‘เยอรมนี’ เผชิญ ‘ความทุกข์ร้อนทางเศรษฐกิจ’ ติดอันดับต้น ๆ ของยุโรป

‘เยอรมนี’ เผชิญ ‘ความทุกข์ร้อนทางเศรษฐกิจ’ ติดอันดับต้น ๆ ของยุโรป

‘เยอรมนี’ มหาอำนาจเศรษฐกิจของยุโรป กำลังเผชิญ ‘ความทุกข์ร้อนทางเศรษฐกิจ’ เป็นอันดับต้น ๆ ของภูมิภาค ผลจากตลาดโลกที่ซบเซา ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้บริษัทใหญ่เล็กเผชิญภาวะล้มละลายไม่น้อย

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า “เยอรมนี” กำลังกลายเป็นประเทศที่ประสบ “ความทุกข์ร้อนทางเศรษฐกิจ” เป็นอันดับต้น ๆ ในภูมิภาคยุโรป เนื่องจาก “การส่งออก” ซึ่งเป็นเครื่องยนต์หลักของเยอรมนีกำลังเผชิญความต้องการทั่วโลกที่อ่อนแอลง และเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนราคาอย่างต่อเนื่อง

ขณะนี้ “เยอรมนี” มีแนวโน้มถูกจัดอันดับให้เป็นตลาดที่มีความทุกข์ร้อนทางเศรษฐกิจมากที่สุดเป็นปีที่สองติดต่อกัน ตามการคาดการณ์จาก Weil, Gotshal & Manges LLP. และหากเกิดสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดอย่างการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานเพิ่มเติม และนโยบายแบบกีดกันการค้าที่สูงขึ้น ระดับความเดือดร้อนในเยอรมนีอาจสูงกว่าระดับที่เคยเกิดขึ้นในช่วงการระบาดโควิด-19

แอนดรูว์ วิลกินสัน หุ้นส่วนของ Weil และหัวหน้าของฝ่ายปรับโครงสร้างของบริษัทกล่าวว่า “เมื่อปีที่แล้ว ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่าเยอรมนีจะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจรุนแรงกว่าประเทศอื่น ๆ ในยุโรปมากนัก แต่ตอนนี้เห็นได้ชัดแล้วว่าเป็นเช่นนั้น ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติสำหรับภูมิภาคยุโรป” 

แม้ว่าความกังวลด้านเศรษฐกิจในส่วนอื่น ๆ ของยุโรปจะเริ่มคลี่คลายลง แต่ระดับความกังวลดังกล่าวยังคงอยู่ในระดับสูง ในขณะเดียวกัน เยอรมนีกลับเผชิญแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลาดอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ของประเทศยังคงได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา 

ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตชั้นนำอย่างบริษัทรถ Volkswagen AG และบริษัทเคมีภัณฑ์ BASF SE กำลังดำเนินการลดต้นทุนอย่างเข้มข้น ซึ่งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังภาคเศรษฐกิจอื่น ๆ

ทั้งนี้ ดัชนีความเสี่ยงของ Weil ในยุโรป ซึ่งรวบรวมข้อมูลจากบริษัทจดทะเบียนในยุโรปกว่า 3,750 แห่ง กำหนดความหมาย “ความเสี่ยง” ว่า ความไม่แน่นอนของมูลค่าพื้นฐานของสินทรัพย์ทางการเงิน ความผันผวน และความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงภาวะหยุดชะงักทางธุรกิจที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้

ตามข้อมูลของ Weil ภาคอุตสาหกรรมในยุโรปเผชิญกับความเสี่ยงสูงสุดในไตรมาสล่าสุด โดยเมื่อพิจารณาในช่วงเวลา 3 เดือนแบบต่อเนื่อง ระดับความเสี่ยงอยู่ในระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน 2020 อีกทั้งรายงานยังระบุว่า เนื่องจากธุรกิจต่างเลื่อนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ เนื่องจากต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้น และความต้องการในตลาดที่ไม่แน่นอน ภาคอุตสาหกรรมจึงมีความเสี่ยงต่อการชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญ

วิลกินสันกล่าวว่า “ผมไม่คาดว่าเราจะเห็นสิ่งที่คล้ายวิกฤติการเงินโลกปี 2008 คือ บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และการผลิตขนาดใหญ่ในเยอรมนีจะล้มละลาย แต่ในทางกลับกัน ผมคิดว่าจะเห็นซัพพลายเออร์ถูกบีบ และถูกบีบอย่างหนัก”

ปัจจุบัน เยอรมนีมีบริษัทซัพพลายเออร์จำนวนหนึ่งยื่นขอล้มละลาย เช่น บริษัทวิศวกรรม Manz AG ซึ่งมาจากการลงทุนในเทคโนโลยีแบตเตอรี่ประสบปัญหา เนื่องจากความต้องการในตลาดอ่อนแอ รวมถึง Walter Klein GmbH ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ซึ่งมีลูกค้ารายสำคัญ ได้แก่ Mercedes Benz และ Volkswagen โดยจากข้อมูลของสถาบันวิจัยเศรษฐศาสตร์ Halle เยอรมนีมีจำนวนบริษัทล้มละลายสูงสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการเงินในไตรมาสที่ 4 ของปี 2024 

วิลกินสันระบุว่า ในปี 2024 จำนวนบริษัทล้มละลายในยุโรปสูงเกินกว่าที่ Weil คาดการณ์ไว้ ซึ่งอาจเป็นเพราะส่วนหนึ่งเกิดจากการใช้ธุรกรรมการจัดการหนี้สินเพิ่มขึ้น แม้ว่าบริษัทที่ดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้เหล่านี้มักจะเป็นธุรกิจที่มีผลประกอบการดี แต่หน่วยงานจัดอันดับเครดิตอาจนับการดำเนินการดังกล่าวว่าเป็นการผิดนัดชำระหนี้

อ้างอิง: bloomberg