คุยการเมืองเรื่องทรัมป์ เทรดวอร์และระเบียบโลกใหม่ กับศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

คุยการเมืองเรื่องทรัมป์ เทรดวอร์และระเบียบโลกใหม่ กับศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

“กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ ศ. ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ถึงผลของการกลับมาของทรัมป์ที่มีต่อระเบียบโลกและประชาธิปไตยสหรัฐ

การกลับมาของ “โดนัลด์ ทรัมป์” ในฐานะว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐจากพรรครีพับลิกันสร้างทั้งความตระหนักและตระหนกให้กับประชาคมโลกโดยเฉพาะประเด็นนโยบาย America First ที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระเบียบโลกครั้งใหญ่

ว่ากันว่าภายใต้การนำของทรัมป์ สหรัฐมีแนวโน้มที่จะถอยห่างจากบทบาทผู้นำโลกเสรีที่เคยดำรงมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง โดยหันมาเน้นการเจรจาแบบทวิภาคีที่มุ่งผลประโยชน์ระยะสั้นมากกว่าการรักษาพันธมิตรเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาว การถอนตัวจากข้อตกลงระหว่างประเทศสำคัญๆ อย่างความตกลงปารีสและองค์การอนามัยโลกในสมัยแรก สะท้อนให้เห็นถึงท่าทีที่เปลี่ยนไปของมหาอำนาจอันดับหนึ่งของโลก

ขณะเดียวกัน การที่ทรัมป์มีความสัมพันธ์อันดีกับผู้นำประเทศที่นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์จำนวนหนึ่งมองว่ามิได้ยึดถือหลักการประชาธิปไตย ไม่ว่าจะเป็นรัสเซีย จีน หรือเกาหลีเหนือ ก็ส่งสัญญาณว่าสหรัฐอาจไม่ได้ยึดมั่นในอุดมการณ์ดังกล่าวเหมือนในอดีต (?) การเมืองระหว่างประเทศกำลังเคลื่อนไปสู่ยุคที่ความสัมพันธ์ “ส่วนตัว” ระหว่างผู้นำมีความสำคัญมากกว่าค่านิยมร่วมหรือผลประโยชน์ระยะยาวของประเทศ

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานะความเป็นประชาธิปไตยของสหรัฐเอง หลังจากที่ทรัมป์ปฏิเสธผลการเลือกตั้งในปี 2020 จนนำไปสู่เหตุการณ์จลาจลที่รัฐสภาในวันที่ 6 ม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดของประชาธิปไตยอเมริกัน การแบ่งขั้วทางความคิดที่รุนแรงขึ้น ประกอบกับวิธีการหาเสียงที่เน้นการโจมตีคู่แข่งและการสร้างความเกลียดชัง ทั้งหมดล้วนส่งผลให้สถาบันจัดอันดับประชาธิปไตยระดับโลกจัดให้สหรัฐเป็นเพียง "ประชาธิปไตยที่บกพร่อง"

แม้ว่าทรัมป์จะยังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งอย่างเป็นทางการ แต่ทิศทางนโยบายต่างประเทศที่เขาวางไว้ก็มีความเป็นไปได้ว่าทั้งโลกกำลังจะเข้าสู่ยุคใหม่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะซับซ้อนและไม่แน่นอนมากขึ้น เพื่อทำความเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น “กรุงเทพธุรกิจ” ชวนพูดคุยกับ ศ. ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองระหว่างประเทศอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรมหาวิทยาลัย ถึงผลของการกลับมาของทรัมป์ที่มีต่อระเบียบโลกและประชาธิปไตยสหรัฐ

คุยการเมืองเรื่องทรัมป์ เทรดวอร์และระเบียบโลกใหม่ กับศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

 

ประชาธิปไตยวัดออกมาเป็นตัวเลขได้หรือไม่และอาจารย์มองสถานะประชาธิปไตยในสหรัฐในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาอย่างไรบ้าง

ประชาธิปไตยวัดได้ แต่ละปีจะมีองค์กรและหน่วยงานที่วัดดัชนีประชาธิปไตยของทั้งโลกอย่าง Democracy Index ของ Economic Intelligence United หรือของ Freedom House

แล้วแต่ละประเทศก็มีขึ้นและมีขาลงอย่างของไทยถ้ามีรัฐประหารเราก็ลงแน่นอน ถ้ามีเลือกตั้งเราก็ขึ้น

ถามว่าประชาธิปไตยสหรัฐขาลงหรือไม่ โดยภาพรวมขาลงจริงๆ ตอนอย่าง Economic Intelligence United ให้อเมริกาเป็น Flawed Democracy หรือประชาธิปไตยที่บกพร่องและมีตําหนิมาสักระยะหนึ่งแล้ว

ไม่ใช่เพราะทรัมป์อย่างเดียวชนะแต่เป็นเพราะช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนกว้างขึ้น การแบ่งเป็นขั้วทางความคิด (Polarization) ในสังคมและการเคารพความแตกต่างที่ลดลง เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นปัจจัยซึ่งวัดความเป็นประชาธิปไตยและในอเมริกาก็มีปัญหาเหล่านี้อยู่จริง

แล้วจุดไหนที่กราฟประชาธิปไตยสหรัฐเริ่มหักหัวลง

ถ้าช่วงหักลงจริงๆ คิดว่าน่าจะเป็นการเข้ามาของทรัมป์สมัยแรกในปี 2016

ถ้าอ้างอิงตามวรรณกรรมทางวิชาการ เราไม่ได้โทษทรัมป์อย่างเดียวแต่ว่าเป็นผลพวงของโครงสร้างสังคมที่พอมีการหลั่งไหลเข้ามาของผู้อพยพและอเมริกาเป็นแหล่งเสรีของผู้อพยพอยู่แล้ว คือทุกคนเข้ามาแสวงหาความความสุขความ แต่พอผู้อพยพมากขึ้นประสิทธิภาพของการจัดการปัญหาก็ลดลง ดังนั้นจึงเกิดความรู้สึกเป็นแบ่งเขาแบ่งเรา ซึ่งสุดท้ายก็กลายไปเป็นผู้สนับสนุสทรัมป์ ซึ่งจริงๆ กลุ่มพวกนี้มีมานานแล้ว

พอช่วงที่ทรัมป์ขึ้นมาอาจจะเป็นเรื่องของวิธีการหาเสียงที่เน้นการสร้าง“เคาท์ลีดเดอร์” หรือว่าลัทธิที่นิยมตัวบุคคล ก็เลยทําให้การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายทางความคิดชัดเจนขึ้น

แล้วจุดที่คิดว่าเป็นช่วงที่สุ่มเสี่ยงที่สุดก็คือปี 2020 ทรัมป์ไม่ยอมรับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งและมีการกระตุ้นให้คนออกมารวมตัวกันจนเกิดเหตุการณ์จลาจลในวันที่ 6 ม.ค. จุดนั้นน่าจะเป็นจุดที่เรียกว่าจุดตกต่ำของประชาธิปไตยในสหรัฐอเมริกา

ลักษณะการหาเสียงของทรัมป์ก็ต่างออกไปจากนักการเมืองสหรัฐช่วงก่อนๆ ด้วยไหมครับ

ในอเมริกาการใช้เฮทสปีชและการหาเสียงแบบสาดโคลนกันมันมีมาแล้วตั้งแต่สมัยนั้น 200 ปีที่แล้ว ตอนนั้นมีสิ่งที่เรียกว่า Attack Ads หรือการโฆษณาหาเสียงแบบโจมตีตัวบุคคล มีการใช้เรื่องความเป็นชู้สาวหรือกล่าวกาว่าผู้สมัครฯ เป็นนายพลที่ฆ่าคนมานับไม่ถ้วน

ดังนั้นสิ่งนี้ไม่ใช่เพิ่งเกิด เพียงแต่ว่าในยุคที่สื่อทีวีและโซเชียลมีเดียเข้าถึงคนทุกกลุ่มทุกอณูในสังคม ประเด็นเหล่านี้จึงแหลมคมขึ้น

แต่มีผู้สมัครจากรีพับลิกันคนหนึ่งที่ได้รับการนับถือว่าเป็นนักการเมืองที่เป็นสุภาพบุรุษ คือคู่แข่งของบารัค โอบามา อย่างจอห์น แม็คเคน

แม็คเคนเป็นเฉลยสงครามและก็ทําให้การแข่งขันตอนนั้นถ้อยทีถ้อยอาศัย หมายความว่าแข่งขันจริงจังแต่ผู้แพ้หรือผู้ชนะยอมรับผลแบบเป็นสุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทางการเมือง

แต่ว่าเราจะในการหาเสียงของทรัมป์เองหรือเจดีแวนซ์ ซึ่งเป็นรันนิ่งเมต

กลับใช้การโจมตีตัวบุคคลด้วยถ้อยคําที่ค่อนข้างรุนแรงซึ่งหลายครั้งบางเรื่องก็ไม่จริง จนเกิดคำว่า “Post-truth Society” คือความจริงกลับไม่ถูกเชื่อ แต่สิ่งที่ถูกเชื่อหรือว่าเป็นเหตุผลของการตัดสินใจกลับเป็นเรื่องไม่จริง

ตรงนี้ก็เลยทําให้คนจํานวนหนึ่งมองว่าเป็นจุดหนึ่งที่เป็นสัญญาณของประชาธิปไตยที่ถดถอยลงอีกแล้วรึเปล่ากับชัยชนะของทรัมป์และคู่หูซึ่งหาเสียงจากโจมตีคู่แข่งและกล่าวหาคู่ต่อสู้บนความไม่จริงอย่างเช่นผู้อพยพชาวเฮติรับประทานน้องหมาน้องแมว เป็นต้น

คุยการเมืองเรื่องทรัมป์ เทรดวอร์และระเบียบโลกใหม่ กับศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

ระหว่างเดโมแครตและรีพับลิกัน เราสามารถระบุได้หรือไม่ว่ากลุ่มการเมืองไหนเป็นประชาธิปไตยมากกว่ากัน

เป็นคําถามที่ดีมาก คือถ้าเกิดภายใต้กรอบเชิงสังคม ทั้งสองฝั่งคือประชาธิปไตยทั้งสิ้นเพราะว่าเขาเคารพการเลือกตั้งที่เสรี และเราจะพูดว่าฟรีแฟร์เสรีเป็นธรรมแล้วก็บัตรเลือกตั้งต้องเป็นความลับ ทั้งสองฝั่งไม่มีใครแสดงออกในทำนองว่าถ้าฉันไม่เอาฉันจะลุกขึ้นมารัฐประหารไม่เห็นด้วย

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอนุรักษนิยม หรือเสรีนิยมก้าวหน้าในบริบทสหรัฐ เขาอยู่ภายใต้กรอบของประชาธิปไตยทั้งสิ้น ไม่ว่าคุณจะเชื่อในการทำแท้งเสรี หรือการพกอาวุธปืนหรือไม่ แต่สุดท้ายแต่ละฝ่ายต่างเคารพความเชื่อของกันและกัน นี่อาจจะเป็นความต่างกันกับอนุรักษนิยมไทย แต่ต้องบอกว่าอนุรักษนิยมไทยถ้าไม่ใช่สุดโต่งเราก็เคารพการเลือกตั้ง แต่ถ้าเกิดเป็นกลุ่มที่ระดมมวลชนมาประท้วง ต่อต้านการเลือกตั้ง แบบนี้จริงๆ แล้วสุดออกไปจากความเป็นอนุรักษนิยมด้วยซ้ำคือสุดโต่งเกินไป

ทั้งนี้ ต้องย้ำว่าการเคารพเสียงเลือกตั้งต้องถือว่าเป็น “มาตรฐานต่ำสุด”ของการเป็นประชาธิปไตย คือในความประชาธิปไตยเรียกว่าเป็นมาตรฐานประชาธิปไตยขั้นต่ำ

มากไปกว่านั้นก็คือการเคารพสิทธิเสรีภาพในความเชื่อในการแสดงความคิดเห็น ความเท่าเทียมของกลุ่มต่างๆ หรือว่าการที่รัฐบาลฟังเสียงประชาชนและตอบรับต่อความต้องการของประชาชน

กลับมาที่ประเด็นอย่างการทําแท้งหรือสิทธิในการแต่งงานของเพศเดียวกันคุณเลือกเชื่อแบบไหนไม่ได้แปลว่าคุณจะไม่เป็นประชาธิปไตยเพียงแต่ว่าคุณต้องไม่ไปก้าวก่ายหรือใช้กําลังบังคับให้คนอื่นคิดเหมือนคุณ ดังนั้นคุณมีสิทธิ์ที่จะเชื่อว่าการทําแท้งเป็นเรื่องผิดบาปเพราะคุณเชื่อในศาสนาว่าพระเจ้าสร้างมาแล้วการทําแท้งคือการฆ่าตัวอ่อน ถ้าคุณเชื่อแบบนี้ก็ไม่ผิดส่วนคนที่เชื่อในสิทธิ์เหนือร่างกายของผู้หญิง ก็ถือว่าเป็นประชาธิปไตยเหมือนกันดังนั้นทั้งสองแนวคิดไม่จําเป็นจะต้องมาเป็นขั้วตรงข้ามกัน ทั้งหมดอยู่ที่คำว่า เคารพความคิดของกันและกัน

นอกจากสังคมอเมริกาจะได้รับการจัดระเบียบใหม่ภายใต้นโยบายAmerica First ของทรัมป์ แล้ว ‘ระเบียบโลกใหม่’ ต่อจากนี้จะหน้าตาเป็นอย่างไร

ณ ตอนนี้น่าจะยังบอกชัดไม่ได้เพราะทรัมป์ยังไม่ได้เข้ารับตําแหน่ง ต้องรอวันที่ 20 ม.ค. แต่หากมองในภาพรวมการจัดระเบียบโลกใหม่จะเกิดขึ้นในความหมายที่ความสัมพันธ์เดิมผู้ที่เป็นพันธมิตรกลุ่มเก่าจะเปลี่ยนไป กลุ่มประเทศที่เคยเป็นอริหรือเป็นศัตรูเดิมอาจจะหันมาเป็นพันธมิตรหรือคู่ค้ากับสหรัฐ

ถ้าจะคาดการณ์ระเบียบโลกใหม่ภายใต้ทรัมป์ต้องย้อนกลับไปดูนิดหนึ่งว่าระเบียบโลกเก่าคือไร ระเบียบโลกเก่าเกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่สองซึ่งสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นําพันธมิตรประเทศในยุโรปตะวันตกที่จะไม่ต้องการให้เกิดสงครามขึ้นอีก จึงเกิดองค์กระหว่างประเทศขึ้นมาจำนวนมาก

สิ่งที่คิดว่าอาจจะเกิดขึ้นหลังทรัมป์ขึ้นมา ก่อนหน้านี้ทรัมป์บอกสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ว่าอเมริกาจะไม่ช่วยเข้ามาดูแลรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการป้องกันประเทศคุณเหมือนเดิมอีกต่อไปแล้ว คุณต้องจ่ายเงินเอง

เพราะต่อให้เศรษฐกิจอเมริกาอาจจะไม่ได้เป็นมหาอำนาจโลกหนึ่งเดียวเหมือนเดิมแต่อเมริกาก็ยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจเกินครึ่งหนึ่งของผลรวมเศรษฐกิจทั้งหมดของกลุ่มประเทศในสหภาพยุโรป (EU) ทั้งหมด และที่ผ่านมาอเมริกาก็จ่ายเงินดูแลกลุ่มนาโต้มากที่สุด ที่สำคัญก็ยังเป็นประเทศมหาอำนาจทางการทหารมากที่ทรงอำนาจมากที่สุดอย่างแน่นอน

คุยการเมืองเรื่องทรัมป์ เทรดวอร์และระเบียบโลกใหม่ กับศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

พอสหรัฐอเมริกาออกมาแสดงท่าทีแบบนี้ แล้วถ้าไปดูในรายละเอียดทรัมป์ก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้นำโลกอำนาจนิยมหรือว่าโลกที่ไม่เป็นประชาธิปไตยอย่างวลาดิมีร์ ปูติน (ผู้นำรัสเซีย) วิคเตอร์ ออร์บัน (ผู้นำฮังการี) สี จิ้นผิง (ผู้นำจีน) หรือคิม จองอึน (ผู้นำเกาหลีเหนือ) เป็นต้น

ดังนั้นจากความสนิทสนมที่อธิบายไปพิจารณาร่วมกับในปี 2016 ที่ทรัมป์ถอนตัวออกจากสนธิสัญญาปารีส (Paris Agreement) และองค์การอนามัยโลก (WHO) จะเห็นว่าอเมริกาภายใต้ทรัมป์จะนำผลประโยชน์ของชาติมาเป็นตัวตั้ง ถ้าอเมริกาไม่ได้ผลประโยชน์โดยตรง เขาจะลดบทบาทลงมา

ดังนั้นระเบียบโลกที่เราเห็นอเมริกาเป็นพี่ใหญ่ เป็นตำรวจโลก เป็นคนที่คอยมาปกป้องในโลกค่ายเสรีเพื่อจรรโลงไว้ซึ่งอุดมการณ์ประชาธิปไตย ทว่าอเมริกาภายใต้ทรัมป์จะไม่ได้คำนึงถึงประเด็นเหล่านี้เป็นหลัก แต่จะดูว่าถ้าทำแล้วอเมริกาได้ประโยชน์อะไร

เช่น ญี่ปุ่นมีปัญหากับเกาหลีเหนือคุณต้องการให้อเมริกาช่วย งั้นจ่ายเงินมา เราจะไม่ทำเพียงเพราะว่าเป็นพันธมิตรกัน หรือไต้หวันมีปัญหากับจีน ถ้าคุณอยากให้เราดูแลคุณจ่ายมา ทุกอย่างจะเป็นเรื่องผลประโยชน์โดยตรง ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าระเบียบโลกของความสัมพันธ์พันธมิตรการเมืองเปลี่ยนไป

แล้วเราจะเห็นว่าทางฝั่งรัสเซียซึ่งเป็นโลกที่ถูกมองว่าไม่เสรีมากนัก ก็เข้าร่วม BRICS (บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้) ซึ่งก็เป็นหลายภูมิภาคที่มาร่วม

ในขณะเดียวกันภายใต้ทรัมป์สิ่งที่เราน่าจะเห็นในแง่ของการค้า การทูต และการทหาร เขาจะเน้นทวิภาคีคือการเจรจาแบบตัวต่อตัวเพราะว่าเจรจาง่าย เขาอาจจะไม่มองภาพการเจรจากับอาเซียนทั้งหมด แต่จะมองว่าอินโดนีเซียมีอะไรให้เขา ฟิลิปินส์มีอะไร สิงคโปร์มีอะไร แล้วก็คุยกันตัวต่อตัว หรืออย่างมากก็เป็นไตรภาคี แม้กระทั่งการคุยเป็นกลุ่มเล็กๆ

โดยเทรนด์นี้มีมาก่อนหน้าทรัมป์สักพักหนึ่งภายใต้สหรัฐอเมริกา เช่น QUAD (อเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ญี่ปุ่น) หรือ AUKUS (ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักรและสหรัฐอเมริกา) ทั้งหมดแสดงให้เห็นว่าทรัมป์จะเจาะจงพันธมิตรในแต่ละเรื่อง แล้วดูว่าประเทศเหล่านั้นมียุทธศาสตร์อะไรที่เป็นประโยชน์กับสหรัฐ

สิ่งที่เห็นว่าสักพักหนึ่งแล้วคือการอ่อนตัวของพหุภาคี (Multilateralism) หรือกลุ่มยุทธศาสตร์ ภายใต้ทรัมป์จะเปลี่ยนไปและซับซ้อนมากขึ้น เพราะจะกลายเป็นความสัมพันธ์บนพื้นฐานของความคุ้นเคยระหว่างทรัมป์กับตัวผู้นำของประเทศนั้นๆ

ทีนี้ท่าทีดังกล่าวก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศซึ่งแทนที่จะเป็นภาคีความสัมพันธ์ก็จะกลายเป็นว่าเป็นความสัมพันธ์ที่อิงตัวบุคคลเป็นหลักซึ่งทรัมป์ก็มีลักษณะที่ค่อนข้างจะไม่แน่นอนในการตัดสินใจเนื่องจากไม่มีทิศทางนโยบายต่างประเทศที่ชัดเจนและขึ้นอยู่กับว่าใครมีอะไรมาเสนอ

คุยการเมืองเรื่องทรัมป์ เทรดวอร์และระเบียบโลกใหม่ กับศ.ดร. สิริพรรณ นกสวน สวัสดี

ถ้าทรัมป์เน้นทำการทูตแบบเน้นเจรจาแบบทวิภาคีเป็นหลัก แล้วกลุ่มผลประโยชน์หรือกลุ่มความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ เช่น BRICS จะมีความสำคัญอยู่ไหม

ยังมีอยู่แน่นอน เพราะกลุ่มดังกล่าวต้องการตั้งขึ้นมาเพื่อคานอํานาจสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีความทะเยอทะยานในการสร้างสกุลเงินของกลุ่มตัวเองอย่างมาก เพราะเขามองว่าถ้าดอลลาร์ยังเป็นสกุลเงินกลางอยู่ ความสําคัญของสหรัฐอเมริกาก็ยังคงอยู่ แต่ส่วนตัวยังคิดว่ามีความเป็นไปได้ยาก

แล้วทีนี้พอภายใต้ทรัมป์ต้องมีความสัมพันธ์อันดีกับปูติน ดังนั้นเราก็อาจจะเห็นความความสัมพันธ์ที่ไม่ได้เป็นในเชิงศัตรูหรือเป็นขั้วตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิงก็ได้ แต่ปัจจุบันเรายังบอกอะไรชัดเจนไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวคิดว่าทรัมป์ก็คงไม่ได้มีปัญหากับ BRICS มากเท่ากับรัฐบาลจากพรรคเดโมแครต