ทูตอิสราเอลออกแถลงการณ์โต้ศาลอาญาระหว่างประเทศ

ทูตอิสราเอลออกแถลงการณ์โต้ศาลอาญาระหว่างประเทศ

นางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ออกแถลงการณ์ตั้งคำถาม "ความยุติธรรมที่แท้จริงหรือเป็นเพียงการเมืองที่มีเลศนัย เข็มทิศไม่เที่ยงของศาลอาญาระหว่างประเทศ"

แถลงการณ์จากทูตอิสราเอลประจำประเทศไทยระบุว่า เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๑ ที่มีการตราพระราชบัญญัติศาลอาญาระหว่างประเทศ (ICC) ผู้พิพากษาเอลี นาธาน ผู้แทนอิสราเอล ที่เป็นผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวและเปี่ยมไปด้วยมนุษยธรรม ได้แสดงทั้งการมองโลกในแง่ดีและความกังวลต่ออนาคตของ ICC ที่เขาหวังว่าจะบรรลุภารกิจที่จะยุติการนิรโทษกรรมสำหรับอาชญากรรมที่ร้ายแรงที่สุด แต่ทว่า หลังจากเห็นกระบวนการร่างที่มีประเด็นทางการเมืองและ มีบทบัญญัติซึ่งเพ่งเล็งไปยังอิสราเอล ผู้พิพากษานาธานเกรงว่าเป้าหมายของ ICC จะบิดเบือนไปเพื่อจุดประสงค์ทางการเมือง เขายอมรับว่าแม้อิสราเอลจะไม่สามารถเข้าร่วมสถาบันดังกล่าวที่มีผลประโยชน์ทางการเมืองแอบแฝงอยู่ได้ แต่ก็ยังคงหวังว่า ICC จะบรรลุเป้าหมายได้ในที่สุด

ปัจจุบัน เวลาผ่านไปแล้วกว่า ๒๕ ปี ดูเหมือนว่าความกังวลของท่านผู้พิพากษาจะกลายเป็นจริง การตัดสินใจของศาลอาญาระหว่างประเทศในการออกหมายจับนายกรัฐมนตรีและอดีตรัฐมนตรีกลาโหมของอิสราเอล ร่วมกับผู้นำกลุ่มฮามาส (ซึ่งมีรายงานว่าเสียชีวิตแล้ว) แทนที่จะได้งดโทษกลับกลายเป็นการตัดสินใจที่เข้าทางกลุ่มก่อการร้ายซึ่งโหดเหี้ยม การที่กลุ่มฮามาสยินดีกับการตัดสินใจดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงคำตัดสินที่ไม่เท่าเทียมกันระหว่างกระทำอันโหดร้ายของกลุ่มผู้ก่อการร้ายฮามาสเมื่อวันที่ ๗ ตุลาคม ๒๕๖๖ และความพยายามของอิสราเอลในการป้องกันตนเอง 

เรื่องนี้น่าวิตกเป็นอย่างยิ่งเพราะ ICC ได้ตั้งข้อกล่าวหาอิสราเอลว่าจงใจโจมตีพลเรือน แต่ไม่ได้ตั้งข้อกล่าวหาเดียวกันต่อกลุ่มฮามาส ซึ่งยังคงยิงจรวดใส่อิสราเอลอย่างต่อเนื่องหลังจากการสังหารหมู่เมื่อเดือนตุลาคม นอกจากนั้นกลุ่มฮามาสยังได้ก่ออาชญากรรมสงครามถึงสองประเด็น นั่นคือ การโจมตีพลเรือนชาวอิสราเอล และการใช้ตัวประกันชาวอิสราเอลและพลเรือนชาวปาเลสไตน์เป็นโล่มนุษย์

ยิ่งไปกว่านั้น หมายจับดังกล่าวยังมองข้ามหลักการสำคัญของการเกื้อกูลกันในธรรมนูญของศาล ซึ่งระบุว่าศาลอาญาระหว่างประเทศสามารถแทรกแซงได้เฉพาะเมื่อศาลท้องถิ่นไม่สามารถหรือไม่เต็มใจที่จะดำเนินคดี ในเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่า กลุ่มฮามาสไม่มีเจตนาจะสอบสวนอาชญากรรมของตนเอง ทั้งนี้ ฮามาสมองว่าการเสียชีวิตของพลเรือนทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชาวปาเลสไตน์หรือชาวอิสราเอล ล้วนเป็นความสำเร็จ ในทางตรงกันข้าม อิสราเอลมีระบบกฎหมายที่เข้มแข็งและเป็นที่ยอมรับ ซึ่งแสดงให้เห็นว่า อิสราเอลเต็มใจพร้อมกับมีความสามารถในการสอบสวนและดำเนินคดี ในกรณีของการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

อันที่จริงแล้ว การยึดมั่นในหลักนิติธรรมของอิสราเอลได้รับคำชมเชยจากอัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ เมื่อครั้งที่ไปเยือนอิสราเอลหลังจากเกิดเหตุการณ์สังหารหมู่เมื่อวันที่ ๗ ตุลาคมปีที่แล้ว เขาตั้งข้อสังเกตว่าทนายความอิสราเอลเข้ารับการฝึกอบรมเพื่อให้คำแนะนำต่อบรรดาผู้บัญชาการทางทหาร ทั้งยังมีกรอบกฎหมายที่ชัดเจนเพื่อให้แน่ใจว่าจะปฏิบัติตามกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างเคร่งครัด

อีกประการหนึ่ง ข้อกล่าวหาที่มีต่ออิสราเอลแสดงให้เห็นถึงความไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงอย่างเห็นได้ชัด นั่นคือ ICC กล่าวโทษว่าอิสราเอลจงใจทำให้ประชากรในฉนวนกาซาต้องอดอยากด้วย "การปิดล้อมอย่างเบ็ดเสร็จ” แต่กลับไม่กล่าวถึงอาหาร เวชภัณฑ์ และความช่วยเหลืออื่นๆ กว่าหนึ่งล้านตันที่ส่งเข้าไปยังฉนวนกาซาอย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกัน กลุ่มฮามาสยังคงจับตัวประกันไว้ โจมตีอิสราเอลด้วยขีปนาวุธ และปล้นสะดมสิ่งของบรรเทาทุกข์

การตัดสินใจของอัยการที่ขอหมายจับผู้นำอิสราเอล ทำให้เกิดข้อกังวลเพิ่มขึ้นเรื่องความเป็นกลางของศาล เขาส่งหลักฐานไปยัง “คณะผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลาง” แต่การรักษาความลับของหลักฐานและกระบวนการคัดเลือกยังเป็นที่น่าเคลือบแคลง ด้วยเหตุว่า คณะผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วยบุคคลที่เคยแสดงอคติต่ออิสราเอลมาก่อนแล้วอย่างเปิดเผย นอกจากนั้นยังมีสมาชิกอีกหลายคนที่ขาดความเชี่ยวชาญด้านกิจการทหาร หรือกฎหมายแห่งความขัดแย้งว่าด้วยอาวุธ จึงส่งผลให้คณะผู้เชี่ยวชาญดังกล่าว ไม่มีข้อมูลและความสามารถเพียงพอ ที่จะประเมินการปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลในมุมมองทางกฎหมายและยุทธศาสตร์อย่างมืออาชีพได้

จอห์น สเปนเซอร์ หัวหน้าศูนย์ศึกษาสงครามที่เวสต์พอยต์ชี้ให้เห็นว่า ความพยายามของอิสราเอลในการลดอันตรายต่อพลเรือน เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เขาตั้งข้อสังเกตว่า “ผมไม่เคยเห็นกองทัพที่ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อดูแลพลเรือนของศัตรูเช่นนี้มาก่อนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่กำลังต่อสู้กับศัตรูที่อยู่ในอาคารเดียวกัน ผมเห็นว่าอิสราเอลใช้มาตรการป้องกันอันตรายต่อพลเรือนมากกว่ากองทัพใดๆ ในประวัติศาสตร์” ดังนั้น การวิเคราะห์ของสเปนเซอร์จึงยืนยันว่า อิสราเอลมีหลักการที่เลี่ยงมิให้เกิดอันตรายต่อพลเรือน มากกว่ามาตรการของ กองทหารใดๆ ที่เคยมีมา

ในการประชุมศาลอาญาระหว่างประเทศเมื่อพ.ศ. ๒๕๔๑ ผู้พิพากษานาธานแสดงความกังวลว่า ศาลอาจกลายเป็น “เพียงอีกเวทีหนึ่งซึ่งเปิดโอกาสให้กลุ่มประเทศที่ไม่มีความรับผิดชอบ มาใช้อำนาจทางการเมืองได้ตามอำเภอใจ” เป็นเรื่องน่าเศร้าที่การตัดสินใจล่าสุดของ ICC ทำให้ความกังวลของผู้พิพากษานาธานใกล้ความเป็นจริงยิ่งขึ้น