อิเหนาผลิตแก๊สจากขยะใช้ทั้งหมู่บ้าน
ชาวเมืองมาลัง อินโดนีเซีย ผลิตแก๊สจากขยะใช้ทั้งหมู่บ้านกว่า400ครัวเรือน ชี้จ่ายถูกกว่า18เท่า
ชุมชนแห่งหนึ่งในจังหวัดชวาตะวันออก ประเทศอินโดนีเซีย ได้เปลี่ยนก๊าซมีเทนจากกองขยะในหมู่บ้านให้กลายเป็นก๊าซหุงต้มที่สามารถหล่อเลี้ยงครัวเรือนต่างๆ ได้มากถึงกว่า 400 ครัวเรือน
เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นในเมืองมาลัง จังหวัดชวาตะวันออก หาทางแก้ปัญหาขยะล้นหมู่บ้านด้วยวิธีการอันชาญฉลาด นั่นคือ ติดตั้งระบบสกัดก๊าซมีเทนจากกองขยะ แล้วปั๊มออกไปยังหมู่บ้านต่าง ๆ ที่อยู่ใกล้เคียง สำหรับวิธีการก็ง่ายแสนง่าย นั่นคือ ติดตั้งท่อพลาสติก 48 จุดใต้ลานทิ้งขยะที่กองเป็นภูเขาเลากาเพื่อดักก๊าซมีเทนที่เกิดจากการเน่าเปื่อยของขยะ ก่อนจะส่งต่อไปยังสถานีสกัดก๊าซมีเทนออกจากสารประกอบอย่างอื่น อาทิ คาร์บอนไดอ็อกไซด์ จากนั้น ระบบตรวจสอบกลางก็จะจัดแจงส่งก๊าซมีเทนบริสุทธิ์ไปยังครัวเรือนต่าง ๆ กว่า 400 ครัวเรือน
นายลันโต ผู้จัดการฝ่ายเทคนิคของที่ทิ้งขยะ "ซูปิตูรัง" เปิดเผยว่าตอนนี้ก๊าซมีเทนที่ถูกสกัดได้จากกองขยะได้ถูกส่งไปยังหมู่บ้านหลายแห่งในตำบลซูคุน และครัวเรือน 408 แห่งที่ใช้ก๊าซจากที่นี่อยู่
นายลันโตกล่าวด้วยว่าจังหวัดชวาตะวันออกซึ่งมีประชากรอยู่ 895,000 คน ผลิตขยะมากถึง 600 ตันในแต่ละวัน แต่ขยะที่จะนำมาใช้สกัดก๊าซมีเทนได้ต้องเป็นขยะออร์แกนิก ซึ่งมีสัดส่วนเพียงแค่ 5% ของขยะทั้งหมดเท่านั้น โดยนับถึงขณะนี้ หน่วยงานของนายลันโตสามารถผลิตก๊าซหุงต้มได้วันละประมาณ 200 กิโลกรัมเท่านั้น
มีเทนถูกมองว่าเป็นก๊าซที่ส่งผลให้เกิดภาวะโลกร้อน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นจังหวัดชวาตะวันออกจึงหวังว่าระบบการคัดแยกก๊าซมีเทนจากกองขยะของพวกเขาจะช่วยลดการปล่อยก๊าซโลกร้อนออกสู่ชั้นบรรยากาศได้บ้าง นอกจากนี้ยังมีผลพลอยได้ในการช่วยให้ชาวบ้านได้ใช้พลังงานราคาถูกกันด้วย
ทั้งนี้ ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่จะใช้ก๊าซแอลพีจีในการหุงหาอาหาร แต่ก๊าซชนิดนี้มีราคาสูงกว่าก๊าซมีเทนถึง 10 เท่า
นายเฮอร์มาน คาห์โยโน ชาวบ้านวัย 37 ปี กล่าวว่าใช้ก๊าซมีเทนจากบ่อขยะซูปิตูรังโดยเสียเงินเพียงเดือนละ 10,000 รูเปี๊ยะห์ หรือประมาณ 21 บาทเท่านั้น แต่ถ้าใช้ก๊าซแอลพีจีเขาจะต้องจ่ายเงินมากถึงเดือนละ 180,000 รูเปี๊ยะห์ หรือ 378 บาท ซึ่งถือว่าช่วยได้มาก
ที่ทิ้งขยะซูปิตูรังครอบคลุมพื้นที่เกือบ 47 ไร่ มีภูเขาขยะกองสูงถึง 12 เมตร เจ้าหน้าที่หวังว่าก้าวเล็ก ๆ นี้จะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอันยิ่งใหญ่ที่ช่วยลดก๊าซอันตรายที่ผลิตจากภูเขาขยะได้ โดยขณะนี้พวกเขากำลังมองหาทางเพิ่มความจุของระบบให้ถึงจุดที่สามารถดึงก๊าซมีเทนมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้ ขณะนี้มีการประเมินว่าซูปิตูรังสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากสุด 5,600 เมกะวัตต์ต่อปี ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับการใช้ของคนได้ทั้งชุมชน