‘เซลฟี่’พฤติกรรม"หลงตัวเอง"หรือ"บอกตัวตนให้โลกรู้"
เซลฟี่มีเป้าหมาย เพื่อสร้างสายใยหรือการติดต่อกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น
ทุกวันนี้ไปไหนๆ ก็เจอแต่คนควักโทรศัพท์มือถือ ชูขึ้นมาสูงๆ ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ ถ่ายรูปตัวเองแล้วโพสลงบนโซเชียลมีเดีย
ปฐมบทของการเซลฟี่เริ่มต้นจากการติดกล้องหน้าเข้าไปในโทรศัพท์มือถือรุ่นพื้นๆ อย่างโซนีอีริคสัน แซด1010 เมื่อปี 2546ตอนนั้นผู้ผลิตไม่ได้ตั้งใจจะให้ผู้ใช้นำไปถ่ายภาพตนเองแบบไม่รู้จบ แค่ต้องการอำนวยความสะดวกสำหรับการประชุมธุรกิจกันเท่านั้น
กระแสคลั่งไคล้เซลฟี่บอกให้ทราบถึงยุคสมัยที่พวกเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ ยุคที่ภาพถ่ายเบ่งบานทั่วโลก สามารถกำหนดวาทกรรมสาธารณะ สร้างความสะเทือนอารมณ์ แม้กระทั่งลบเลือนเส้นแบ่งแห่งความเป็นจริง ผู้เชี่ยวชาญบอกด้วยว่า บางครั้งภาพถ่ายก็สร้างมลพิษได้มากเช่นกัน
“เราอยู่ในยุคของภาพถ่าย จมอยู่ในกองภาพถ่ายเลยล่ะ การเซลฟี่บอกให้ทราบว่าภาษาชนิดใหม่ได้อุบัติขึ้นแล้ว เป็นภาษาที่มีอิทธิพลต่อวิถีการมองตัวเราเอง ด้วยอารมณ์ของเราเอง”เอลซา โกดาร์ตนักจิตวิทยา นักเขียนและอาจารย์วิชาปรัชญาบรรยายถึงเซลฟี่ ที่ขณะนี้อยู่ในทุกๆ ที่บนโซเชียลมีเดีย
ไม่ว่าจะเป็นอินสตาแกรม สแนปแชต เฟซบุ๊ค และทวิตเตอร์ เต็มไปด้วยภาพแห่งการครอบครอง วัยรุ่นกับแมว หนุ่มจีนหน้าหอไอเฟล คู่แต่งงานใหม่ที่ดิสนีย์แลนด์ และแฟนคลับกับดาราภาพยนตร์
“เซลฟี่ทำให้เราได้ติดต่อกับผู้คนมากขึ้น”คริสเตียน ดังเกอร์ นักจิตวิทยาบราซิลสรุปสั้นๆ แต่ได้ใจความ
แต่ในทัศนะของพอลลีน เอสคานเด กากี ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาสัญญะหรือสัญลักษณ์แล้วเซลฟี่มีเป้าหมาย เพื่อสร้างสายใยหรือการติดต่อกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งให้เหนียวแน่นยิ่งขึ้น “ถ้าคุณเป็นเซเลบริตีก็ต้องติดต่อกับแฟนคลับ ถ้าเป็นนักการเมืองก็ต้องติดต่อกับประชาชน”
เซลฟี่ถูกออกแบบมาให้จดจำประสบการณ์บางอย่างได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ด้วยการถ่ายจากด้านบน มุมภาพกว้าง แบ็กกราวด์น่าสนใจ เซลฟี่เปิดช่องให้เราควบคุมภาพได้ทั้งหมด คนที่ชอบเซลฟี่จึงจัดวางตนเองเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง
“มันไม่ใช่แค่ปัญหาการหลงตัวเอง เพราะหลงตัวเองเป็นเรื่องบวกมาก แต่ปัญหาอยู่ที่อีโก้และการให้คุณค่าตนเองสูงเกินไป” โกดาร์ต ผู้เขียนหนังสือชื่อ “ฉันเซลฟี่ ฉันจึงมีอยู่” ให้ความเห็น
การประเมินค่าสูงเกินไปมาจากความต้องการให้มีคนกดไลค์มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และอาจกลายเป็นการยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง คิดถึงแต่ “ฉัน ฉัน ฉัน” เป็นสำคัญ
ภาพเซลฟี่ที่น่าตื่นตาตื่นใจเปิดให้บุคคลอวดด้านที่ดีที่สุดของตน เพราะบ่อยครั้งที่ภาพถูกถ่ายขึ้นในบางปรากฏการณ์ตัวอย่างเช่น แองเจลา นิโคเลา ชาวรัสเซีย ผู้ชอบถ่ายภาพเสี่ยงตายบนตึกสูง บนยอดอาคารซากราดา ฟามิเลียในบาร์เซโลนา หรือเซี่ยงไฮ้ทาวเวอร์
ในสายตานักจิตวิทยาอย่างโกดาร์ต “นี่เป็นพฤติกรรมเสี่ยงมาก และให้ความรู้สึกยั่วเย้ากับความตาย”
ในอีกแง่หนึ่งการเซลฟี่แท้จริงแล้วเป็นการลดทอนคุณค่าของคนๆ นั้น เทรนด์นี้เย้ายวนผู้คนมากมายคนแล้วคนเล่า ส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว ให้หมกหมุ่นอยู่กับความสวยงามตามอุดมคติของสังคม
แต่ตอนนี้บางคนเริ่มสวนกระแสด้วยการถ่ายรูป “โชว์เหนียง” หรือการถ่ายภาพจากด้านล่างเพื่อให้เห็นคางสองชั้น ว่ากันว่าแม้แต่คนที่ซึมเศร้าสุดๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของปรากฏการณ์เซลฟี่ “ที่เปิดให้พวกเขาได้มีตัวตนด้วย”
นอกจากนี้เทรนด์ขโมยซีนขณะที่คนอื่นเซลฟี่โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวก็กำลังมาแรง
จะว่าไปแล้วเซลฟี่ก็เป็นเครื่องมือสำหรับนักกิจกรรมได้ด้วยเช่น นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโพสต์ภาพตัวเองทำความสะอาดชายหาดเปรียบเทียบกันแบบ “บีฟอร์” และ “อาฟเตอร์” หรือผู้สนับสนุนการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ก็โพสต์รูปขณะให้นมลูก
“อาจจะดูเป็นส่วนตัวมากแต่ก็เป็นความจริงล้วนๆ”เอสคานเด กากี ย้ำความจริงในข้อนี้
อ้ายเว่ยเว่ย ศิลปินจีน ใช้เซลฟี่เป็นเครื่องมือทางการเมือง ท้าทายพรรคคอมมิวนิสต์ในกรุงปักกิ่ง หรือใช้ให้กำลังใจผู้ลี้ภัยที่เสี่ยงชีวิตข้ามทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
เซเลบริตี้ใช้ภาพเซลฟี่เอื้อประโยชน์ให้กับธุรกิจของตน ทุกครั้งที่คิม คาร์ดาเชียน โพสต์ภาพนู้ดบนอินสตาแกรมที่มีผู้ติดตาม 141 ล้านคน เมื่อนั้นต้องเป็นข่าวหน้า 1
ที่หวิวไปกว่านั้นคือการถ่ายภาพใบหน้าในอารมณ์สุขสม ทั้งด้วยฝีมือตนเองหรือการร่วมรัก การถ่ายภาพเซลฟี่กับศพญาติก็ท้าทายแนวคิดเรื่องความตาย
“นี่คือวิธีทำให้บุคคลที่จากเราไปแล้วได้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ความตายไม่มีอยู่ในโลกเสมือน” โกดาร์ตกล่าว
สุดท้ายแล้วการเซลฟี่อาจมีพลังมากขึ้นทุกที และเป็นอันตรายเมื่อเราเสพติดมัน
“เซลฟี่ก็คล้ายๆกับปรากฏการณ์อื่นๆ แถมยังยิ่งกว่านั้น สำหรับบางคนถึงขนาดต้องเซลฟี่ตลอดเวลาจนกลายเป็นขาดไม่ได้ ต้องถ่ายรูปให้คนอื่นดู” เอสคานเด กากี ผู้เขียนหนังสือชื่อ “ใครๆก็เซลฟี่”ตั้งข้อสังเกต
ยิ่งไปกว่านั้นแอพพลิเคชันบางตัวมีฟิลเตอร์ลบริ้วรอย เพิ่มความสวยงาม ให้เจ้าตัวโพสต์อวดความงามแบบในฝันได้อย่างไม่อายใคร
“มันดูปลอมมากเลย ถ้าคุณรับมือกับอาการแบบนี้ไม่ได้ มันจะกลายเป็นโรคร้ายขึ้นมา หากมีภาพลักษณ์ไม่ตรงกับที่คนอื่นชื่นชอบอาจเป็นอันตราย โดยเฉพาะในหมู่วัยรุ่น”นักเขียนทิ้งท้ายถึงอันตรายของเซลฟี่ด้วยความเป็นห่วง