อินเดียพร้อมจัด'กุมภเมลา' งานใหญ่สุดบนผืนพิภพ

อินเดียพร้อมจัด'กุมภเมลา'   งานใหญ่สุดบนผืนพิภพ

อินเดียเตรียมจัดงานกุมภเมลา 2025 อย่างยิ่งใหญ่ สร้างเมืองชั่วคราวขึ้นริมฝั่งแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ รองรับคนที่จะมาร่วมเทศกาลสำคัญของศาสนาฮินดูอย่างมืดฟ้ามัวดิน เป็นการรวมตัวของมนุษยชาติครั้งใหญ่สุดในประวัติศาสตร์ ชนิดที่มองเห็นได้จากอวกาศเลยทีเดียว

งานกุมภเมลาจัดสืบทอดกันมานับพันปี ชาวฮินดูมาร่วมแสดงความศรัทธาทางศาสนาและอาบน้ำศักดิ์สิทธิ์ที่จัดขึ้นทุกๆ 12 ปี ณ จุดที่แม่น้ำคงคา ยมุนา และสรัสวตีไหลมารวมกัน แต่คาดว่างานระยะเวลาหกสัปดาห์ปีนี้ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค.-26 ก.พ. มีความสำคัญเป็นพิเศษเพราะตรงกับการเรียงตัวกันของดาวเคราะห์

ทางการอินเดียกำลังเร่งมือสร้างสะพานชั่วคราวข้ามแม่น้ำหลายสายในเมืองประยากราจหรืออัลลาฮาบัด รัฐอุตตรประเทศทางตอนเหนือของอินเดีย เพื่อรองรับผู้แสวงบุญ 400 ล้านคน มากยิ่งกว่าพลเมืองสหรัฐและแคนาดารวมกัน อินเดียพร้อมจัด\'กุมภเมลา\'   งานใหญ่สุดบนผืนพิภพ

เมืองชั่วคราวขนาดสองในสามของแมนฮัตตันกำลังถูกสร้างขึ้นจากเต็นท์บนที่ราบลุ่มของเมืองประยากาจ

“ผู้ศรัทธาราว 350-400 ล้านคนจะมาร่วมงาน คุณคิดดูแล้วกันว่าต้องเตรียมงานขนาดไหน” วิเวก จตุรเวถี โฆษกของงานเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี การเตรียมงานเหมือนกับการสร้างประเทศใหม่เลยทีเดียว ทั้งต้องทำถนน จัดหาแสงสว่าง บ้านเรือนที่อยู่อาศัย และท่อระบายน้ำ

“สิ่งที่ทำให้งานนี้ไม่เหมือนใครก็คือขนาดของงาน และข้อเท็จจริงที่ว่าไม่ต้องส่งบัตรเชิญไปให้ใคร ทุกคนมากันเองด้วยแรงศรัทธาล้วนๆ ไม่มีที่ใดในโลกที่คนจะมารวมกันมากขนาดนี้ แค่หนึ่งในสิบของงานก็ยังหาไม่ได้” โฆษกกล่าวต่อ

พิธีฮัจญ์ที่จัดขึ้นทุกปีในนครเมกกะของซาอุดีอาระเบีย มีชาวมุสลิมเข้าร่วมงานปีละราว 1.8 ล้านคน ส่วนคนร่วมงานกุมภเมลาตามที่จตุรเวถีบอกมากจนน่าประหลาดใจ ถึงกับต้องสร้างห้องน้ำถึง 150,000 ห้อง ตั้งเสาไฟแอลอีดี 68,000 เสา ครัวชุมชนเตรียมจัดหาอาหารให้ประชาชน 50,000 คนพร้อมกัน อินเดียพร้อมจัด\'กุมภเมลา\'   งานใหญ่สุดบนผืนพิภพ

นอกจากการเตรียมการทางศาสนา ประยากราจยังยกเครื่องโครงสร้างพื้นฐานครั้งใหญ่ โปสเตอร์ขนาดใหญ่ของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี และมุขมนตรีโยคี อาทิตยนาถ มีให้เห็นทั่วเมือง ทั้งสองคนมาจากพรรคภราติยะชนตะ (บีเจพี) ที่การเมืองกับศาสนาเกี่ยวพันกันอย่างลึกซึ้ง

  • น้ำอมฤตแห่งความเป็นอมตะ

กุมภเมลาเป็นพิธีเฉลิมฉลองตั้งแต่โบราณ ต้นกำเนิดมาจากคติฮินดู ชาวฮินดูเชื่อว่าถ้าได้แช่น้ำในสังคัม (จุดที่แม่น้ำบรรจบกัน คนไทยคุ้นกับคำว่า จุฬาตรีคูณ) จะชำระล้างบาปและช่วยให้บรรลุ “โมกษะ” ปลดปล่อยพวกเขาจากวัฏฏะแห่งการเกิดและตาย

ตามตำนานกล่าวว่า เทพและอสูรต่อสู้กันเพื่อแย่งชิง “กุมภ” หม้อบรรจุน้ำอมฤต ระหว่างต่อสู้น้ำอมฤตตกลงในโลกมนุษย์สี่หยดที่เมืองประยากราจ, หริทวาร, นาสิก และอุชเชน การจัดงานแต่ละปีจึงสลับกันไปในสี่เมือง

แต่งานใหญ่ที่สุดของประยากราจซึ่งจัดขึ้นทุกๆ 12 ปีเรียกว่า “มหากุมภเมลา” งานกุมภเมลาครั้งล่าสุดที่เมืองนี้จัดขึ้นในปี 2019 มีผู้ศรัทธาร่วมงาน 240 ล้านคน แต่เป็นงานเล็กเรียกว่า “อัฒ” (อรธ) หรือครึ่งงาน จัดคั่นกลางระหว่างงานใหญ่

“เมื่อคุณพูดถึงกุมภ คุณต้องพูดถึงดาราศาสตร์ ดาวพฤหัสโคจรผ่านราศีใดราศีหนึ่งในหนึ่งปี ดังนั้นเมื่อครบ 12 ราศรีจึงเป็นกุมภ“ เหรัมภ์ จตุรเวถี นักประวัติศาสตร์ วัย 69 ปี กล่าวและว่า หัวใจหลักของการเฉลิมฉลองคือการให้ทานแก่ ”คนมีปัญญาความรู้และคนยากจนข้นแค้น”

  • ศรัทธาแก่กล้า

สำหรับแรงงานอย่างบาบู จันด์  ผู้กำลังขมีขมันขุดร่องเสาไฟฟ้าที่ดูเหมือนไม่จบไม่สิ้นจนเหงื่อผุดเต็มหน้าผาก เขาคือหนึ่งในกองทัพแรงงานทำงานทั้งวันทั้งคืนในสถานที่ใหญ่โตกินพื้นที่ 25,000 ไร่

“ผู้ศรัทธาจะมากันเยอะมาก ผมรู้สึกว่ากำลังมีส่วนสนับสนุนการจัดเทศกาล หรือเมลา สิ่งที่ผมทำดูเหมือนเป็นการกระทำอันศักดิ์สิทธิ์” จันด์ วัย 48 ปี กล่าวกับเอเอฟพี

แม้งานจะเริ่มวันที่ 13 ม.ค. แต่ผู้แสวงบุญจำนวนหนึ่งก็เดินทางไปถึงประยากราจเรียบร้อยแล้ว เช่น นักบวชเปลือยนาคสาธุ ผู้เดินธุดงค์มาหลายสัปดาห์จากภูเขาและผืนป่าอันห่างไกล สถานที่ที่ใช้ทำสมาธิ

พวกเขาจะลงแช่แม่น้ำอันเย็นยะเยือกช่วงหกวันแรกที่ศักดิ์สิทธิที่สุด เริ่มต้นวันที่ 13 ม.ค.

“ข้ามาที่นี่เพื่ออวยพรประชาชน” ทิฆัมพร ราเมศ คีรี วัย 90 ปีนักบวชเปลือยกับมุ่นผมทรงเดดล็อกกล่าวกับเอเอฟพีพร้อมข้อความทิ้งท้าย

“อะไรก็ตามที่เจ้าปรารถนา เจ้าจะได้ ณ กุมภ”

อินเดียพร้อมจัด\'กุมภเมลา\'   งานใหญ่สุดบนผืนพิภพ