ภูมิรัฐศาสตร์โลก 2025 ลุ้นสงครามจบ-ไม่จบ
ส่องสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกปี 2025 หลายประเทศยังขัดแย้งไม่เลิก ที่ต้องจับตาต่อเนื่องจากปี 2024 หนีไม่พ้นสงคราม ทั้งสงครามรัสเซีย-ยูเครน, สงครามอิสราเอล-ฮามาส และกลุ่มตัวแทนอิหร่าน
KEY
POINTS
- โดนัลด์ ทรัมป์ พูดมาตลอดว่า เขาจะยุติสงครามได้ภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อรับตำแหน่ง นั่นอาจหมายถึงการบีบให้รัฐบาลเคียฟยกดินแดนให้รัสเซีย
- ปูตินต้องการเจรจาโดยตรงกับทรัมป์ ไม่เจรจากับเซเลนสกี ถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าแผนยุติสงครามของทรัมป์คืออะไร
- การที่จีนยังคงเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับรัสเซียทั้งด้านการเมืองและการทหาร ทำให้สมาชิกนาโตบางประเทศ เรียกรัฐบาลปักกิ่งเป็น “ผู้สนับสนุน”
ส่วนที่ยังไม่เกิดขึ้นแต่โลกลุ้นมากว่าอาจเกิดขึ้นได้สักวันหนึ่งคือการที่จีนบุกไต้หวัน และเกาหลีเหนืออาจแสดงฤทธิ์เดชได้ในปีนี้
- สงครามรัสเซีย-ยูเครน
วันที่ 24 ก.พ.2025 จะครบสามปีรัสเซียรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบ สถานการณ์ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ธ.ค. ทั้งยูเครนและรัสเซียได้แลกเปลี่ยนเชลยศึกรอบใหม่ ชาวยูเครน 189 คนได้กลับบ้าน
ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครนขอบคุณสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และพันธมิตรอื่นๆ ที่ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนเชลยศึกครั้งนี้
ขณะที่โอเลคซานเดอร์ ซิร์สกี ผู้บัญชาการกองทัพเคียฟอ้างว่า กองทัพรัสเซีย “เสียหายอย่างไม่เคยมีมาก่อน” ในภูมิภาคโดเนตส์กทางภาคตะวันออกของยูเครน
เว็บไซต์อินดิเพนเดนท์ของอังกฤษรายงานว่า กองทัพรัสเซียโจมตีแนวหน้าในโดเนตส์กหลายจุดสุดท้ายก็รุกคืบไปสู่เมืองโปครอฟส์ก เมืองหลักในการป้องกันภูมิภาคโดเนตส์กได้ นับตั้งแต่เดือน ก.พ.ปีนี้ รัสเซียรุกคืบได้กว่า 1,036 ตารางกิโลเมตรแต่ก็ต้องแลกกับการสูญเสียชีวิตทหารจำนวนมาก หน่วยข่าวกรองตะวันตกประเมินว่า แต่ละวันทหารรัสเซียเสียชีวิตในพื้นที่นี้ราว 1,000-1,200 นาย
โดนัลด์ ทรัมป์ พูดมาตลอดว่า เขาจะยุติสงครามได้ภายใน 24 ชั่วโมงเมื่อรับตำแหน่ง นั่นอาจหมายถึงการบีบให้รัฐบาลเคียฟยกดินแดนให้รัสเซีย ซึ่งทั้งทรัมป์และเซเลนสกีเคยพบกันมาแล้วที่กรุงปารีส เมื่อวันที่ 7 ธ.ค. โดยประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงจัดให้ก่อนพิธีเปิดมหาวิหารน็อทร์ดาม
เซเลนสกีโพสต์ X ว่า การประชุมเป็นไป “ด้วยดีและเกิดผล” ผู้นำทั้งสามเห็นชอบทำงานร่วมกัน
“ประธานาธิบดีทรัมป์แน่วแน่เช่นเคย ผมขอบคุณเขา เราทุกคนต่างต้องการให้สงครามนี้ยุติเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยวิถีทางที่ชอบธรรม” เซเลนสกีโพสต์ผ่านแพลตฟอร์ม X
จริงๆ แล้วผู้นำยูเครนและยุโรปกังวลว่า ทรัมป์ที่จะสาบานตนรับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐในวันที่ 20 ม.ค. อาจถอนความช่วยเหลือทางทหารที่สหรัฐมีให้กับยูเครนในช่วงเวลาสำคัญที่รัฐบาลเคียฟต้องต่อสู้ขับไล่รัสเซีย ขณะที่ทรัมป์รู้สึกว่าชาติยุโรปต้องจ่ายงบประมาณป้องกันประเทศร่วมกันให้มากกว่านี้ และว่า จำเป็นต้องเจรจาตกลงกันเพื่อยุติสงครามยูเครน
แล้วใครจะเจรจากับใคร ในการแถลงข่าวประจำสิ้นปี เมื่อวันที่ 26 ธ.ค. ปูตินเผยว่า เขาพร้อมที่จะคุยกับทรัมป์เพื่อยุติสงครามยูเครน โดยเขาไม่ได้คุยกับทรัมป์มาหลายปีแล้ว ถ้าได้คุยกันจริงเขาก็พร้อม “ประนีประนอม” เพื่อยุติสงคราม ถัดมาไม่กี่วันทรัมป์เผยว่า ปูตินอยากอยากพบเขาโดยเร็วที่สุดเพื่อเริ่มเจรจายุติสงคราม
จากคำพูดของปูตินและทรัมป์สะท้อนว่า ปูตินต้องการเจรจาโดยตรงกับทรัมป์ ไม่เจรจากับเซเลนสกี ถึงขณะนี้ยังไม่มีใครทราบว่าแผนยุติสงครามของทรัมป์คืออะไร แต่เมื่อวันอาทิตย์ (29 ธ.ค.) สำนักข่าวทาสส์ของทางการรัสเซีย รายงานอ้างคำพูดเซอร์เก ลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย ถึงการที่ปูตินไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของทีมทรัมป์ที่ให้เลื่อนการเป็นสมาชิกนาโตของยูเครนออกไป 20 ปี และเตรียมส่งกองกำลังรักษาสันติภาพของ “อังกฤษและยุโรป” ไปยังยูเครน
ลาฟรอฟกล่าวด้วยว่า รัสเซียยังไม่ได้รับ “สัญญาณ” อย่างเป็นทางการจากสหรัฐเรื่องยูเครน เป็นไปได้ว่าต้องรอทรัมป์สาบานตนเสียก่อน ตอนนี้มีแต่รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน เท่านั้นที่ข้องเกี่ยวกับมอสโก โดยเมื่อวันจันทร์ไบเดนได้ลงนามอนุมัติแพ็คเกจช่วยเหลือด้านความมั่นคงให้กับยูเครนมูลค่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ (ราว 8.5 หมื่นล้านบาท) เป็นเงินช่วยก้อนสุดท้ายก่อนที่จะอำลาตำแหน่ง และโดนัลด์ ทรัมป์ เข้ามารับไม้ต่อแทนในวันที่ 20 ม.ค.
- สงครามอิสราเอลจะยุติหรือไม่
นับตั้งแต่ฮามาสโจมตีนองเลือดและจับตัวประกันในวันที่ 7 ต.ค.2023 อิสราเอลขัดแย้งกับอิหร่านและตัวแทนหลายครั้ง โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องขจัดภัยคุกคามให้หมดสิ้นไป เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเหตุการณ์แบบนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก
อิสราเอลพยายามทำลายล้างฮามาสในกาซาและฮิซบอลเลาะห์ในเลบานอน จนต้องเข้าไปขัดแย้งโดยตรงกับอิหร่าน ผู้สนับสนุนหลักทางการเงินของกลุ่มเหล่านี้ มีการยิงขีปนาวุธตอบโต้กันสองครั้งแต่ถึงขณะนี้ยังไม่มีการทำสงครามเต็มรูปแบบ
หลังการล่มสลายของรัฐบาลบาชาร์ อัล อัสซาด แห่งซีเรีย อิสราเอลโจมตีพุ่งเป้าซีเรียหลายครั้ง เช่น สถานที่ต้องสงสัยเป็นคลังเก็บอาวุธเคมี สงครามของอิสราเอลในตะวันออกกลางปีหน้าจะเป็นอย่างไร เว็บไซต์นิวส์วีคสอบถามจากผู้รู้ได้มุมมองแตกต่างกันไป
ฟาวาซ เอ เกอร์เกส อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจาก London School of Economics กล่าวว่า ความขัดแย้งร้อยปีระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์จะยุติลงได้ก็ต่อเมื่ออิสราเอลเลิกยึดครองดินแดนปาเลสไตน์และยอมรับสิทธิการตัดสินอนาคตตนเองของเพื่อนบ้านเท่านั้น
ความเป็นปรปักษ์รุนแรงในรอบนี้จะยุติลงในปี 2025 แต่จะมีรอบอื่นอีกไม่ช้าก็เร็วเนื่องจากนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู กล่าวมาตลอดว่า การหยุดยิงระหว่างอิสราเอล-ฮิซบอลเลาะห์ และอิสราเอล-ฮามาส ไม่ได้หมายความว่าอิสราเอลจะยุติสงคราม ทั้งพรรครัฐบาลผสมนำโดยเนทันยาฮูและฝ่ายค้านต่างไม่เห็นด้วยกับการตั้งรัฐปาเลสไตน์ ถ้าเป็นเช่นนี้อิสราเอลก็เสี่ยงเจอสงครามชั่วนิรันดร์
เอยาล ซิสเซอร์ รองอธิการบดี แผนกประวัติศาสตร์ตะวันออกกลางร่วมสมัย มหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ กล่าวว่า ตลอดปีที่ผ่านมาอิสราเอลบรรลุเป้าหมายส่วนใหญ่ในการทำสงครามที่ฮามาสและฮิซบอลเลาะห์เริ่มต้นเมื่อต้นเดือน ต.ค.2023
การที่ฮามาสถูกกำราบสิ้นอำนาจทหารและรัฐบาลในกาซา ฮิซบอลเลาะห์เสียหายหนักจนไม่อาจป้องปรามหรือคุกคามอิสราเอลได้อีก เหล่านี้เป็นปัจจัยเอื้ออำนวยให้ยุติสงครามอิสราเอลในปี 2025 และเปลี่ยนความสำเร็จทางทหารไปเป็นความเคลื่อนไหวทางการเมืองกับรัฐอาหรับสายกลางและเผลอๆ กับปาเลสไตน์เองด้วย
ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าสิ่งนี้จะตอบสนองผลประโยชน์ทางการเมืองของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูหรือเขาสามารถเคลื่อนไหวแบบนั้นได้หรือไม่ เพราะเขาต้องเจอแรงกดดันจากพันธมิตรทางการเมือง
กระนั้นคนที่สามารถตัดสินใจได้ว่า สงครามในตะวันออกกลางจะสิ้นสุดหรือไม่ และจะใช้เศรษฐกิจกดดันอิหร่านแทนการทหารหรือไม่ อยู่ที่โดนัลด์ ทรัมป์คนเดียวเท่านั้น
เมห์ราน คัมราวา อาจารย์ด้านบริหารรัฐกิจ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในกาตาร์ มองว่าโดนัลด์ ทรัมป์ พันธมิตรใหญ่สุดของเนทันยาฮูไม่ชอบสงคราม เพราะไม่ดีกับธุรกิจ ดังนั้นอิสราเอลจึงไม่น่าทำสงครามเต็มรูปแบบ จึงน่าจะเป็นการโจมตีแบบตอดเล็กตอดน้อยต่ออิหร่านและศัตรูของอิสราเอลรายอื่นๆ มากกว่า
ด้านไลเออร์ บี สเติร์นเฟลด์ อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์และยิวศึกษา มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย กล่าวว่า อิสราเอลจะไม่ยุติสงครามถ้าไม่มีแรงกดดันจากภายนอก ปัญหาทางกฎหมายและการเมืองของเนทันยาฮูเบาบางลงขณะสงครามกำลังดำเนินอยู่
แรงกดดันจากภายนอกที่กล่าวถึงมีตั้งแต่ที่ไม่น่าจะเป็นไปได้มากที่สุดถึงเป็นไปได้มากที่สุด ได้แก่ นานาชาติสนับสนุนการออกหมายจับของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศอย่างท่วมท้น, ประเทศต่างๆ หยุดส่งอาวุธให้อิสราเอลมากขึ้น หรือเมื่อทรัมป์เข้าใจว่าอิสราเอลจะกลายมาเป็นภาระของสหรัฐมากขึ้นเขาก็จะบีบให้หยุดยิงกันชั่วคราวแล้วค่อยเจรจากันเพิ่มเติมในอนาคตอันใกล้
- เกาหลีเหนือ-ไต้หวัน ฮอตสปอตเอเชีย
ความเป็นไปในภูมิภาคเอเชียจะไม่พูดถึงจีนในฐานะมหาอำนาจไม่ได้เลย ระยะหลังจีนสนิทสนมกับรัสเซียมาก และรัสเซียก็ใกล้ชิดเกาหลีเหนือ วันที่ 31 ธ.ค. มีการส่งสารอวยพรปีใหม่ระหว่างกันถือเป็นความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ
สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานว่า ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงส่งสารอวยพรปีใหม่ไปถึงประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน
“เมื่อต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในรอบศตวรรษ อีกทั้งสถานการณ์ระหว่างประเทศผันผวน จีนและรัสเซียจับมือเดินหน้าไปด้วยกันบนเส้นทางที่ถูกต้องด้วยการไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่เผชิญหน้า และไม่พุ่งเป้าไปที่ฝ่ายที่ 3”
สีกล่าวด้วยว่า ปี 2024 ซึ่งครบรอบ 75 ปี ความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างจีนกับรัสเซีย "แสดงถึงหมุดหมายสำคัญอันใหม่ในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศหลังจากสามในสี่ทศวรรษแห่งความขึ้นๆ ลงๆ ความสัมพันธ์จีน-รัสเซียมีวุฒิภาวะและมีเสถียรภาพมากขึ้นทุกขณะ”
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า สองผู้นำมีความผูกพันส่วนตัวเหนียวแน่น สีเรียกปูตินว่า “เพื่อนรัก” ขณะที่ปูตินชื่นชมสีเป็น “พันธมิตรที่ไว้วางใจได้”
นับตั้งแต่ปูตินรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบในเดือน ก.พ.2022 จีนพยายามนำเสนอตนเองว่าเป็นกลางไม่ได้เลือกข้างเหมือนสหรัฐและชาติตะวันตก
แต่การที่จีนยังคงเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับรัสเซียทั้งด้านการเมืองและการทหาร ทำให้สมาชิกนาโตบางประเทศ เรียกรัฐบาลปักกิ่งเป็น “ผู้สนับสนุน” สงครามที่ปักกิ่งไม่เคยประณามเลยสักครั้ง และการที่รัสเซียรุกรานประเทศเพื่อนบ้านที่มีขนาดเล็กกว่าอย่างยูเครน ทำให้เกิดความวิตกกันว่า วันหนึ่งจีนอาจใช้วิธีการเดียวกันนี้กับไต้หวัน เกาะที่จีนมองว่าเป็นดินแดนของตน
ประธานาธิบดีสีกล่าวเสมอว่า หากจำเป็นต้องใช้กำลังยึดมาก็ต้องทำ ในปีที่ผ่านมาจีนใช้วิธีซ้อมรบรอบเกาะไต้หวัน ส่งเครื่องบินไปบินป้วนเปี้ยนตลอดทั้งปี ด้านทรัมป์เองก็ไม่เคยตอบว่า หากจีนยึดไต้หวันจริงสหรัฐจะส่งทหารมาช่วยหรือไม่ ความตึงเครียดในช่องแคบไต้หวันจึงยังคงเป็นประเด็นร้อนต่อไป
ส่วนที่เกาหลีเหนือ คิม จองอึน ก็สนิทแนบแน่นกับปูตินเช่นกัน จดหมายอวยพรปีใหม่ที่คิมมีไปถึงปูตินในวันสิ้นปี เรียกปูตินเป็น “สหายและเพื่อนรัก”
สองประเทศกระชับสัมพันธ์ทางการเมือง การทหาร และวัฒนธรรมนับตั้งแต่รัสเซียรุกรานยูเครน ในเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา ปูตินมาเยือนเกาหลีเหนือและได้ลงนามข้อตกลงกลาโหมฉบับประวัติศาสตร์ กำหนดว่า ถ้าฝ่ายใดฝ่ยหนึ่งถูกรุกรานอีกฝ่ายต้องให้ความช่วยเหลือทางทหารในทันที
ในจดหมายอวยพร คิมกล่าวถึงสิ่งที่น่าจะหมายถึงสงครามในยูเครน โดยเขาอวยพรให้ปี 2025 จะเป็นปีที่ “กองทัพและประชาชนรัสเซียเอาชนะลัทธินีโอนาซีและประสบชัยชนะอันยิ่งใหญ่”
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า คิมอยากได้เทคโนโลยีทันสมัยจากรัฐบาลมอสโกและประสบการณ์การสู้รบเมื่อทหารเกาหลีเหนือกลับมา
สื่อเกาหลีเหนือรายงานเมื่อวันศุกร์ (27 ธ.ค) ว่า ปูตินได้ส่งข้อความอวยพรมาถึงคิมยกย่องความสัมพันธ์ทวิภาคีีแบบเดียวกัน