‘Grab’ ไม่ขาดทุนแล้ว หุ้นพุ่งกว่า 15% คาดกำไรทั้งปีสูงกว่าคาด กลยุทธ์ลดต้นทุนเริ่มเห็นผล

‘Grab’ ไม่ขาดทุนแล้ว หุ้นพุ่งกว่า 15% คาดกำไรทั้งปีสูงกว่าคาด กลยุทธ์ลดต้นทุนเริ่มเห็นผล

หุ้น ‘Grab’ พุ่งทะยาน หลังประกาศผลประกอบการที่แข็งเกินคาด ส่งสัญญาณบวกถึงความสามารถในการทำกำไรและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากกลยุทธ์ลดต้นทุนและการขยายฐานลูกค้าในอาเซียน

หุ้น“แกร็บ” (Grab) พุ่งทะยานสูงสุดถึง 15% ในช่วงท้ายของการซื้อขายในตลาดหุ้นสหรัฐ หลังจากบริษัทผู้นำด้านบริการเรียกรถในภูมิภาคอาเซียนรายนี้ ประกาศ “ปรับเพิ่มประมาณการผลกำไร” สำหรับปีนี้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักมาจากการปรับลดต้นทุนเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่ดุเดือดในตลาด

บริษัทคาดการณ์กำไรทั้งปี (กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย) ไว้ที่ 308-313 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 270 ล้านดอลลาร์ ส่วนกำไรในไตรมาสที่สามอยู่ที่ 90 ล้านดอลลาร์ สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 66.2 ล้านดอลลาร์ และ Grab ยังทำกำไรสุทธิเป็นครั้งที่สองอีกด้วย

ทั้งนี้ Grab กำลังพิสูจน์ให้เห็นประสิทธิผลของ “กลยุทธ์ลดต้นทุน” โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การสร้างผลกำไรที่ยั่งยืน หลังจากหลายปีที่มุ่งขยายตลาดและฟาดฟันกับคู่แข่ง

อย่างไรก็ตาม Grab ยังคงต้องรักษาสมดุลระหว่างการเติบโตและผลกำไรท่ามกลางสภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากคู่แข่งรายสำคัญอย่าง GoTo Group ของอินโดนีเซีย ซึ่งส่งผลกระทบต่ออัตรากำไรในธุรกิจเรียกรถและจัดส่งอาหาร

หุ้นของ Grab พุ่งสูงสุดที่ 5.04 ดอลลาร์ในการซื้อขายนอกเวลาทำการ หลังจากปิดตลาดปกติที่ 4.38 ดอลลาร์ โดยหุ้นของ Grab ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่ร้อนแรงที่สุดของอาเซียน เคยร่วงลงประมาณ 60% นับตั้งแต่ปลายปี 2021 

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Grab ได้ก้าวขึ้นมาโดดเด่นในปีนี้ เนื่องจากมีการขาดทุนลดลง และเริ่มเอาชนะคู่แข่งหลักในภูมิภาคอย่าง GoTo ของอินโดนีเซีย

สำหรับรายได้ในปีนี้ Grab คาดการณ์ว่าจะสูงถึง 2,780 ล้านดอลลาร์ จาก 2,750 ล้านดอลลาร์ ตามที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ ส่วนรายได้ในไตรมาสที่สามเพิ่มขึ้น 17% เป็น 716 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับ 697 ล้านดอลลาร์ที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้

ก่อนหน้านั้น การเติบโตของ Grab ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก Uber Technologies ได้ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด จากอัตราการเติบโตที่สูงมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมผู้บริโภคในภูมิภาคที่ปรับตัวลดการใช้จ่าย เพื่อรับมือกับภาวะเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น อีกทั้งฐานลูกค้าของ Grab ที่ขยายตัวขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ความต้องการบริการเติบโตในอัตราที่ช้าลง โดยเฉพาะในภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน ผู้บริโภคจึงเลือกใช้บริการเรียกรถหรือสั่งอาหารน้อยลง

อย่างไรก็ตาม Bloomberg Intelligence คาดการณ์ว่า การเติบโตด้านรายได้ของ Grab อาจชะลอตัวเล็กน้อยในไตรมาสที่ 3 ก่อนที่จะมีแนวโน้มฟื้นตัวในไตรมาสที่ 4 ซึ่งอาจได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของคำสั่งเรียกรถจากนักท่องเที่ยวจีนที่มาเยือนภูมิภาคอาเซียนในช่วงเทศกาลวันหยุดใหญ่ของจีน

ด้าน Grab แสดงความมั่นใจในศักยภาพการเติบโตระยะยาวในภูมิภาคอาเซียน โดยมีฐานผู้ใช้รายเดือนสูงถึง 42 ล้านคน ขณะที่ตลาดในภูมิภาคที่มีประชากรกว่า 650 ล้านคนยังคงเปิดกว้างสำหรับการขยายตัว

ปีเตอร์ เอย ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินของ Grab กล่าวในการให้สัมภาษณ์ว่า “เราเชื่อมั่นในอนาคตอันสดใสของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ เราสังเกตเห็นสัญญาณบวกจากการที่ผลกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) สามารถแปลงเป็นกระแสเงินสดอิสระได้เป็นอย่างดี ซึ่งเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงสุขภาพทางการเงินของบริษัท”


อ้างอิง: bloomberg