มองเหตุปัจจัยของสงครามใหญ่น้อย : ช่วงชิงทรัพยากร

สงครามในยูเครนเป็นข่าวพาดหัวในช่วงนี้ เพราะเป็นเวทีของการช่วงชิงอย่างเปิดเผย ระหว่างมหาอำนาจซึ่งยืดเยื้อมาเป็นเวลาครบ 3 ปี และเริ่มมีการต่อรองกันอย่างจริงจัง จนกระทั่งจะทำให้มันยุติในเร็ววัน
รองลงมาเป็นข่าวเกี่ยวกับสงครามระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังฮามาสของฝ่ายอาหรับ นอกจากนี้ยังมีสงครามที่มักไม่เป็นข่าวใหญ่ดำเนินไปอย่างเข้มข้น ทั้งสงครามจำพวกใช้อาวุธและไม่ใช้
ย้อนไปในช่วงต้นของสงครามในยูเครน คอลัมน์นี้พูดถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้ยูเครนเป็นที่หมายปองของต่างชาติ นั่นคือ พื้นที่กว้างใหญ่พร้อมด้วยน้ำ ลมและไฟทำให้เหมาะแก่การปลูกพืชอาหาร จนยูเครนเป็นหนึ่งในพื้นที่เกษตรกรรมชั้นนำของโลก
ประเด็นนี้มีผู้นำมาเสนอในหนังสือชื่อ “ผู้ฉกชิงที่ดิน” (The Land Grabbers) ซึ่งมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา
ยูเครนยังมีทรัพยากรธรรมชาติโดยเฉพาะแร่ธาตุหายาก ซึ่งหลายฝ่ายต้องการอีกด้วย รวมทั้งแกรไฟต์ ลิเธียม ไทเทเนียมและโลหะ 17 ชนิดที่ใช้ในผลิตภัณฑ์ยุคใหม่รวมทั้งในอาวุธ
ประเด็นนี้ไม่มีการอ้างถึงกันอย่างกว้างขวาง จนกระทั่งสัปดาห์นี้เมื่อมีประกาศว่าสหรัฐอเมริกาและยูเครนบรรลุข้อตกลงเรื่องการให้สหรัฐเข้าถึงแร่ธาตุและโลหะเหล่านั้นของยูเครน
ด้านสงครามระหว่างอิสราเอลกับกองกำลังฮามาส อาจมองว่า เป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งต่อเนื่องระหว่างอิสราเอลกับฝ่ายอาหรับ มาตั้งแต่การก่อตั้งประเทศอิสราเอลเมื่อปี 2491 จะมองอย่างนั้นก็ได้
แต่หากมองต่อไปจะเห็นด้านการแย่งชิงทรัพยากรกันซึ่งมีมานับพันปีแล้ว ย่านนั้นเป็นถิ่นกำเนิดของเกษตรกรรม หลังชาวพื้นเมืองพบวิธีปลูกพืชและเลี้ยงสัตว์เพื่อทำอาหารแทนการเก็บของป่าและล่าสัตว์เมื่อราว 8 พันปีก่อน
เกษตรกรรมเป็นฐานของการสร้างอารยธรรมรวมทั้งบาบิโลนและอียิปต์ อารยธรรมเหล่านั้นล่มสลาย เมื่อพื้นที่ส่วนใหญ่กลายเป็นทะเลทรายทำให้ทรัพยากรโดยเฉพาะน้ำไม่พอใช้ จนเกิดการแย่งชิงกันอย่างเข้มข้นจนเป็นสงคราม
ในปัจจุบัน ย่านนั้นยังขาดน้ำแสนสาหัส การแย่งชิงน้ำจึงเกิดขึ้นทั้งระหว่างชาวอาหรับด้วยกันและระหว่างชาวอาหรับกับอิสราเอล
ในช่วงนี้แทบจะไม่มีรายงานเกี่ยวกับการแย่งชิงทรัพยากรกันในแอฟริกา จนเกิดสงครามใหญ่ภายในซูดาน ซึ่งเกินครึ่งประเทศเป็นทะเลทรายและในคองโก
สงครามในซูดานเริ่มเมื่อปี 2566 ส่งผลให้ประชาชนเสียชีวิตแล้วใกล้ 1 แสนคน พลัดพรากจากที่อยู่กว่า 12 ล้านคนรวมทั้งราว 3.5 ล้านคนที่หนีออกไปอาศัยอยู่ในต่างประเทศ ในกรณีของคองโกซึ่งไม่ขาดแคลนน้ำ
สงครามภายในเกิดแล้วเกิดอีกต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 30 ปี ในขณะนี้การสู้รบปะทุขึ้นทางด้านตะวันออกของประเทศ ซึ่งมีทรัพยากรหลายอย่าง รวมทั้งแร่ธาตุหายากที่ใช้ในอุตสาหกรรมร่วมสมัยเช่นเดียวกับในยูเครน
นอกจากสงครามดังกล่าว ยังมีสงครามแบบไม่ใช้อาวุธสังหารกันโดยตรง เพื่อแย่งชิงน้ำกันในอินเดียซึ่งแทบไม่เป็นข่าว
การแย่งชิงน้ำในอินเดียมีมานานจนชาวอินเดียชื่อ วันทนา ชีวะ เขียนหนังสือออกมาเมื่อปี 2543 ชื่อ “สงครามชิงน้ำ” (Water Wars) ซึ่งมีบทคัดย่อภาษาไทยอยู่ในเว็บไซต์ที่อ้างถึงเช่นกัน
การแย่งชิงแบบเข้มข้นล่าสุด อยู่ในช่วงการประท้วงอย่างกว้างขวางของชาวบ้านจำนวนมาก ที่จะได้รับผลกระทบร้ายแรงจากโครงการผันน้ำจากแม่น้ำสายใหญ่ไปให้ย่านขาดแคลนน้ำ
ในแนวกับที่นักการเมืองไทยเคยผุดความคิดจะผันน้ำจากแม่น้ำโขงมายังทุ่งกุลาร้องไห้ โครงการจะใช้เงินเกือบ 2 แสนล้านบาท และจะสร้างผลกระทบร้ายแรงโดยตรงต่อหมู่บ้าน 21 แห่งและสิ่งแวดล้อม
รวมทั้งป่าสงวนขนาดใหญ่ซึ่งเป็นที่อาศัยของเสือโคร่งจำนวนมาก ในแนวโครงการอ่างเก็บน้ำในเมืองไทยที่จะกระทบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่หลายโครงการ
มองสงครามจากมุมดังกล่าวคงทำให้เราเห็นว่า เมืองไทยอยู่ในความต้องการของต่างชาติเพราะมีทรัพยากรจำนวนมากโดยเฉพาะดิน น้ำ ลมและไฟซึ่งใช้เป็นฐานของการปลูกพืชอาหารเพื่อการดำรงชีวิต
ชาวอาหรับต้องการใช้ที่ดินไทยมานานและตอนนี้มีข่าวว่าชาวอิสราเอลเริ่มเข้ามาตั้งถิ่นฐานกันแล้ว เมื่อเห็นทรัพยากรน้ำปริมาณมหาศาลในบ้านเรา พวกเขาย่อมพอใจ แต่ชาวไทยยังขาดแคลนน้ำในบางฤดูกาลเพราะบริหารจัดการน้ำไม่เป็น?