประเทศทั้งหมด

แฮร์รี่ เมอร์ฟี ครูซ นักเศรษฐศาสตร์จาก Moody's Analytics กล่าวว่า "อารมณ์ค้าง" จากนโยบายลูกคนเดียวยังคงอยู่และ "เปลี่ยนการรับรู้ของคนหนุ่มสาวเกี่ยวกับครอบครัวอย่างถึงรากถึงโคน" เขากล่าวเสริมว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ช้าลงยังทำให้ "คนหนุ่มสาวลังเลหรือชะลอแผนการสร้างครอบครัวอีกด้วย"

 

"มันเป็นภารกิจที่ยากมากและไม่มีทางลัดในการเพิ่มอัตราการเจริญพันธุ์"ครูซกล่าว

ข้อมูลจากธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) แสดงให้เห็นว่า อัตราการเจริญพันธุ์ ซึ่งหมายถึงจำนวนการเกิดต่อผู้หญิงหนึ่งคน อยู่ที่ 1.2 ในจีนสำหรับปี 2565 ซึ่งต่ำกว่าสหรัฐที่ 1.7 ที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายการเปิดรับผู้อพยพที่เปิดกว้างกว่า

ออสติน ชูมัคเกอร์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์การวัดสุขภาพที่สถาบันการวัดและประเมินผลสุขภาพ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ให้ข้อมูลว่า สัดส่วนการเกิด “แบบมีชีพ” คาดว่าจะลดลงเหลือประมาณ 3% ในปี 2643 จาก 8% ในปี 2564

"การศึกษาเกี่ยวกับนโยบายส่งเสริมการเกิดต่างๆ ในปัจจุบันแสดงให้เห็นเพียงการเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเท่านั้น ซึ่งการคาดการณ์ของเราแสดงว่าจะไม่เพียงพอที่จะพลิกกลับการลดลงของประชากร" ชูมัคเกอร์กล่าว พร้อมอธิบายเสริมว่า "อย่างไรก็ตาม ด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ และการวิจัยเพื่อปรับปรุงความพยายามในปัจจุบันและพัฒนาสิ่งใหม่ๆ อาจทำให้ปัญหาล่าสุดของจีนดีขึ้นได้"

บทวิเคราะห์ของซีเอ็นบีซี ระบุว่า ปัจจัยที่กดดันครอบครัวในจีนมากขึ้นอย่างต่อเนื่องคือรายได้สำหรับเลี้ยงดูบุตรไม่แน่นอน 

หลังจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วหลายทศวรรษ เศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง ถูกฉุดจากภาวะซบเซาในภาคอสังหาริมทรัพย์ การปราบปรามธุรกิจกวดวิชา เกม การเงิน และบริษัทแพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต ยังส่งผลกระทบต่อการจ้างงานในอุตสาหกรรมที่เคยเป็นที่นิยมในหมู่บัณฑิตจบใหม่

อัตราการว่างงานของเยาวชนจีน (วัดจากผู้ที่มีอายุ 16 ถึง 24 ปีและไม่ได้อยู่ในระบบการศึกษา) เพิ่มขึ้นสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 18.8% ในเดือนส.ค. และลดลงเล็กน้อยในเดือนก.ย.

"ปัญหาที่แท้จริงคือผู้คนไม่มีความมั่นใจว่าจะสามารถหาเลี้ยงตัวเองได้ แล้วจะไปคิดถึงการมีเงินพอเลี้ยงลูกได้อย่างไร" เชียน่า เยว่ นักเศรษฐศาสตร์จาก Oxford Economics กล่าว

พร้อมอธิบายเสริมว่า มาตรการที่ "จริงจัง" ในการเพิ่มรายได้และบรรเทาค่าครองชีพของครัวเรือนจะช่วยในการปรับปรุงทัศนคติเกี่ยวกับการมีบุตรในจีนได้อย่างมาก

หน่วยงานสาธารณสุขแห่งชาติได้พยายามส่งเสริมให้ธุรกิจสนับสนุนการลาคลอดในปีนี้ โดยเน้นย้ำถึงการมีกองทุนของรัฐที่จะจ่ายเงินให้พนักงานหญิงที่คลอดบุตร

แรงกดดันของการใช้ชีวิตในเมือง

นักวิชาการส่วนหนึ่งสังเกตเห็นความเชื่อมโยงระหว่างการขยายตัวของเมืองและอัตราการเกิดที่ลดลง โดยงานวิจัยจากธนาคารโลกระบุว่าชาวอเมริกันประมาณ 83% อาศัยอยู่ในเมืองช่วงปี 2566 ในขณะที่ตัวเลขของจีนช่วงเวลาเดียวกันอยู่ที่ 65% ซึ่งตัวเลขดังกล่าวของจีนเพิ่มขึ้นจากเพียง 19% ในปี 2523 ในขณะที่ ณ เวลานั้น อัตราการขยายตัวของเมืองในสหรัฐอยู่ใกล้เคียงระดับปัจจุบันที่ 74%

ดาร์เรน เทย์ หัวหน้าฝ่ายความเสี่ยงประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของ BMI กล่าวว่า "ตารางการทำงานที่วุ่นวายและเครียด" ในเมืองใหญ่มักไม่ส่งเสริมให้ประชาชนอยากแต่งงานและมีบุตร ซึ่งอาจ "ลดทอนผลเชิงบวกของมาตรการจูงใจที่มีไว้เพื่อส่งเสริมการเกิด"

บทวิเคราะห์ของโนมูระกล่าวว่า สัดส่วนประชากรจีนอายุ 20-39 ปีลดลงอย่างมีนัยสำคัญซึ่งบ่งชี้ว่าการแต่งงานในอนาคตจะน้อยลง

ตัวเลขทั้งหมดชี้ให้เห็นว่าอัตราการเกิดอาจน้อยลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เว้นแต่จะมี "การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในแรงจูงใจสำหรับคู่สมรส" โดยในการประชุมรัฐสภาประจำปีในเดือนมี.ค. ปักกิ่งอาจประกาศการใช้จ่ายประจำปีสูงถึง 500,000 ล้านหยวน (70,000 ล้านดอลลาร์) เพื่อกระตุ้นการเกิด

ขาดแรงจูงใจที่จะมีลูก

บทวิเคราะห์ของซีเอ็นบีซีระบุว่า มีความเป็นไปได้ว่าคนรุ่นใหม่ในจีนจะขาดแรงจูงใจที่เหมาะสมในการมีบุตรและมีครอบครัว ในขณะที่บางขั้นตอนอาจล่วงล้ำข้อมูลที่หลายสังคมถือว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ตัวอย่างเช่น โพสต์ออนไลน์บางรายการในปีนี้อ้างว่านักสังคมสงเคราะห์ท้องถิ่นในจีนโทรหาผู้หญิงอย่างไม่เลือกหน้าเพื่อถามว่าตั้งครรภ์หรือไม่ และกดดันให้พวกเธอรับกรดโฟลิกโดยไม่มีค่าใช้จ่าย

นโยบายล่าสุดของรัฐบาลกลางมอบหมายให้หน่วยงานท้องถิ่นจัดตั้งงบประมาณสำหรับศูนย์ดูแลเด็กของรัฐ และผ่อนคลายข้อจำกัดของเงินกู้ที่อยู่อาศัยสำหรับครอบครัวที่มีบุตรมากกว่าหนึ่งคน ซึ่งปล่อยให้การดำเนินการขึ้นอยู่กับหน่วยงานท้องถิ่น ซึ่งหลายแห่งประสบปัญหาทางการเงินอยู่แล้ว

เทียนเฉิน ซู นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสจาก Economic Intelligence Unit ชี้ให้เห็นว่านโยบายเพื่อส่งเสริมการเกิดก่อนหน้านี้ "ไม่สอดคล้องและไม่เพียงพอ" เพราะมาตรการต่างๆ ขึ้นอยู่กับการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นและความเต็มใจที่จะให้ความสำคัญกับมาตรการเหล่านี้

ซูกล่าวว่า เพื่อพลิกกลับอัตราการเกิดที่ลดลง จีนต้องมี "การผสมผสานของแรงจูงใจทางการเงินโดยตรงที่แข็งแกร่ง" โดยเฉพาะเงินอุดหนุนและสิทธิประโยชน์ด้านที่อยู่อาศัย

อ้างอิง: CNBC