Soundtrack to a Coup d'Etat ปฐมบทกลุ่มประเทศโลกใต้ l หนังเล่าโลก

Soundtrack to a Coup d'Etat   ปฐมบทกลุ่มประเทศโลกใต้ l หนังเล่าโลก

พูดกันมากเรื่องกลุ่ม BRICS หรือประเทศกลุ่มโลกใต้ที่อาจมองได้ว่าตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านการนำของโลกตะวันตกโดยเฉพาะสหรัฐ เมื่อไทยเข้าร่วมเป็นประเทศหุ้นส่วนอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ม.ค.ที่ผ่านมาบางคนอาจใจคอไม่ค่อยดี แต่เอาเข้าจริงการรวมตัวของประเทศกลุ่มโลกใต้มีมาตั้งแต่ยุคสงครามเย็น ดูได้จากภาพยนตร์เรื่อง Soundtrack to a Coup d'Etat

  ภาพยนตร์สารคดีปี 2024  ผลงานการกำกับของ Johan Grimonprez ใช้ฟุตเทจมหาศาลของสถานการณ์การเมืองโลกโดยเฉพาะการประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติปี 1960-1961 สลับกับการแสดงดนตรีแจ๊ซของศิลปินอเมริกันชื่อดังในสมัยนั้น บอกเล่าเรื่องราวอันร้อนระอุในยุคสงครามเย็นโฟกัสไปที่ทวีปแอฟริกา เมื่อประเทศเล็กประเทศน้อยอดีตอาณานิคมคนขาวทะยอยได้รับเอกราชหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่เจ้าอาณานิคมจะใจดียกให้ง่ายๆ บางประเทศต้องเอาเลือดเนื้อประชาชนเข้าแลก เมื่อได้เอกราชแล้วสิ่งที่ต้องทำในลำดับต่อไปคือการมีที่อยู่ที่ยืนในสังคมโลก  สหประชาชาติ (ยูเอ็น) คือเวทีอันเท่าเทียมของประเทศทั้งหลายจะเป็นมหาอำนาจหรือประเทศเกิดใหม่ มีหนึ่งเสียงเท่ากันในเวทีนี้ (จริงหรือ?) 

แม้เทรนด์โลกกำลังมาแต่สงครามเย็นก็กำลังระอุ สหรัฐอเมริกาเบอร์หนึ่งโลกหวาดระแวงการเกิดใหม่ของประเทศในทวีปแอฟริกา เกรงว่าสหภาพโซเวียตจะเข้าแทรกซึม หัวใจสำคัญอยู่ที่ประเทศกึ่งกลางทวีปนามว่าคองโก อดีตอาณานิคมเบลเยียม (ปัจจุบันใช้ชื่อว่าสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เพื่อให้แตกต่างกับเพื่อนบ้านที่ชื่อคองโกเหมือนกันแต่เป็นอดีตอาณานิคมฝรั่งเศส) เหตุที่คองโกสำคัญกับสหรัฐมากเพราะเป็นประเทศที่มีแร่ธาตุุอุดมสมบูรณ์ เป็นแหล่งแร่ยูเรเนียมที่ใช้ทำนิวเคลียร์ ซึ่งอาวุธนิวเคลียร์นี่เองทำให้สหรัฐเป็นผู้ชนะสงครามโลกครั้งที่ 2 

ปี 1960 คองโกได้เอกราชจากเบลเยียม ผู้นำเรียกร้องเอกราชนาม “ปาตริซ ลูมุมบา” เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ตามประสาผู้นำใหม่ไฟแรงเขาแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกับผู้นำแอฟริกาและเอเชียยุคเอกราชคนอื่นๆ จุดพีคของการเมืองโลกอยู่ที่ปี 1961 เมื่อ 16 ประเทศแอฟริกาได้เข้าเป็นสมาชิกยูเอ็น ถือเป็นกลุ่มก้อนที่ทรงพลังส่งผลต่อการลงมติในการประชุมสมัชชาใหญ่

ลองนึกภาพประเทศเล็กๆ มีผู้นำผู้ไม่สยบยอมจะขวางหูขวางตาสหรัฐขนาดไหนในเวทียูเอ็นที่สหรัฐสามารถชี้นกเป็นนกชี้ไม้เป็นไม้ได้ รัฐบาลวอชิงตันโดยซีไอเอจึงสนับสนุนนายทหารคนอื่นทำรัฐประหารโดยมียูเอ็นเป็นเครื่องมือ  และเหมือนรู้ตัวว่าทำสิ่งเลวร้าย สหรัฐจึงใช้ซอฟต์พาวเวอร์ “ดนตรีแจ๊ซ” ที่เป็นดนตรีของคนดำ ส่งศิลปินแจ๊ซชื่อดังอย่างหลุยส์ อาร์มสตรอง, ดิซซี กิลเลสปี และ นินา ซิโมน ไปแสดงที่คองโกและที่อื่นๆ ทั่วโลกกลบเกลื่อนการอยู่เบื้องหลังรัฐประหาร

แม้ทราบดีว่าหนังเรื่องนี้มีจุดขายอยู่ที่ดนตรีแจ๊ซ แต่หนังเล่าโลกก็ไม่ได้กระดิกหูเลยสักนิด สิ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจกลับอยู่ที่ฟุตเทจการประชุมสมัชชาใหญ่ของยูเอ็น ได้เห็นผู้นำโลกคนสำคัญคนที่เคยได้ยินชื่อตั้งแต่สมัยเด็กๆ กลับมามีชีวิตอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นกามาล อับเดล นัสเซอร์ แห่งอียิปต์, ชวาหะร์ลาล เนห์รู แห่งอินเดีย, ซูการ์โนจากอินโดนีเซีย, ฟิเดล คาสโตร แห่งคิวบา และพระเอกของงานไม่ใช่ใคร เขาคือนิกิตา ครุสชอฟ จากสหภาพโซเวียต   คนเหล่านี้รวมพลังประเทศเกิดใหม่ในแอฟริกาและเอเชียออกข้อมติต่อต้านการล่าอาณานิคม

ถึงวันนี้ 60 กว่าปีผ่านไป บริบทโลกเปลี่ยนแต่ดูเหมือนการงัดข้อกันยังมีอยู่ และพระเอกวันนี้อาจไม่ใช่รัสเซียเสียแล้ว