‘Portraits of Ukrainians’ สู้จนกว่าชนะด้วยวัฒนธรรม l World Pulse

‘Portraits of Ukrainians’  สู้จนกว่าชนะด้วยวัฒนธรรม l World Pulse

นับตั้งแต่ถูกรัสเซียรุกรานเต็มรูปแบบเมื่อวันที่ 24 ก.พ.2022 สถานเอกอัครราชทูตและชุมชนยูเครนในประเทศไทย ได้ใช้วัฒนธรรมแสดงออกถึงความแข็งแกร่งของประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง World Pulse ได้นำเสนอกิจกรรมของยูเครนมาโดยตลอด

เท่าที่นึกได้แบบเร็วๆ เช่น การสาธิตวัฒนธรรมอาหารยูเครนที่ซุปบอชได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลก, เดือน พ.ค.2022 Tetiana Cherevan ศิลปินหญิงชาวยูเครนนำหนึ่งในผลงานศิลปะชุด“Berehyni”มาอวดโฉมบนกำแพงตึกกิจกรรมนิสิต คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, การจัดกิจกรรมเฉลิมฉลอง Vyshyvanka Day หรือวันเฉลิมฉลองศิลปะการปักผ้าของยูเครนเสื้อปักพื้นบ้านที่เรียกว่า วิชิวันคา ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานหลายร้อยปี

ล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตยูเครนจัดนิทรรศการภาพถ่ายพิเศษ “Portraits of Ukrainians” ผลงานของ Dominika Dyka ที่ Palette Artspace เพื่อนำเสนอเสน่ห์ของวัฒนธรรมยูเครนสู่ใจกลางประเทศไทย 

วิคเตอร์ เซเมนอฟ (Mr. Viktor Semenov)อุปทูตรักษาการแทนเอกอัครราชทูตยูเครน เล่าว่า การจัดงานครั้งนี้ไม่ใช่แค่การแสดงทางศิลปะ ซึ่งเป็นสะพานเชื่อมระหว่างวัฒนธรรม แต่ยังเป็นบททดสอบถึงความแข็งแกร่งของยูเครน และเฉลิมฉลองความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมที่ยังคงเจริญรุ่งเรืองแม้ถูกรัสเซียรุกรานอย่างเหี้ยมโหด 

Dominika Dyka และทีมงานฉายภาพอัตลักษณ์ของชาวยูเครน ผ่านภาพถ่ายชวนตะลึงในชุดแต่งกายพื้นบ้าน งดงามโดดเด่นเป็นพิเศษด้วย  vinok หรือมงกุฎดอกไม้ ที่สวมได้เฉพาะหญิงสาวเมื่อพวกเธอแต่งงานต้องเปลี่ยนไปใช้ผ้าคลุมศีรษะแทน ที่น่าประหลาดใจมากคือทุกภาพที่ถ่ายออกมา นางแบบและนายแบบที่ล้วนเป็นชาวบ้านยูเครนธรรมดาไม่ใช่มืออาชีพ แต่ลีลาและสายตาของพวกเขานั้นช่างเจิดจรัสราวกับคุ้นเคยกับกล้องถ่ายรูปมาแต่ไหนแต่ไร อีกทั้งสีสันเสื้อผ้าตามธรรมเนียมของยูเครนช่างสดใสขับให้ภาพถ่ายงดงามเหมือนมีชีวิต จนไม่อยากเชื่อเลยว่า คนเหล่านี้กำลังใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางสงครามอันแสนหฤโหด

และในบรรดาภาพถ่ายที่นำมาจัดแสดง มีภาพขาวดำของสตรียูเครนคนหนึ่งที่ผูกพันลึกซึ้งกับราชสำนักสยาม พูดเพียงแค่นี้หลายคนคงทราบดีว่า เธอจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากแคททารีนา เดสนิสกา (แคทยา) ผู้ถือกำเนิดในเมืองลุทสก์ ประเทศยูเครน และใช้ชีวิตช่วงวัยเด็กและวัยรุ่นในกรุงคีฟ เธอเป็นชาวต่างชาติคนแรกที่ได้สมรสกับราชวงศ์แห่งสยามประเทศ และได้เดินทางกลับไปกรุงคีฟในปี 1911 (พ.ศ.2454) กับเจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และในเวลานั้นเธอได้สวมชุดประจำชาติยูเครนแล้วถ่ายรูปเป็นที่ระลึก  ‘Portraits of Ukrainians’  สู้จนกว่าชนะด้วยวัฒนธรรม l World Pulse

จากภาพถ่ายขาวดำในวัยสาวของแคทยา Dominika Dyka ยังถ่ายภาพหญิงสาวยูเครนยุคปัจจุบันในเครื่องแต่งกายพื้นเมืองแบบเดียวกับแคทยา เรียกได้ว่าแม้เวลาผ่านไปกว่าหนึ่งร้อยปี ความเป็นยูเครนยังฉายชัดไม่แปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลา  ‘Portraits of Ukrainians’  สู้จนกว่าชนะด้วยวัฒนธรรม l World Pulse

“ตั้งแต่การรุกรานเต็มรูปแบบเริ่มต้นขึ้น เราได้สร้างความรู้สึกเกี่ยวกับวัฒนธรรมของเราขึ้นมาใหม่ กลายเป็นว่าเราแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ทานทนยิ่งขึ้น และเราพยายามผลักดันวัฒนธรรมของเราในทุกระดับ ที่เรียกว่าการทูตวัฒนธรรมอย่างที่ประเทศคุณเรียกว่าซอฟต์พาวเวอร์” อุปทูตเซเมนอฟกล่าว พร้อมย้ำว่า ภาพถ่ายในงานถ่ายจากผู้คนในภูมิภาคต่างๆ ของยูเครน รวมถึงไครเมียที่ถูกยึดครอง ซึ่งตัวเขานั้นเป็นคนไครเมีย จึงภาคภูมิใจที่งานนิทรรศการภาพถ่ายพิเศษครั้งนี้ได้แสดงถึงวัฒนธรรมอันหลากหลายของยูเครน 

และเหมือนเป็นธรรมเนียม คุยกับคนยูเครนย่อมหนีไม่พ้นเรื่องสงคราม อุปทูตกล่าวด้วยว่า ในเดือน ก.พ.ที่กำลังมาถึงจะครบรอบสามปีการรุกรานยูเครนเต็มรูปแบบของรัสเซีย “เราจะสู้จนกว่าจะได้ชัยชนะ แน่นอนเราอยากยุติสงคราม ต้องยุติด้วยสันติภาพแต่ต้องเป็นสันติภาพที่เป็นธรรมเท่านั้น เราต่อสู้เพื่อระเบียบโลกที่อยู่บนฐานของกฎหมาย” อุปทูตกล่าวทิ้งท้ายโดยมั่นใจว่าไม่มีใครลืมยูเครนไปได้ พร้อมกันนั้นได้เชิญชวนทุกๆ คนไปร่วมชมนิทรรศการภาพถ่ายพิเศษ “Portraits of Ukrainians” จัดโดย Natalka Beshta ตัวแทนสมาคมคู่สมรสนักการทูตยูเครนและชุมชนชาวยูเครนในกรุงเทพ ที่ Palette Artspace สถานีบีทีเอสทองหล่อ ทางออก 3 ระหว่างเวลา 10.00-20.00 น. งานมีถึงวันที่ 6 ม.ค.นี้