‘ปีนัง’ แห่งมาเลเซีย สู่ ‘ฮับด้านชิป’ แห่งอาเซียน ยกระดับเทคโนโลยี จาก ‘ประกอบ’ สู่ ‘ออกแบบ’
‘ปีนัง’ เกาะเล็กๆทางฝั่งตะวันตกของมาเลเซีย กำลังกลายเป็น “ฮับเทคโนโลยีระดับโลก” ที่น่าจับตามอง ด้วยความสำเร็จในการดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีชั้นนำให้เข้ามาลงทุนอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นด้านเซมิคอนดักเตอร์ และเทคโนโลยีการแพทย์ที่กำลังเติบโตเร็ว
KEY
POINTS
- “ปีนัง” กลายเป็นศูนย์กลางด้านเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีบริษัทข้ามชาติกว่า 350 แห่งและธุรกิจ SME อีกกว่า 4,000 แห่งดำเนินการ
- มาเลเซียมาพร้อมความทะเยอทะยานที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อประเทศกำหนดเป้าหมายยกระดับเทคโนโลยี จากเดิม “รับจ้างประกอบชิป” สู่ “การออกแบบชิป” แทน
- บริษัทเทคโนโลยีการแพทย์อย่าง Abbott, Boston Scientific และ Dexcom ตัดสินใจเลือก “ปีนัง” เป็นฐานดำเนินงาน
ในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ก้าวกระโดด อีกทั้ง “ชิป” และ “แผงวงจร” กลายเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกชนิด ตั้งแต่มือถือไปจนถึงรถยนต์
“มาเลเซีย” เห็นเมกะเทรนด์แห่งอนาคตนี้ และวางแผนพัฒนาประเทศให้เป็น “ฮับด้านชิปและเทคโนโลยี” มาตั้งแต่ปี 2515 โดยเริ่มจากการจัดตั้งเขตการค้าเสรีที่รัฐปีนัง พร้อมทั้งให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและการลงทุนต่างๆ เพื่อโน้มน้าวให้บริษัทผลิตชิปเข้าไปลงทุน จนทำให้เหล่าบริษัทด้านชิปไม่ว่า Intel, AMD, HP, Hitachi, National Semiconductor, Renesas ฯลฯ เข้าไปตั้งฐานการผลิตในมาเลเซียได้สำเร็จ
ในปัจจุบัน มาเลเซียมาพร้อมความทะเยอทะยานที่ใหญ่กว่าเดิม เมื่อประเทศกำหนดเป้าหมายยกระดับเทคโนโลยี จากเดิม “รับจ้างประกอบชิป” สู่ “การออกแบบชิป” แทน และที่ตั้งฮับด้านนี้ก็ไม่ใช่ที่อื่นไกล ก็คือ “รัฐปีนัง” ซึ่งมีลักษณะเป็นเกาะ มีสะพานเชื่อมกับแผ่นดินใหญ่ และอยู่ทางชายฝั่งตะวันตกของประเทศ
‘ปีนัง’ เกาะแห่งซิลิคอน
สำหรับอุตสาหกรรมที่รัฐปีนังต้องการเน้น คือ เทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงอย่าง “เซมิคอนดักเตอร์” และ “อุปกรณ์ทางการแพทย์” โดยรัฐบาลได้เปิดตัวโครงการริเริ่ม Silicon Design @5km+ เพื่อผลักดันให้ปีนังก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางระดับโลกด้านการออกแบบวงจรรวม และนวัตกรรมดิจิทัล พร้อมสร้างระบบนิเวศในชื่อว่า เขตอุตสาหกรรมเสรี “Bayan Lepas Free Industrial Zone”
- ปีนัง (เครดิต: Shutterstock) -
ไม่เพียงเท่านั้น หัวใจสำคัญของโครงการนี้คือ “Penang IC Design and Digital Park” ซึ่งเป็นอุทยานอุตสาหกรรมแห่งใหม่ ด้วยพื้นที่กว่า 1 ล้านตารางฟุต (93,000 ตารางเมตร) ที่พร้อมรองรับการวิจัย พัฒนา และลงทุนด้านเทคโนโลยี
“โครงการนี้ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการส่งเสริมระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสร้างนวัตกรรม” โชว์ คอน เยา (Chow Kon Yeow) มุขมนตรีแห่งรัฐปีนังกล่าว
ในปัจจุบัน “ปีนัง” กลายเป็นศูนย์กลางสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ โดยมีบริษัทข้ามชาติกว่า 350 แห่งและธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) อีกกว่า 4,000 แห่งดำเนินการ
หนีภัยสงครามการค้าสู่ ‘อาเซียน’
นับวันศึกการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐก็หนักหน่วงมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยไม่นานมานี้ สหรัฐปิดกั้นเทคโนโลยีชิปที่ไปจีนหนักขึ้นกว่าเดิม จีนก็สวนกลับด้วยการไม่ส่งออกแร่ผลิตชิปให้ เห็นได้ว่า แม้จีนเป็นฐานการผลิตมายาวนาน และมีบุคลากรเก่งมากมาย แต่การที่เป็นคู่ขัดแย้งโดยตรงกับสหรัฐ จึงเลี่ยงไม่ได้ที่นักธุรกิจต่าง ๆ กำลังมองหาลู่ทางที่จะกระจายและย้ายฐานออกไปแหล่งใหม่แทน
หากดูในภูมิภาคอาเซียน ถ้าเป็นในเรื่องอุตสาหกรรมยานยนต์ “ไทย” เป็นอันดับต้น ๆ ของตัวเลือกต่างชาติ เห็นได้จากค่ายรถมากมายไม่ว่าแบรนด์ BYD, Changan, GAC, Ford ฯลฯ ต่างแห่มาตั้งฐานผลิตที่ไทย
แต่ถ้าเป็นอุตสาหกรรมชิป “มาเลเซีย” และ “สิงคโปร์” ถือเป็นตัวเลือกอันดับต้น ๆ ขึ้นมา โดยความต่างคือ สิงคโปร์มาพร้อมต้นทุนค่าแรงที่สูง
ขณะที่มาเลเซีย มีค่าแรงที่ไม่สูงเกินไป วางตัวเป็นกลางในการเมืองระหว่างประเทศ และเป็นฐานประกอบชิปมาอย่างยาวนาน จึงกลายเป็นฐานผลิตชิปที่น่าดึงดูดของบริษัทต่างชาติ โดยมาเลเซียครองสัดส่วนประกอบชิปที่ 13% ของโลก และเป็นผู้ส่งออกเซมิคอนดักเตอร์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 6 ของโลก
“นโยบายสหรัฐ+1 จีน+1 และไต้หวัน+1 ได้ทำให้ ‘ปีนัง’ กลายเป็นจุดลงทุนที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์” โชว์กล่าว โดยเขาชี้ให้เห็นว่า ความต้องการยานยนต์ไฟฟ้าและกระแสปรับโฉมบริษัทให้เป็นระบบดิจิทัล ได้ผลักดันอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด ซึ่งคาดว่าจะแตะ 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือราว 34 ล้านล้านบาทภายในปี 2573
มุ่งสู่นวัตกรรมเครื่องมือแพทย์
ในโรงพยาบาล สิ่งที่แพงยิ่งกว่าตัวยาและค่าแพทย์ คือ “เครื่องมือแพทย์” ซึ่งต้องใช้ความพิถีพิถัน แม่นยำ และนวัตกรรมขั้นสูง หากสามารถผลิตได้เองแทนการนำเข้า ก็จะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณลงได้ไม่น้อย โดยเฉพาะสังคมสูงวัยที่ขยายตัว ส่งผลให้หลายประเทศขาดแคลนเครื่องมือแพทย์ที่จำเป็น ซึ่งรวมถึงไทยด้วย
“ปีนัง” เป็นตัวอย่างน่าสนใจที่ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเซมิคอนดักเตอร์ แต่ยังพยายามก้าวสู่การเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยอาศัยศักยภาพของเครือข่ายพันธมิตรทั้งในและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย เช่น การวินิจฉัยทางการแพทย์ โซลูชันดูแลสุขภาพที่ขับเคลื่อนด้วยอินเทอร์เน็ต และเทคโนโลยีการแพทย์แม่นยำ ซึ่งเป็นการรักษาโรคที่ออกแบบมาเฉพาะบุคคล ลงรายละเอียดลึกระดับ DNA
เหล่าบริษัทยาและเทคโนโลยีการแพทย์ชั้นนำอย่าง Abbott และ Boston Scientific เลือก “ปีนัง” เป็นฐานดำเนินงาน ไม่เพียงเท่านั้น Dexcom ผู้ผลิตเครื่องตรวจระดับน้ำตาลของสหรัฐ ตัดสินใจลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่ที่พื้นที่ Batu Kawan ของปีนัง มูลค่ากว่า 2,830 ล้านริงกิต หรือราว 21,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโรงงานแห่งแรกนอกสหรัฐ
ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทเครื่องมือแพทย์ชั้นนำหลายแห่ง เช่น Plexus, Pentax Medical, Japan Lifeline และ Canon Medical Systems ก็มาตั้งโรงงานผลิตที่นี่ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนในศักยภาพของปีนังในการเป็นผู้นำนวัตกรรมทางการแพทย์ในภูมิภาค
“เซมิคอนดักเตอร์ ยังคงเป็นจุดแข็งหลักของเราเสมอ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราได้ส่งเสริมเทคโนโลยีทางการแพทย์และอุปกรณ์ทางการแพทย์ด้วย ซึ่งกลายเป็นจุดแข็งสำคัญของเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทข้ามชาติเหล่านี้มุ่งเน้นไปที่การปลูกถ่ายอวัยวะเทียมและการผลิตอุปกรณ์หัวใจและหลอดเลือดที่ทันสมัย นี่จึงเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ของเราในการกระจายความเสี่ยง นอกเหนือจากเซมิคอนดักเตอร์เพียงอย่างเดียว” ลู ลี เลียน (Loo Lee Lian) ซีอีโอของ InvestPenang องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรภายใต้รัฐบาลรัฐปีนังกล่าว
จะเห็นได้ว่า ในขณะประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนต่างแข่งขันเพื่อเป็นผู้นำเทคโนโลยี การที่ “รัฐปีนัง” สามารถพลิกโฉมตัวเองให้กลายเป็น “ฮับด้านชิป” แห่งอาเซียน พร้อมมุ่งยกระดับเทคโนโลยีไปสู่การออกแบบชิป จากเดิมที่เป็นรับจ้างประกอบ ถือเป็นสัญญาณเตือนให้ “ไทย” ต้องเร่งปรับตัวและยกระดับขีดความสามารถเทคโนโลยีให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อไม่ให้ถูกคู่แข่งแซงหน้า ในยุคที่ AI เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
อ้างอิง: penang, nikkei, tetra, กรุงเทพธุรกิจ