โตเกียวเมืองท่องเที่ยว แต่กลับ 'ขาดแผนรับมือภัยพิบัติ' สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
‘กรุงโตเกียว’ จุดดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกให้มาเยือน แต่กลับยังขาดมาตรการรับมือภัยพิบัติสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างยิ่ง เนื่องจากญี่ปุ่นมีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวสูง
“ญี่ปุ่น” จุดหมายปลายทางอันดับต้น ๆ ของนักท่องเที่ยวไทยและชาติอื่น ๆ ทั่วโลก แต่ทว่ากลับยังไม่มีมาตรการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ กรณีเกิดภัยพิบัติขึ้นมา โดยผลสำรวจของสำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียชี้ให้เห็นว่า เขตส่วนใหญ่ในโตเกียวยัง “ขาดแคลนมาตรการรับมือภัยพิบัติ” ที่มุ่งเน้นนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นเร่งด่วน เพื่อป้องกันความสับสนวุ่นวายหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิด
ผลสำรวจนี้เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่การท่องเที่ยวระหว่างประเทศกำลังเฟื่องฟูในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดในโลก และนักท่องเที่ยวต่างชาติกำลังหลั่งไหลเข้าสู่กรุงโตเกียว
การสำรวจพบว่า เขตส่วนใหญ่ในกรุงโตเกียวยังไม่มีแผนรับมือภัยพิบัติที่ครอบคลุมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยเฉพาะ แม้จะมีกฎหมายบังคับให้ทุกพื้นที่ต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติก็ตาม ซึ่งหมายความว่าหากเกิดเหตุฉุกเฉิน นักท่องเที่ยวอาจไม่ได้รับการช่วยเหลืออย่างเหมาะสม เช่น การจัดหาที่พักพิงหรือเส้นทางกลับบ้าน
ในเดือนมีนาคม 2554 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ทำให้เครือข่ายการขนส่งตั้งแต่ถนนไปจนถึงบริการรถไฟในเขตโตเกียวใหญ่หยุดชะงัก ส่งผลให้ผู้คนหลายล้านคนติดค้างอยู่ที่สถานีรถไฟและบนถนน
เจ้าหน้าที่แห่งกรุงโตเกียวคาดการณ์ว่า หากเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ผู้คนกว่า 4.52 ล้านคนอาจติดค้าง ไม่สามารถเดินทางกลับบ้านได้ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าตกใจ เจ้าหน้าที่จึงย้ำว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือ “การอยู่นิ่ง” และไม่เคลื่อนที่โดยพลการ เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการเบียดเสียด
“เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนอาจไม่คุ้นเคยกับแผ่นดินไหวและไม่เข้าใจภาษาญี่ปุ่น ความตื่นตระหนกอาจเกิดขึ้นในกรณีที่เกิดภัยพิบัติ นักท่องเที่ยวต่างชาติจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนพิเศษที่แตกต่างจากชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในประเทศ” ชอย ซันค์ยุง นักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์โตเกียวกล่าว
ไม่เพียงเท่านั้น การสื่อสารข้อมูลอพยพให้ถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง แม้ว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะรู้ดีว่าโรงเรียนใกล้เคียงคือ ที่พักพิงฉุกเฉิน แต่สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจไม่ใช่เช่นนั้น การสำรวจพบว่า แม้เว็บไซต์ของทุกเขตจะมีข้อมูลหลายภาษา แต่ศูนย์บริการและสายด่วนที่สามารถให้ข้อมูลเป็นภาษาต่าง ๆ นั้นยังมีจำนวนจำกัด ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงช่องว่างบริการนักท่องเที่ยวในยามเกิดเหตุฉุกเฉิน
ในเดือนสิงหาคม ญี่ปุ่นได้ออกประกาศเตือนเกี่ยวกับความเป็นไปได้สูงของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ซึ่งมีผลบังคับใช้อยู่หนึ่งสัปดาห์ แต่ไม่มีการส่งการแจ้งเตือนผ่าน “Safety Tips” แอปพลิเคชันเตือนภัยหลายภาษาจากหน่วยงานการท่องเที่ยวญี่ปุ่น
“เนื่องจากรัฐบาลกลางอาจใช้เวลานานในการส่งข้อมูลอย่างเป็นทางการ บทบาทของหน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นที่ควรทำคือ การให้ข้อมูลโดยละเอียดทันทีหลังเกิดภัยพิบัติ” ชอยกล่าว
ด้านเขตอารากาว่า ซึ่งเป็นเขตพิเศษของมหานครโตเกียวตอบในการสำรวจว่า “เราจะร่วมมือกับผู้ดำเนินการสถานีรถไฟและตำรวจ เพื่อแนะนำผู้คนไปยังที่พักพิงชั่วคราว แต่เรายังไม่สามารถทำได้หลายภาษา”
ส่วนเขตชูโอ ซึ่งเป็น 1 ใน 23 เขตพิเศษของโตเกียว และเป็นที่ตั้งของแหล่งท่องเที่ยว เช่น ย่านช้อปปิ้ง ตรอกซอกซอยร้านซูชิและร้านอาหารต่าง ๆ กล่าวว่า “เพื่อให้คำแนะนำในการอพยพเป็นไปอย่างราบรื่น ความพยายามของชุมชนที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรถไฟและบริษัทเอกชนมีความสำคัญ”
นับตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมีนาคม 2567 กรุงโตเกียวต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ 5.57 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้น 34% จากไตรมาสเดียวกันในปี 2566 โดยยอดรวมทั้งปีแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 19.53 ล้านคน
หากญี่ปุ่นต้องการรักษาบัลลังก์จุดหมายยอดนิยมสำหรับนักท่องเที่ยว จำเป็นต้องมีแผนรับมือภัยพิบัติที่ทำให้ชาวต่างชาติรู้สึกสบายใจ อีกทั้งมีการกล่าวกันว่ามีโอกาส 70% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่กรุงโตเกียวในอีก 30 ปีข้างหน้า
อ้างอิง: nikkei