ฟื้นเชื่อมั่น ‘พหุภาคี’ ภารกิจท้าทาย ‘จี20’
การฟื้นความเชื่อมั่นจากสาธารณชนต่อระบบพหุภาคี หรือนโยบายการตกลงร่วมกันจากหลายฝ่ายจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้
บรรดาผู้เชี่ยวชาญแนะนำผู้นำทางการเมืองยึดมั่นตามหลักการของ “ระบบพหุภาคี” แม้มีความวุ่นวายจากกระแสต่อต้านโลกาภิวัตน์และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจในปัจจุบัน ระหว่างการประชุมที่กรุงโตเกียวของญี่ปุ่นเมื่อไม่นานนี้ ก่อนการประชุมสุดยอด “จี20” ที่เมืองโอซากา ระหว่างวันที่ 28-29 มิ.ย.นี้
“ธิงค์ 20” (ที20) กลุ่มคลังสมองที่ให้คำแนะนำกลุ่ม 20 เศรษฐกิจก้าวหน้าและเศรษฐกิจเกิดใหม่ หรือ “จี20” เกี่ยวกับนโยบายด้านต่าง ๆ เช่น สิ่งแวดล้อม ธรรมภิบาลโลกและการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานได้จัดการประชุมประจำปี ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศกว่า 400 คนเข้าร่วม
การประชุมที20 ครั้งนี้ยังมีขึ้นในช่วงที่สถานการณ์การค้าโลกกำลังตึงเครียด โดยเฉพาะการตอบโต้กันระหว่างสหรัฐกับจีน ซึ่งเป็น 2 เศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยทั้ง 2 ประเทศต่างปรับขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากอีกฝ่าย ซึ่งยิ่งส่งผลกระทบหนักขึ้นต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจทั่วโลก
โคจิ โทมิตะ เจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นผู้แทนรัฐบาลโตเกียวสำหรับการประชุมจี20 ประจำปีนี้ ให้สัมภาษณ์พิเศษว่า การฟื้นความเชื่อมั่นจากสาธารณชนต่อระบบพหุภาคี หรือนโยบายการตกลงร่วมกันจากหลายฝ่ายจะเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญของการประชุมสุดยอดครั้งนี้
“ในช่วงที่ความเสี่ยงขาลงขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ ชัดเจนว่าการประชุมสุดยอดที่โอซากาจะให้ความสำคัญกับสภาพการณ์นี้” โทมิตะเผย และว่า “แต่ความท้าทายคือ เราจะต้องจัดการประเด็นนี้ ในช่วงที่ความเชื่อมั่นของสาธารณชนต่อระบบพหุภาคีกำลังถดถอยลง”
นอกจากนั้น ผู้แทนรัฐบาลญี่ปุ่นในการประชุมจี20 เสริมว่า บรรดาผู้นำโลกควรให้ความสำคัญกับ “คุณภาพการเติบโต” มากกว่าเน้นแต่ตัวเลขสถิติ ส่วนประเด็นสงครามการค้า โทมิตะคาดว่าจะไม่มีการหาข้อสรุปเรื่องนี้ในการซัมมิตที่โอซากา แต่ยอมรับว่าเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องจับตาอย่างใกล้ชิด
เคนิชิโร ซาซาเอะ ประธานสถาบันญี่ปุ่นด้านกิจการระหว่างประเทศ (เจไอไอเอ) และอดีตเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำสหรัฐ เตือนว่า การลดความร่วมมือระหว่างประเทศจะยิ่งส่งเสริมให้ประชานิยมแข็งแกร่งขึ้น
“หลายประเทศกำลังทำเพื่อผลประโยชน์ของตัวเอง และเริ่มเห็นความแตกแยกชัดเจนขึ้นในภาคการเมืองและภาคสังคม” ซาซาเอะให้สัมภาษณ์
ประธานเจไอไอเอ กล่าวอีกว่า เนื่องจากความท้าทายจากการต่อต้านโลกาภิวัตน์ส่งผลเสียหายรุนแรง การใช้นโยบายเชิงพหุภาคีจึงต้องเป็นพื้นฐานและจุดเริ่มต้นสำคัญในการจัดการความท้าทายร่วมกันของโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ สุขภาพ และการค้า
แถลงการณ์ร่วมที20 ซึ่งผ่านการวิจัยและวิเคราะห์โดยบรรดาผู้เชี่ยวชาญนโยบายชั้นนำ เรียกร้องให้ผู้นำจี20 เดินหน้าตามเป้าหมายสร้างสังคมที่ยั่งยืนต่อไป ในขณะที่ต้องเตรียมรับมือความท้าทายในอนาคต
“ประเทศจี20 ได้เข้าใกล้เป้าหมายระดับโลกมากขึ้นในการสร้างสังคมที่ยั่งยืน ครอบคลุม และมีภูมิคุ้มกัน อันเนื่องมาจากข้อตกลงปารีสและวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ปี 2030 แต่ยังคงเผชิญกับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า” นาโอยูกิ โยชิโนะ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบีไอ) ซึ่งเป็นประธานที20 ระบุในแถลงการณ์
โยชิโนะ เสริมว่า การลดความเหลื่อมล้ำที่ขยายวง การลดความยากจน ความเท่าเทียมทางเพศ การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และการป้องกันภัยพิบัติ ยังคงเป็นความท้าทาย
“เรายังต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ รวมถึงคลื่นลูกใหม่ของนวัตกรรมดิจิทัล สังคมสูงอายุ พลวัตที่เปลี่ยนไปของธรรมภิบาลโลก และการเสื่อมถอยของความไว้วางใจและความสมานฉันท์ในสังคม”
ทั้งนี้ หลังจบการประชุมที20 ได้มีการส่งมอบแถลงการณ์ร่วมให้กับทาโร โคโนะ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศในฐานะตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่น เพื่อนำไปพิจารณาในการซัมมิตที่โอซากาต่อไป