เปิด 'ดัชนีความเสี่ยงทรัมป์' ทั่วโลก 'ไทย' เสี่ยงสุดอันดับ 2
'ไทย' เสี่ยงสุดเป็นรองแค่เม็กซิโก และเป็นชาติเอเชียเพียงรายเดียวที่ติดท็อป 10 ในรายงาน 'Trump Risk Index' ประเมินความเสี่ยง 39 พันธมิตรของสหรัฐทั่วโลกในยุคทรัมป์ 2.0
มูลนิธินวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITIF) ซึ่งเป็นหน่วยงานคลังสมองในสหรัฐ เปิดเผยรายงาน "ดัชนีความเสี่ยงทรัมป์" (Trump Risk Index) ซึ่งเป็นการประเมินความเสี่ยงในแต่ละด้านของ 39 ประเทศ/ดินแดนทั่วโลกที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐในยุคว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ พบว่า "ประเทศไทย" เสี่ยงที่สุดเป็นอันดับ 2 และยังเป็นชาติเดียวในเอเชียที่ติดกลุ่ม 10 อันดับแรก โดยมีความเสี่ยงสูงที่สุดในเรื่อง "การค้า" และ "การใช้จ่ายทางกลาโหม" ที่น้อยเกินไป
ITIF ได้ประเมินความเสี่ยงโดยใช้ 4 เกณฑ์หลักเป็นตัวชี้วัด ประกอบด้วย
1. การใช้จ่ายด้านกลาโหม
2. ดุลการค้า
3. มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อนโยบายการค้า และเทคโนโลยีของสหรัฐ
4. การต่อต้านการรุกรานทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีจากจีน
จากการประเมินพบว่า 5 ประเทศแรกที่มีความเสี่ยงสูงสุด คือ เม็กซิโก ไทย สโลวีเนีย ออสเตรีย และแคนาดา โดยกลุ่มท็อป 5 นี้มีความเหมือนกันอยู่ 2 ด้านหลักๆ คือ มีสัดส่วนการใช้งบประมาณกลาโหมต่อจีดีพีต่ำกว่าค่าเฉลี่ย และมีการเกินดุลการค้ากับสหรัฐ โดยเฉพาะเม็กซิโกกับไทยนั้น เกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในการจัดอันดับ และทั้งห้าประเทศนี้ยังหลีกเลี่ยงที่จะเข้าข้างสหรัฐอย่างเต็มตัวในการต้านทานอิทธิพลทางทหาร การทูต และเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีจากจีน
สำหรับ "ประเทศไทย" นั้น มีคะแนนความเสี่ยงในหมวดการเกินดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุด โดยได้คะแนนติดลบไปที่ -1.89 รองลงมาคือ การใช้จ่ายด้านกลาโหมต่อจีดีพี ได้คะแนนไป -1.14 ตามมาด้วยมาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อสหรัฐ 0.47 และท่าทีการต่อต้านจีน 0.48 ทำให้มีคะแนนรวมติดลบอยู่ที่ -3.98 เป็นรองเพียงแค่เม็กซิโกเท่านั้น
ไทยยังเป็นเพียงประเทศเดียวในเอเชียที่ติดกลุ่มท็อป 10 ความเสี่ยงสูงที่สุดใน ยุคทรัมป์ 2.0 โดยประเทศ/ดินแดนพันธมิตรอื่นๆ ในเอเชียที่ติดอันดับความเสี่ยงตามมาคือ ฟิลิปปินส์อยู่ในอันดับที่ 17, ญี่ปุ่น 25, เกาหลีใต้ 22 และไต้หวัน 31
ทั้งนี้ ภายใต้หลักการ "อเมริกามาก่อน" หรือ “America First” ของทรัมป์ได้มุ่งเป้าไปที่ประเทศต่างๆ ที่ถูกมองว่าเกาะกระแสการลงทุนของสหรัฐ โดยใช้ประโยชน์จากความเปิดกว้างของตลาดสหรัฐเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจของตนเอง หรือประเทศที่ร่วมมือกับ "จีน" เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ แทนที่จะยืนหยัดเคียงข้างสหรัฐอย่างมั่นคง
สำหรับ 5 ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำที่สุดในการจัดอันดับครั้งนี้คือ ลิทัวเนีย เอสโตเนีย โปแลนด์ ลัตเวีย และออสเตรเลีย โดยนอกจากออสเตรเลียแล้ว 4 ประเทศที่เหลือมีสัดส่วนการใช้งบประมาณกลาโหมต่อจีดีพีสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งหมด
'ญี่ปุ่น' จ่อขึ้นภาษีเพิ่งงบกลาโหมเป็นสองเท่า
สำนักข่าวเกียวโด รายงานเมื่อวานนี้ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นมีแผนเสนอปรับขึ้นภาษีนิติบุคคลตั้งแต่เดือนเมษายน 2569 เป็นต้นไป เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น โดยมีเป้าหมายที่จะเพิ่มงบประมาณด้านกลาโหมเป็นสองเท่า ไปสู่ระดับ 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภายในปี 2570
รายงานระบุว่า รัฐบาลมีแผนจะขึ้น "ภาษีเงินได้นิติบุคคล" 4% ตั้งแต่เดือนเมษายน 2569 แต่จะเรียกเก็บเฉพาะกับบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งไม่ครอบคลุมบริษัทขนาดเล็ก และขนาดกลางที่มีสัดส่วนมากกว่า 90% ในประเทศ
นอกจากภาษีนิติบุคคลที่เรียกเก็บกับบริษัทแล้ว รัฐบาลญี่ปุ่นยังเสนอการปรับขึ้น "ภาษีบุหรี่" ในเดือนเมษายน 2569 และขึ้น "ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" 1% ในเดือนมกราคม 2570 อีกด้วย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์