แหล่งข่าวเผย ‘ทรัมป์’ จริงจังซื้อกรีนแลนด์ หวังสร้างตำนาน-ขยายอิทธิพลสหรัฐ
แหล่งข่าว เผย "ทรัมป์" หวังซื้อ "กรีนแลนด์" จริงจัง เพื่อขยายอิทธิพลของสหรัฐ เนื่องจากกรีนแลนด์เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ และเพื่อสร้างตำนานให้เป็นที่จดจำแก่คนรุ่นหลัง
แหล่งข่าวสามรายที่ทราบเกี่ยวกับแนวคิดของทรัมป์ เผยว่า ว่าที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จริงจังกับความพยายามซื้อกรีนแลนด์ เพื่อขยายอิทธิพลของอเมริกาในซีกโลกตะวันตก และเป็นแนวทางในการสร้างผลงานให้เป็นที่น่าจดจำ
พรรครีพับลิกันแถลงเมื่อวันอังคาร (7 ม.ค.) ว่า ทรัมป์ไม่ตัดความเป็นไปได้ที่จะใช้กำลังทางทหารหรือดำเนินการทางเศรษฐกิจ เพื่อซื้อดินแดนโพ้นทะเลของเดนมาร์ก หลังจากรับตำแหน่งอย่างเป็นทางการวันที่ 20 ม.ค. นี้ สร้างความตกตะลึงแก่บรรดาพันธมิตรที่กังวลเกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงชายแดนในช่วงที่ความผันผวนเพิ่มขึ้นทั่วโลก และความคิดเห็นล่าสุดของเขาได้ตอกย้ำถึงความปราถนาอันแรงกล้า ที่ไม่ใช่แค่จินตนาการเลื่อนลอย
แหล่งข่าวรายหนึ่งที่ร่วมหารือภายในกับทรัมป์ เผยกับรอยเตอร์สว่า ไม่น่าจะเป็นไปได้ที่ทรัมป์จะใช้กำลังทางทหารเข้ายึดกรีนแลนด์ แต่ทรัมป์ยังคงคิดหาวิธีการอื่นอย่างจริงจัง เช่น ใช้การกดดันทางการทูต หรือการกดดันทางเศรษฐกิจต่อเดนมาร์ก เพื่อครอบครองเกาะขนาดใหญ่ที่สุดในโลก (ที่ไม่ใช่ทวีป)
“ตำนานที่แท้จริงคือ คุณต้องขยายสหรัฐ ตลอด 70 ปีที่ผ่านมานี้เรายังไม่ได้เพิ่มอสังหาริมทรัพย์เข้าพอร์ตฟอลิโอเลย แต่เขาพูดถึงเรื่องนี้บ่อยมาก” แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าว
อะแลสกาและฮาวาย เป็นสองดินแดนที่ได้กลายเป็นรัฐที่ 49 และรัฐที่ 50 ของสหรัฐในปี 1959 ภายใต้การนำของประธานาธิบดี ดไวต์ ไอเซนฮาวร์ จากพรรครีพับลิกัน
ซื้อกรีนแลนด์ คือ แผนสำคัญ
แหล่งข่าวใกล้ชิดทรัมป์อีกคนเผยว่า ได้เห็นรายการลำดับความสำคัญทางนโยบายต่างประเทศที่จัดทำโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของทรัมป์ หลังเขาชนะเลือกตั้งวันที่ 5 พ.ย. 2568 ซึ่งมีข้อหนึ่งที่สะดุดตาทันทีคือ “การซื้อกรีนแลนด์”
ทรัมป์ได้พรรณนาถึงการเข้าซื้อกรีนแลนด์ว่าเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อความมั่นคงของชาติ ด้านเดนมาร์กออกมาตอบโต้ความเห็นทรัมป์ว่า กรีนแลนด์ไม่ได้มีไว้ขาย
เดนมาร์กครอบครองกรีนแลนด์มานานหลายร้อยปี แต่มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 57,000 คน
แหล่งข่าว 3 ราย ที่ทราบเกี่ยวกับแนวคิดของทรัมป์ทั้งอดีตและปัจจุบัน บอกว่า ทรัมป์ยังสนใจขยายเขตแดนเพื่อสร้างตำนานให้เป็นที่จดจำแก่คนรุ่นหลังด้วย
นอกจากกรีนแลนด์แล้ว ก่อนหน้านี้ทรัมป์เคยเอ่ยว่าต้องการครอบครอง “คลองปานามา” เนื่องจากมองว่าปานามาเก็บค่าผ่านทางคลองแพง และกังวลเกี่ยวกับอิทธิพลจีน
“ทุกการตัดสินใจของทรัมป์เป็นผลประโยชน์สูงสุดต่อสหรัฐและชาวอเมริกัน” แคโรลีน ลีวิตต์ โฆษกหญิงของทรัมป์เผยกับรอยเตอร์ส “นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทรัมป์เรียกร้องให้สนใจเรื่องความมั่นคงของชาติ และความกังวลทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับแคนาดา กรีนแลนด์ และปานามา”
‘ไอดอล’ ของทรัมป์
หนึ่งในฮีโร่ หรือไอดอลของทรัมป์ คืออดีตปธน. วิลเลียม แมกคินลีย์ ที่ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1897 จนถึง 1901 ซึ่งเป็นปีที่เขาถูกสังหาร โดยสหรัฐภายใต้การนำของปธน.คนนี้ ได้เข้าครอบครองดินแดนต่างชาติหลายแห่ง รวมถึงเปอร์โตริโกและฮาวาย
ทรัมป์เป็นแฟนคลับแมกคินลีย์ถึงขั้นกล่าวเมื่อเดือน ธ.ค. 2024 ว่า เขาวางแผนจะเปลี่ยนชื่อภูเขา "เดทาลี" ซึ่งเป็นชื่อพื้นเมืองที่ชาวอะแลสกาตั้งให้กับภูเขาที่สูงที่สุดในอเมริกาเหนือ เป็นชื่อ "แมกคินลีย์" แทน ตามชื่อของปธน.ที่เป็นไอดอลของเขา
‘กรีนแลนด์’ จุดยุทศาสตร์สำหรับสหรัฐ
ที่ปรึกษาของทรัมป์รายหนึ่งอธิบายถึงแผนของทรัมป์เกี่ยวกับกรีนแลนด์ และแชร์ภาพแผนที่ super U.S. ในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเผยให้เห็นถึงการรวมแคนาดาและสหรัฐเข้าด้วยกัน และว่า super U.S. จะเข้ามามีอิทธิพลเหนืออิทธิพลของรัสเซียในแถบอาร์กติก ที่กลายเป็นจุดสนใจในการแข่งขันของบรรดาประเทศมหาอำนาจ
ด้วยกรีนแลนด์มีน้ำมัน ก๊าซ แร่ และอยู่ใกล้เส้นทางขนส่งในอาร์กติก ผลประโยชน์เหล่านี้จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับผู้กำหนดนโยบายสหรัฐในช่วงสองสามปีที่ผ่านมา เนื่องจากรัสเซียและจีนพยายามขยายอิทธิพลในภูมิภาคอาร์กติกเช่นกัน
กรีนแลนด์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของนาโตเนื่องจากเดนมาร์กเป็นสมาชิกนาโตนั้น มีจุดยุทศาสตร์สำคัญด้านการทหารของสหรัฐ และระบบแจ้งเตือนขีปนาวุธระยะไกล เพราะเส้นทางที่สั้นที่สุดจากยุโรปมายังอเมริกาเหนือต้องผ่านกรีนแลนด์ เกาะแห่งนี้จึงเป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐที่อยู่เหนือสุด
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ชัดเจนว่าทรัมป์จะครอบครองกรีนแลนด์อย่างไร แต่ที่ปรึกษาที่ใกล้ชิดกับเรื่องนี้ ได้หารืออย่างไม่เป็นทางการถึงความเป็นไปได้ในการลงนามข้อตกลงการรวมตัวกันอย่างเสรีกับกรีนแลนด์ (Greenland a Compact of Free Association หรือ COFA) หากเกาะแห่งนี้เป็นอิสระจากเดนมาร์กโดยสมบูรณ์
ภายใต้ข้อตกลง COFA จะทำให้กรีนแลนด์ยังคงมีอิสระ แต่มีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นกับสหรัฐ
ทรัมป์เคยพูดถึงไอเดียซื้อกรีนแลนด์มาตั้งแต่ปี 2560 และพูดจริงจังมากขึ้นในปี 2562 ในอดีต สหรัฐเคยพยายามซื้อกรีนแลนด์มาแล้ว และเดนมาร์กปฏิเสธข้อเสนอลับๆ ของรัฐบาลประธานาธิบดีแฮร์รี ทรูแมนไปแล้ว โดยเขาต้องการซื้อเกาะนี้ในราคา 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3.5 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบค่าเงินปัจจุบัน) เมื่อปี 1946