นักเศรษฐศาสตร์โนเบล เตือน ‘ทรัมป์’ เนรเทศต่างชาติจะส่งราคาอาหารพุ่งสูง
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลเตือน การเนรเทศชาวต่างชาติที่อาศัยในสหรัฐอย่างผิดกฎหมาย จะทำให้ราคาอาหาร และราคาบ้านในสหรัฐพุ่งสูงขึ้นอีก
พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล เขียนบทความลงในสื่อใหญ่นิวยอร์กไทมส์ของสหรัฐ เตือนว่า นโยบายเนรเทศคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจำนวนมาก จะทำให้ราคาอาหาร และราคาบ้านในสหรัฐสูงขึ้นไปอีก เพราะแรงงานต่างชาติมีบทบาทสำคัญต่อทั้งการเกษตร การแปรรูปอาหาร และภาคการก่อสร้าง
ทั้งนี้ กระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิสหรัฐ ประเมินว่า มีคนอาศัยอยู่ในสหรัฐโดยผิดกฎหมายมีมากถึง 11 ล้านคน ณ เดือนมกราคม 2022 นักวิเคราะห์ต่างชี้ว่า ปัจจัยทางเศรษฐกิจทำให้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะ เหนือรองประธานาธิบดีคามาลา แฮร์ริส ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน คือ กลุ่มคนแรงงานหรือคนผิวสี โดยเฉพาะคนที่ไม่พอใจเรื่องราคาสินค้าแพงขึ้นในสมัยไบเดน-แฮร์ริส
บางคนบ่นว่า ไข่หนึ่งโหลราคาแพงขึ้นเป็น 5 ดอลลาร์ เทียบกับสมัยแรกของทรัมป์ที่ 1 ดอลลาร์ หรือ 99 เซนต์ ฝ่ายทรัมป์หาเสียงด้วยว่า แรงงานต่างชาติผิดกฎหมายมาแย่งงานคนอเมริกัน แย่งทรัพยากร ทำให้ราคาบ้านสูงขึ้น และก่ออาชญากรรมต่างๆ
ครุกแมน เท้าความถึงประเด็นข้อถกเถียงการขาดดุลงบประมาณสูงว่าจะทำให้เกิดเงินเฟ้อหรือไม่ โดยองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ศึกษา และวิจัยงบประมาณรัฐบาลกลางสหรัฐ (Committee for a Responsible Federal Budget) เคยประเมินไว้ว่า แผนการลดภาษีของทรัมป์จะเพิ่มหนี้สาธารณะเกือบ 8 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงทศวรรษหน้า ทรัมป์อ้างว่าเขาสามารถชดเชยรายได้รัฐที่หายไปจากการลดภาษีด้วยรายได้จากการขึ้นภาษีศุลกากรต่อสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ และตัดรายจ่ายของรัฐบาลลง แต่ครุกแมนชี้ว่า คำกล่าวอ้างเหล่านั้นของทรัมป์ไม่สมจริงแต่อย่างใดเลย
ครุกแมน อธิบายว่า การขาดดุลงบประมาณ ไม่ได้ทำให้เกิดเงินเฟ้อเสมอไป โดยหลังจากวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2008 คำเตือนเกี่ยวกับเงินเฟ้อที่เกิดจากการขาดดุล พิสูจน์แล้วว่าผิด เพราะการขาดดุลไม่ก่อให้เกิดเงินเฟ้อในช่วงเศรษฐกิจที่ตกต่ำ
เขาชี้ว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ใช้จ่ายเงินจำนวนมากในปี 2021 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจและการจ้างงานตกต่ำมาก และผลกระทบจากเงินเฟ้อยังบรรเทาลงเพราะมีแรงงานย้ายถิ่นฐานเข้าสหรัฐเพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้กำลังแรงงานขยายตัว และช่วยสร้างศักยภาพการผลิตสามารถตอบสนองต่อความต้องการที่สูงขึ้นได้
อย่างไรก็ตาม ครุกแมน กล่าวว่า ทรัมป์จะดำรงตำแหน่งในวาระที่สอง ขณะที่ช่วงนี้เศรษฐกิจมีการจ้างงานเต็มที่แล้ว การที่ทรัมป์จะเนรเทศคนจำนวนมากจะทำให้กำลังการผลิตลดลง และการขาดดุลงบประมาณมาก จะทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอีกครั้งแน่นอน
เขาย้ำว่า โดยเหตุนี้ทรัมป์จะสามารถรักษาคำมั่นเกี่ยวกับนโยบายการลงโทษคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย แต่เขาจะผิดสัญญาทำให้ราคาสินค้าลดลงเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภคชาวอเมริกัน
“หากคุณไม่พอใจกับราคาอาหารในตอนนี้ ลองดูว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากทรัมป์ไล่ล่าแรงงานในภาคเกษตรจำนวนมาก ผู้อพยพมีประมาณสามในสี่ของแรงงานในภาคเกษตร และประมาณครึ่งหนึ่งเป็นผู้ไม่มีเอกสาร”
“ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารยังมีบทบาทสำคัญในการแปรรูปอาหาร ตัวอย่างเช่น พวกเขาคิดเป็นประมาณ 30% ถึง 50% ของแรงงานในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์ หากแรงงานเหล่านี้ถูกเนรเทศ อุตสาหกรรมอาหารอาจประสบปัญหาอย่างมากในการหาแรงงานมาทดแทน แม้ในกรณีทางออกที่ดีที่สุด อุตสาหกรรมจะต้องเสนอให้ค่าจ้างที่สูงขึ้น และแน่นอนว่าค่าจ้างที่สูงขึ้นเหล่านี้จะถูกส่งต่อไปยังราคาอาหารที่จะปรับสูงขึ้น”
ในขณะที่สหรัฐผลิตอาหารส่วนใหญ่เพื่อการบริโภคในประะเทศ แต่สหรัฐก็นำเข้าอาหารจำนวนมากเช่นกัน ซึ่งราคาจะเพิ่มขึ้นจากแผนการขึ้นภาษีศุลกากรของทรัมป์
ต้นทุนที่อยู่อาศัยจ่อพุ่ง
ครุกแมนยังชี้ให้เห็นว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการเนรเทศแรงงานจำนวนมาก ไม่ใช่แค่เรื่องของราคาอาหารเท่านั้น แต่ยังรวมถึงต้นทุนที่อยู่อาศัยด้วย
“คำตอบสำหรับปัญหาราคาบ้านแพงคือ การสร้างหน่วยที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม แต่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารมีมากกว่าหนึ่งในห้าของกำลังแรงงานก่อสร้าง ดังนั้นการเนรเทศจะขัดขวางความพยายามในการเพิ่มอุปทานที่อยู่อาศัยอย่างรุนแรง”
ครุกแมนชี้ว่า ประเด็นนี้ ตรงกันข้ามกับความเชื่อของ เจ ดี แวนซ์ ผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีคู่กับทรัมป์ ที่เคยกล่าวโทษผู้อพยพเข้าเมืองว่าเป็นผู้ผลักดันต้นทุนที่อยู่อาศัยให้สูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา
ครุกแมนตั้งประเด็นว่า สหรัฐจะสามารถชดเชยการสูญเสียคนงานเหล่านี้ได้อย่างง่ายดายโดยแทนที่พวกเขาด้วยคนงานที่เกิดในประเทศหรือไม่ ?
เขาตอบว่า “ไม่” เพราะการจ้างงานในหมู่ผู้ใหญ่วัยต้นๆ ที่เกิดในประเทศนั้นสูงกว่าที่เคยเป็นในช่วงวาระแรกของทรัมป์ ปัจจุบันจึงไม่มีกลุ่มชาวอเมริกันพื้นเมืองที่ว่างงานที่พร้อมจะได้รับจ้างงานในจำนวนที่มากพอ
ทรัมป์จะทำอย่างไรหากอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น?
ครุกแมน ระบุว่า ในช่วงการหาเสียงของทรัมป์เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเท็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการย้ายถิ่นฐาน การจ้างงาน อัตราเงินเฟ้อ อาชญากรรม และอื่นๆ อีกมากมาย และกลวิธีหนึ่งที่ทรัมป์ใช้แย้งข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่าข้อกล่าวหาของเขาเป็นเท็จ ก็คือ การยืนกรานว่าข้อมูลที่กล่าวหานั้นเป็นข้อมูลปลอมๆ
“ดังนั้น หากเขาขึ้นอัตราภาษีศุลกากรสูง และดำเนินการตามแผนของเขาในการกวาดล้างผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารกำกับ กำลังแรงงานส่วนสำคัญของเราจะขาดหายไป และชาวอเมริกันจะเริ่มรู้สึกถึงผลที่ตามมาจากภาวะเงินเฟ้อสูง”
ครุกแมน กล่าวว่า อย่าคาดหวังว่าทรัมป์จะยอมรับว่าเขาคาดคะเนผิด สถานการณ์ที่น่าจะเป็นไปได้มากกว่าคือ เขาจะปฏิเสธความเป็นจริงหรือกล่าวโทษผู้อื่น และพยายามจะสั่งให้ราคาอาหารกลับมาลดลงอีกครั้ง
แต่ถ้าคิดว่าประธานาธิบดีสามารถลดราคาไข่หนึ่งโหลได้ ก็ขอให้ดูตัวอย่าง กรณีวิกเตอร์ ออร์บัน นายกรัฐมนตรีของฮังการี ผู้ซึ่งทรัมป์ชื่นชม ได้พยายามควบคุมเงินเฟ้อด้วยการควบคุมราคาสินค้า แต่กลับกลายเป็นผลเสียอย่างร้ายแรงตามมา
ครุกแมนยังย้ำด้วยว่า อย่าลืมนึกถึงมิติด้านมนุษยธรรมด้วย การที่ผู้คนนับล้านเดินทางมาอเมริกาเพื่อสร้างชีวิตที่ดีกว่าให้กับตัวเองจะถูกจับกุม และส่งตัวออกไปนั้นช่างน่าสยดสยอง ความโหดร้ายของการเนรเทศที่ทรัมป์เสนอก็เป็นส่วนหนึ่งของประเด็นนี้ด้วย ส่วนการที่ทรัมป์ขายความคิดที่ว่าการขับไล่ผู้อพยพที่ไม่มีเอกสารออกไป จะช่วยสร้างโอกาสกินดีอยู่ดีทางเศรษฐกิจสำหรับชาวอเมริกันชนชั้นกลาง และชนชั้นแรงงานได้นั้น ถือเป็นอีกกรณีหนึ่งที่บ่งชี้วาทกรรม และการคำนวณของเขานั้นไม่สอดคล้องกัน
ครุกแมนเห็นว่า เงินเฟ้อไม่ใช่ปัญหาใหญ่ที่สุดสำหรับเขาในขณะนี้เลย แทบจะเป็นเรื่องเล็กน้อยเมื่อเทียบกับภัยคุกคามที่ทรัมป์จะก่อขึ้นหรือได้ก่อขึ้นแล้วต่อประชาธิปไตยของสหรัฐ
“แต่เรื่องนี้จะมีความสำคัญมากสำหรับคนอเมริกันหลายๆ คน รวมถึงผู้ที่ลงคะแนนให้เขาด้วย และอนาคตของประเทศจะขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาจะตอบสนองอย่างไร หากพวกเขาพบว่า พวกเขาเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับความสามารถของทรัมป์ในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ”
อ้างอิง: The New York Times
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์