4 ค่ายใหญ่ K-Pop ยอดขายร่วงหนัก ตลาดซึมหลังไร้แม่เหล็ก BTS-Blackpink
ผลประกอบการไตรมาส 3 ของ "4 ค่ายใหญ่" แห่งวงการเพลงK-Pop ร่วงหนัก ตลาดซึมยอดขายร่วงหลังไร้แม่เหล็ก BTS-Blackpink มีแค่ค่าย JYP ที่ยังทำกำไรได้ดีอยู่ นักวิเคราะห์รอฟื้นตัวปีหน้า 2568
สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ธุรกิจ K-pop ส่วนใหญ่ยังคงเผชิญภาวะที่ยากลำบากในไตรมาสสาม ปีนี้ โดย 3 ใน 4 ของเอเจนซีใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้มีผลประกอบการทางการเงินที่ย่ำแย่ลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
รายงานระบุว่าอุตสาหกรรม K-pop ชะลอตัวลงเนื่องจากยอดขายอัลบั้มที่ลดลง และการไม่มีกิจกรรมของวงใหญ่ที่เคยสร้างสถิติใหม่ๆ เช่น Blackpink และ BTS โดยสมาชิกของ BTS เข้ารับการเกณฑ์ทหารในกรม ขณะที่ Blackpink จะกลับมารวมตัวทำกิจกรรมวงกันอีกครั้งในปีหน้า 2568
รายได้จากการสตรีมมิงในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 นี้ ยังไม่สามารถชดเชย "การขาดทุนจากการขายอัลบั้ม" ได้
หุ้นของ SM Entertainment, JYP Entertainment และ YG Entertainment ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Kosdaq ของหุ้นขนาดเล็กต่างร่วงลงหนักในปีนี้ โดย JYP ร่วง 43%, SM ร่วง 16%, และ YG ร่วง 10.41% ในขณะที่ Hybe ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ Kospi ของหุ้นกลุ่มบลูชิป ร่วงลงกว่า 11% ในปีนี้
สำหรับผลประกอบการไตรมาส 3 ของ 4 บริษัทใหญ่ มีดังนี้
Hybe
บริษัท K-pop ที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีตามมูลค่าตลาด ไม่ได้ให้รายละเอียดถึงสาเหตุของรายได้ที่ลดลง แต่ในบันทึกถึงนักลงทุนวันที่ 6 พ.ย. ของบริษัทหลักทรัพย์หยวนต้า ซีเคียวริตีส์ ได้วิเคราะห์เอาไว้ว่า ยอดขายของไฮบ์หดตัวเนื่องจากศิลปิน และกิจกรรมที่จำกัดในระหว่างโอลิมปิกปี 2024 ขณะเดียวกัน ผลกำไรยังได้รับผลกระทบจากต้นทุนที่สูงขึ้นซึ่งเป็นผลมาจากการเปิดตัววงเกิร์ลกรุ๊ป แคทส์อาย (KATSEYE) ในสหรัฐ
SM Entertainment
จาง จอง มิน ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน (ซีเอฟโอ) ของเอสเอ็ม กล่าวระหว่างการรายงานผลประกอบการของบริษัทว่า รายได้บริษัทปรับตัวลงเนื่องจากยอดขายอัลบั้มที่ลดลง ขณะเดียวกัน กำไรจากการดำเนินงานยังลดลงจากต้นทุนการผลิตรายการเปิดตัว และกำไรจากบริษัทย่อยที่ลดลงอีกด้วย
YG Entertainment
ฮา ชเว และยองฮุน คัง นักวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ซัมซุง ซีเคียวริตีส์ ระบุในบันทึกวันที่ 11 พ.ย. ว่า การขาดทุนจากการดำเนินงานของวายจีนั้น "ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ" เนื่องจากศิลปินของบริษัทค่อนข้าง "ไม่มีผลงาน" ปรากฏออกมา สำหรับไตรมาสที่ 3 มีเพียง "เบบี้มอนสเตอร์" (Babymonster) ซึ่งเป็นวงน้องใหม่ และศิลปินเดี่ยวอย่าง อี ซึงฮุน (Lee Seunghoon) จากวินเนอร์เท่านั้น ที่ปล่อยผลงานออกมา
JYP Entertainment
เจวายพีเป็นเพียงแสงสว่างเดียวในอุตสาหกรรม K-Pop เนื่องจากเห็น "การฟื้นตัวอย่างน่าทึ่งในด้านผลกำไร" และยัง "สร้างความประหลาดใจด้านรายได้" บันทึกถึงนักลงทุนเมื่อวันที่ 14 พ.ย. ของบริษัทหลักทรัพย์ เอ็นเอช ซีเคียวริตีส์ ระบุว่านี่เป็นผลจากกิจกรรม "เต็มรูปแบบ" ของวงบอยแบนด์ "Stray Kids" ซึ่งเริ่มต้นทัวร์รอบโลกในช่วงครึ่งหลังของปี 2024
ตั้งความหวังศิลปินคัมแบ็กปีหน้า 2568
Citi Research คาดการณ์ว่าสถานการณ์ของอุตสาหกรรม K-Pop จะกลับมาฟื้นตัวดีขึ้นในปีหน้า โดยคาดว่ารายได้รวมของเอเจนซี Big 4 จะเติบโตขึ้นกว่า 21% ในปี 2568 และเกือบ 15% ในปี 2569
การกลับมาของกลุ่มศิลปินชั้นนำอย่าง BTS และ Blackpink และการสร้างรายได้จากแพลตฟอร์มแฟนด้อมที่ดีขึ้นจะช่วยเสริมรายได้ให้แข็งแกร่งขึ้น
ตัวอย่างเช่น DearU ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ SM และ JYP ถือหุ้นอยู่ 18.1% ได้ร่วมมือกับ Tencent Music เพื่อให้บริการส่งข้อความโดยตรงแก่ผู้ใช้แพลตฟอร์มสตรีมเพลง QQ Music ของจีน ส่วนแพลตฟอร์ม Weverse ของ Hybe กำลังจะเปิดตัวโมเดลสมาชิกแบบสมัครสมาชิกรูปแบบใหม่ในเดือนธันวาคม เช่นกัน
นักวิเคราะห์ของ Citi ระบุว่า การกลับมาของวงยอดนิยม "ไม่เพียงแต่เพิ่มรายได้จากอัลบั้ม และคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังน่าจะช่วยเพิ่ม ROI ในธุรกิจต่างๆ อีกด้วย ตัวอย่างเช่น แพลตฟอร์มแฟนด้อมจะเห็นปริมาณการใช้งานของผู้ใช้เพิ่มขึ้น และศิลปินรุ่นใหม่ภายใต้สังกัดเดียวกันสามารถแสดงเปิดในคอนเสิร์ตของศิลปินชั้นนำได้"
ทั้งนี้ อัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าลงจะทำให้ JYP ได้รับประโยชน์สูงสุดเนื่องจากบริษัทได้รับรายได้จากญี่ปุ่นค่อนข้างสูงกว่าบริษัทอื่น แต่นักวิเคราะห์ก็ยังตั้งความหวังกับ Hybe และ SM มากกว่า โดยไฮบ์มีพอร์ตที่สมดุลกว่าเมื่อเทียบกับเอสเอ็มที่พึ่งตลาดจีนมากกว่า ส่วน YG นั้นยังมีโอกาสที่หุ้นจะสามารถแกว่งตัวกลับมาได้สูงจากการกลับมาของ Blackpink
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์