สหรัฐเสี่ยง 'ชัตดาวน์' คืนนี้ รีพับลิกันคว่ำงบ ที่ทรัมป์สนับสนุน
เหลือเวลาอีกไม่ถึง 24 ชั่วโมง สหรัฐจะเผชิญการ 'ชัตดาวน์ทางการคลัง' รอบใหม่ เที่ยงคืนวันศุกร์นี้ หลังสภาล่างสหรัฐโหวตคว่ำร่างงบประมาณรายจ่ายชั่วคราวที่ 'ทรัมป์ - อีลอน มัสก์' สนับสนุนให้เพิ่มการก่อหนี้มหาศาล
สื่อต่างประเทศรายงานว่าสหรัฐเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะ "ชัตดาวน์ทางการคลัง" รอบใหม่ หลังเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค.67 นี้ตามเวลาในสหรัฐ หลังจากที่สภาผู้แทนราษฎรที่พรรครีพับลิกันครองเสียงข้างมากอยู่ "โหวตคว่ำ" ร่างงบประมาณรายจ่ายชั่วคราวฉบับที่โดนัลด์ ทรัมป์ ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐ และอีลอน มัสก์ มหาเศรษฐกิจ และที่ปรึกษาคนสนิทสนับสนุนอยู่ โดยไม่เห็นด้วยกับร่างฯ ที่เปิดช่องให้ยกเลิกการจำกัดเพดานหนี้ หรือให้ก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้อีกมหาศาล
ที่ประชุมสภาล่างมีมติไปด้วยคะแนน 235 ต่อ 174 เสียง โดยมี สส.พรรครีพับลิกันถึง 38 เสียง ที่โหวตค้านท้าทายว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่จากพรรคเดียวกัน ขณะที่ไมค์ จอห์นสัน ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า จะมีการเรียกประชุมขึ้นใหม่เพื่อหาทางออกด้วยวิธีอื่น
ปัญหาชัตดาวน์คืออะไร
โดยปกติแล้ว สภาคองเกรส สหรัฐจะต้องผ่านงบประมาณรายจ่ายก่อนเริ่มปีงบประมาณใหม่ในวันที่ 1 ต.ค. เพื่อให้มีงบประมาณสำหรับการใช้จ่ายในหน่วยงานรัฐบาลกลาง 438 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะการจ่ายเงินเดือน แต่ที่ผ่านมา การเมืองที่รุนแรงของสหรัฐทำให้ส่วนใหญ่ไม่สามารถผ่านงบฯ ฉบับสมบูรณ์ได้ และผ่านได้เพียงงบประมาณชั่วคราวออกมาเพื่อไม่ให้เกิดภาวะสุญญากาศทางการคลัง หรือภาวะชัตดาวน์ทางการคลัง (บางส่วน) เช่นในรอบนี้ที่จะต้องผ่านงบให้ได้ก่อนเที่ยงคืนวันศุกร์ที่ 20 ธ.ค.67 โดยจะมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 14 มี.ค.2568
'ทรัมป์-มัสก์' เกี่ยวอะไรด้วย
ที่จริงพรรครีพับลิกัน และพรรคเดโมแครตสามารถตกลงกันในร่างงบประมาณรายจ่ายที่จะโหวตกันในสัปดาห์นี้ได้แล้ว โดยพรรคเดโมแครตซึ่งเป็นเสียงส่วนน้อยในสภาล่าง ได้ตามเงื่อนไขที่ต้องการคือ การผ่านงบเพิ่มเติม 1.1 แสนล้านดอลลาร์เพื่อช่วยเหลือด้านภัยพิบัติ และการเกษตร แต่ทรัมป์ และมัสก์ได้ออกโรงคัดค้านเมื่อวันพุธตามเวลาท้องถิ่น
แม้จะยังไม่ได้สาบานตนเข้ามาเป็นประธานาธิบดีอย่างเต็มตัว แต่ทรัมป์ก็มักใช้วิธีกดดันอย่างไม่เป็นทางการแทน โดยครั้งนี้เขาขู่ว่าจะไม่สนับสนุน สส.ที่ต่อต้านเขาในการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อกดดันให้แก้ไขร่างงบประมาณ เปิดทางให้ระงับการจำกัดเพดานหนี้เป็นเวลา 2 ปี เพราะทรัมป์ไม่ต้องการเจอปัญหาการต่อรองทางการเมืองในการผ่านงบประมาณรายจ่ายชั่วคราวรอบต่อๆ ไป ซึ่งเป็นที่คาดว่าจะทำให้รัฐบาลทรัมป์ก่อหนี้เพิ่มขึ้นได้มหาศาล จนทำให้ สส.รีพับลิกันบางส่วนไม่เห็นด้วย
ทรัมป์ต้องการให้สภาคองเกรสจัดการกับเพดานหนี้ทันที เพื่อที่เขาจะไม่ต้องเจอปัญหานี้ ขณะอยู่ในทำเนียบขาว สิ่งสำคัญลำดับแรกๆ อย่างหนึ่งในการกลับมาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีของทรัมป์ก็คือ การขยายเวลาลดหย่อนภาษี ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีกล่าวว่า จะทำให้หนี้ของรัฐบาลกลางสหรัฐเพิ่มขึ้นประมาณ 4 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงทศวรรษหน้า จากปัจจุบันอยู่ที่ 36 ล้านล้านดอลลาร์
"ผมรู้สึกแย่มากกับพรรคที่รณรงค์เรื่องความรับผิดชอบทางการคลัง" ชิป รอย สส.พรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นหนึ่งใน 38 เสียงที่โหวตคว่ำร่างงบประมาณกล่าว
ที่มา: CNBC, Bloomberg, Reuters
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์