วิเคราะห์ดีลใหญ่ ‘ฮอนด้า-นิสสัน’ ขึ้นเป็นเบอร์ 3 โลก แต่ยังไม่ใช่เรื่องง่าย
วิเคราะห์ดีลใหญ่แห่งปี ‘ฮอนด้า-นิสสัน’ เจรจาควบรวมกิจการกันเพื่อขึ้นเป็นเบอร์ 3 ของโลก แต่นักวิเคราะห์ชี้อาจยังไม่เร็วพอหรือช่วยให้วางใจได้ ในยุคที่อุตสาหกรรมรถยนต์โลกแข่งขันดุและเปลี่ยนผ่านเดือด
หลังจากเป็นข่าวมานานนับสัปดาห์ ในที่สุดก็มีความชัดเจนแล้วเมื่อกลุ่มค่ายรถญี่ปุ่นนำโดย “ฮอนด้า มอเตอร์” (Honda) และ “นิสสัน มอเตอร์” (Nissan) เปิดแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 23 ธ.ค. ประกาศเริ่มการเจรจาควบรวมกิจการระหว่างกัน เพื่อมุ่งไปสู่การเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก
นี่คือบิ๊กดีลแห่งปีของโลกอย่างไม่ต้องสงสัย ซึ่งหากเกิดขึ้นได้จริง ก็จะเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมรถยนต์โลกครั้งใหญ่ในยุคที่วงการยานยนต์กำลังบาดเจ็บล้มตายกันในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า (อีวี)
ในรายละเอียดล่าสุดที่ประธานบริษัทฮอนด้าและนิสสันได้เปิดแถลงข่าวร่วมกันระบุว่า ทั้งสองบริษัทได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อเริ่มการเจรจาควบรวมกิจการกันอย่างเป็นทางการและจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งร่วมกัน ซึ่งจะทำให้บริษัทกลายเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลกในแง่ยอดขาย หรือประมาณ 8 ล้านคันต่อปีเมื่อรวมบริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส ที่มีนิสสันเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่รวมเข้าไปด้วย
ทั้งสองฝ่ายตั้งเป้าจะสรุปการเจรจาควบรวมกิจการกันให้ได้ในเดือนมิ.ย. 2568 จากนั้นจึงจะจัดตั้งบริษัทโฮลดิ้งภายในเดือนส.ค. 2569 และนำหุ้นบริษัทใหม่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยฝั่งฮอนด้าจะได้สัดส่วนการแต่งตั้งกรรมการส่วนใหญ่ของบริษัทโฮลดิ้งแห่งใหม่นี้ และคาดว่าประธานกรรมการของบริษัทใหม่ก็จะมาจากฝั่งฮอนด้าเช่นกัน
“ทั้งสองบริษัทจะยังคงเป็นบริษัทลูกที่ถือหุ้นทั้งหมดของบริษัทโฮลดิ้งร่วม โดยยังคงใช้แบรนด์ของตนต่อไป” โทชิฮิโระ มิเบะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของฮอนด้า มอเตอร์ กล่าว โดยบริษัทโฮลดิ้งจะรวมแบรนด์ของทั้งฮอนด้าและนิสสัน และรวมบริษัทลูกที่ผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่ของฮอนด้าด้วย
สำนักข่าวบลูมเบิร์กระบุว่าในทางปฏิบัติแล้ว ดีลนี้อาจไม่ต่างอะไรนักกับการที่ฮอนด้าเข้าไปเทกโอเวอร์หรืออุ้มนิสสัน เนื่องจากสเกลและความได้เปรียบของฮอนด้าที่เหนืออกว่าทั้งในแง่ยอดขายและการเงินมาก ในขณะที่นิสสันอยู่ในสถานะเป็นรองและต้องการความช่วยเหลือมากกว่า
“หากมองเผินๆ ก็เหมือนการเข้าซื้อกิจการ การสเกลให้ธุรกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นมีข้อดีอย่างแน่นอน และเพื่อนพ้องคู่แข่งในวงการจะต้องจับตามองแน่” นีล กันกูลี หุ้นส่วนและกรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษาเอลิกซ์พาร์ทเนอร์ส กล่าว
จุดแข็ง-จุดอ่อนของทั้งฝ่ายคืออะไร
จุดอ่อนที่สำคัญที่สุดด้านหนึ่งของนิสสันก็คือ “เป็นผู้เริ่ม แต่กลับเป็นผู้นำอุตสาหกรรมไม่ได้” นิกเกอิเอเชียระบุว่านิสสันนับเป็นค่ายรถรายแรกๆ ที่ปรับตัวเข้าสู่ยุครถยนต์ไฟฟ้า โดยประสบความสำเร็จกับการออกรถยนต์อีวีรุ่น “ลีฟ” (Leaf) ที่เปิดตัวในปี 2553 แต่ไม่สามารถต่อยอดไปทั่วโลกได้ และยังเกาะกระแสไม่ทันเมื่อตลาดสหรัฐซึ่งเป็นตลาดรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากจีนหันมาฮิต “รถยนต์ไฮบริด” ในปีนี้ แต่นิสสันกลับไม่มีรถยนต์ไฮบริดวางจำหน่ายในสหรัฐเลย
พันธมิตรอย่างฮอนด้าสามารถเข้ามาช่วยปิดจุดอ่อนตรงนี้ได้ เนื่องจากฮอนด้ามีความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีไฮบริด และยังเป็นค่ายรถรายแรกที่เริ่มจำหน่ายรถยนต์ไฮบริดในตลาดสหรัฐ ทำให้ฮอนด้ามียอดขายในสหรัฐเพิ่มขึ้นในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณปัจจุบันถึงเดือนก.ย. นำโดยรถเครื่องยนต์สันดาปและรถไฮบริด
ซันชิโระ ฟุคาโอะ นักวิชาการจากสถาบันวิจัยอิโตชู กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังการควบรวมกิจการกัน อาจเป็นการที่ฮออนด้าจัดหารถยนต์ไฮบริดให้กับนิสสันในตลาดอเมริกา โดยให้ดีลเลอร์หรือตัวแทนจำหน่ายของนิสสันเป็นผู้ขาย และฮอนด้าก็สามารถสร้างรายได้จากการขายรถยนต์ได้มากขึ้นด้วย
ก่อนหน้าที่จะมีการคุยเรื่องควบรวมกิจการ ทั้งสองฝ่ายเคยตกลงเป็นพันธมิตรด้านอีวีและระบบซอฟต์แวร์รถขับเคลื่อนอัตโนมัติกันมาก่อนแล้ว โดยฮอนด้าและนิสสันเพิ่งลงนามการศึกษาร่วมเรื่องแพลตฟอร์มซอฟต์แวร์กันไปในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา และมีมิตซูบิชิ มอเตอร์สร่วมหารือด้วย
ฮอนด้าและนิสสันยังมีการพิจารณาเรื่องการแชร์ซัพพลายแบตเตอรี่ รวมถึงข้อมูลจำเพาะของเครื่องยนต์และอินเวอร์เตอร์ ซึ่งล้วนเป็นส่วนประกอบสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า นอกจากนี้ วิศวกรของทั้งสองฝ่ายยังร่วมกันทำการวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีหัวใจหลัก เช่น เซมิคอนดักเตอร์และแพลตฟอร์มข้อมูลอีกด้วย
ความเสี่ยงใหญ่
สิ่งที่นักวิเคราะห์หลายฝ่ายเห็นตรงกันไม่ใช่การกังวลว่าดีลนี้จะล่ม แต่เกรงว่าแม้จะรวมตัวกันสามฝ่ายเพื่อขึ้นเป็นบริษัทรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับ 3 ของโลกแล้ว แต่ก็อาจจะช่วยอะไรไม่ได้มากนัก หรืออาจจะไม่ทันการกับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว
ทัตสึโอะ โยชิดะ นักวิเคราะห์อาวุโสจากบลูมเบิร์ก อินเทลลิเจนซ์มองว่า แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถบรรลุบิ๊กดีลนี้ได้สำเร็จตามกรอบเวลาที่วางเอาไว้ในปี 2568 แต่ผลลัพธ์จากการควบรวมกิจการกันยังต้องใช้ระยะเวลาอีกสักพักกว่าจะเห็นผล นิสสันอาจจะพอโล่งใจได้บ้างจากวิกฤติทางการเงิน ในขณะที่ฮอนด้าอาจจะได้รับประโยชน์ในระยะสั้นอย่างจำกัด
ขณะที่สำนักข่าวรอยเตอร์สวิเคราะห์ว่า “ความเร็ว” อาจเป็นตัวแปรที่มีผลอย่างมากในเรื่องนี้ การเจรจาในกระบวนการควบรวมกิจการอาจเผชิญอุปสรรคต่างๆ ที่ทำให้ล่าช้า ส่วนมิตซูบิชิที่นิสสันถือหุ้นอยู่ ขอตัดสินใจในเดือนหน้า (ม.ค. 2458) ว่าจะเข้าร่วมด้วยหรือไม่ หากบรรลุดีลเสร็จในปีหน้าก็จะตั้งบริษโฮลดิ้งใหม่ในปี 2569 และนำหุ้นบริษัทใหม่เข้าตลาดหลักทรัพย์ได้ในเดือนส.ค. 2569
แต่การเร่งสปีดก็ไม่ได้มีอะไรรับประกันว่าการควบรวมจะประสบความสำเร็จเช่นกัน โดยมีตัวอย่างจากกรณีของบริษัท “สเตลแลนทิส” (Stellantis) ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2564 จากการรวมตัวกันของบริษัทและรถยนต์หลายแบรนด์ เช่น ไครส์เลอร์ เฟียต และจี๊ป ถึงอย่างนั้นก็ยังมีปัญหาตามมามากจนถึงปัจจุบัน
ด้านคาร์ลอส กอส์น อดีตซีอีโอของนิสสัน ที่หลบหนีคดีเกี่ยวกับการรายได้ต่ำกว่าความจริงและการยักยอกออกไปจากญี่ปุ่นเมื่อห้าปีก่อน เปิดเผยทางออนไลน์ถึงมุมมองเชิงลบถึงเรื่องนี้ว่า มีความเหมือนกันและทับซ้อนกันมากเกินไป ทำให้แผนการของนิสสันไม่มีความสมเหตุสมผล
กอส์นวิจารณ์ว่า จากมุมมองทางอุตสาหกรรม มีการทับซ้อนอยู่ทุกหนทุกแห่ง สิ่งที่จำเป็นสำหรับการควบรวมกิจการคือส่วนที่จะเข้ามาเสริมซึ่งกันและกัน แต่สำหรับฮอนด้ากับนิสสันแล้ว ส่วนเสริมเหล่านี้ไม่มีเลย
“แทบจะไม่มีการเสริมซึ่งกันและกันเลย ซึ่งหมายความว่าหากพวกเขาต้องการสร้างความร่วมมือกัน ก็อาจต้องลดต้นทุน ทำแผนซ้ำๆ ทำเทคโนโลยีซ้ำๆ และเรารู้แน่นอนว่าใครจะต้องเป็นคนจ่ายสำหรับสิ่งนี้ นั่นก็คือหุ้นส่วนรายย่อย และนั่นก็คือนิสสัน” โกสน์กล่าว
“หากการควบรวมกิจการครั้งนี้เกิดขึ้น ... ผมคิดว่าคงจะไม่ประสบความสำเร็จสักเท่าไร”