เปิด ‘ทางเลือก-ทางรอด’ ไทยในสงครามการค้า
ส่วนความตกลงเจเทปปา จะเป็นแนวทางที่ช่วยยกระดับ และเพิ่มทางเลือกด้านการค้าและส่งออกให้กับไทย เนื่องจากญี่ปุ่นมีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นประเทศลงทุนรายใหญ่อันดับ1และยังเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับต้นๆของไทยด้วย
กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) จัดงานสัมมนาวิชาการหัวข้อ “ทางเลือก-ทางรอดของไทยในสงครามการค้า” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งภายใต้โครงการยุทธศาสตร์การเจรจาตามความตกลงระหว่างไทยกับญี่ปุ่นสำหรับความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ “เจเทปปา”(JTEPA) เพื่อนำเสนอมุมมองในการขยายความร่วมมือทางเศรษฐกิจและลดความเสี่ยงด้านการค้าของประเทศไทยกับต่างชาติ
“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์”ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวนำเสนอประเด็นเรื่อง เอเชียตะวันออกกับทางเลือกของไทยในสงครามการค้าว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนได้ส่งผลกระทบต่อระบบซัพพลายเชนและเศรษฐกิจโลกแม้ว่าสหรัฐจะมุ่งเป้าไปยังจีนเป็นหลัก แต่ก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ผลกระทบได้ขยายวงกว้างครอบคลุมไปยังเอเชียตะวันออกและอาเซียนนำมาซึ่งความเสี่ยงและโอกาส คาดว่าจะยืดเยื้อไปอีกนาน
สมเกียรติ ชี้ว่า แนวโน้มศูนย์กลางทางเศรษฐกิจโลกกำลังเคลื่อนย้ายไปสู่จีน เมื่อดูจากแผนนโยบายการพัฒนาประเทศของจีน ภายใต้นโยบาย"เมดอินไชน่า 2025"ที่เน้นในเรื่องหุ่นยนต์ การบิน ไอที ระบบราง พลังงาน รถยนต์ไฟฟ้า อุปกรณ์การแพทย์ เครื่องจักรเกษตร เดินทะเล และมุ่งนโยบายต่างประเทศที่เน้นการค้าในเส้นทางสายไหมใหม่ ทำให้คาดการณ์ว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี)ของจีนจะใหญ่กว่าสหรัฐในอีก 10ปีข้างหน้า
"หากแต่ขณะนี้เอเชียถูกมองว่าเป็นเขตอิทธิพลจีน และจีนได้แผ่ขยายอิทธิพลในหลายด้านทั้งทางการทูต วัฒนธรรม ทรัพยากรและความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ในความเป็นจริงท่าทีของประเทศในเอเชียก็หลากหลาย ซึ่งเสียงของอาเซียนก็ไม่เป็นเอกภาพ โดยที่ไทย เมียนมา อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์มีท่าทีไม่เลือกข้าง แต่เมื่อพิจารณาดูตามความสัมพันธ์และความร่วมมือเป็นรายประเทศจะเห็นว่าแบ่งเป็นขั้วฝั่งจีน ได้แก่ ปากีสถาน เนปาล บังกลาเทศ มาเลเซีย ลาว และกัมพูชา ส่วนขั้วสหรัฐจะมีอินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และเวียดนาม โดยพันธมิตรกับสหรัฐเลือกที่จะแบนหัวเว่ย"ประธานทีดีอาร์ไอกล่าว
สมเกียรติ ได้เสนอแนวทางต่อรัฐบาลไทยว่า จะต้องริเริ่มโครงการใหม่ ๆ หรือทบทวนแผนดำเนินงานทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่น ๆ หวังกระจายความเสี่ยงออกจากจีน และประกันการเข้าถึงตลาดหลักในโลก ควบคู่กับการช่วยธุรกิจรับมือกับการเปลี่ยนแปลง กระจายต้นทุน และประโยชน์อย่างเป็นธรรม
ด้าน“อาจารี ศรีรัตนบัลล์”เอกอัครราชทูตประจำกระทรวงการต่างประเทศกล่าวชี้ว่าแนวทางที่จะเป็นทางเลือกและทางรอดของไทย นั่นคือ การเพิ่มความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงไปยังความร่วมมือด้านอื่น ๆ โดยเฉพาะการผลักดันให้การเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (อาร์เซ็ป) บรรลุผลสำเร็จโดยเร็ว และการส่งเสริมให้เกิดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี)
“กระทรวงได้ใช้โอกาสนี้ เพื่อศึกษาทางเลือกยกระดับการค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นอย่างจริงจังเพื่อเสนอต่อรัฐบาลปัจจุบัน เพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงความตกลงเจเทปปาทั้งฉบับให้ทันสมัยเพื่อเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติมในกลุ่มสินค้าที่ยังไม่ได้เปิดตลาดระหว่างกัน รวมถึงสินค้าประเภทดิจิทัล” อาจารีระบุ
ทั้งนี้ ผลจากข้อตกลงเจเทปปาที่เกิดขึ้นส่งผลให้การค้าระหว่างไทยกับญี่ปุ่นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เพิ่มขึ้น 20% การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นสูงขึ้นเป็น 88.4% ในปี 2561โดยส่งออกจากไทยไปญี่ปุ่น 24,942ล้านดอลลาร์และการนำเข้าจากญี่ปุ่น 35,260ล้านดอลลาร์จะเห็นว่า เจเทปปาได้เอื้อประโยชน์และสร้างโอกาสการค้ามากมายให้กับไทย โดยเฉพาะด้านการเกษตรอย่างผลไม้เมืองร้อน มะพร้าว มะม่วงน้ำดอกไม้เชียงใหม่
ขณะที่“กลินท์ สารสิน” ประธานหอการค้าแห่งประเทศไทยระบุว่าสงครามการค้าส่งผลเชิงบวกกับไทยอยู่บ้าง ในเรื่องยอดสั่งสิ่งทอจากสหรัฐที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่ความสามารถส่งออกสินค้าประเภทอาหารแช่แข็งไปจีนก็มากขึ้นด้วยเช่นกัน หากแต่ตอนนี้ไทยต้องระวังการสวมสิทธิรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (ซีโอ) ของไทยส่งไปยังสหรัฐ อาจส่งผลให้สหรัฐเกิดความเข้าใจผิด
อย่างเช่นกรณีที่เกาหลีใต้ได้สวมสิทธิซีโอในนามเวียดนาม เพื่อส่งออกไปยังสหรัฐ เป็นผลให้สหรัฐไม่พอใจ ประกาศเก็บภาษีเหล็กจากเวียดนามขึ้นเป็น 332% จะเห็นว่า รัฐและภาคเอกชนจะต้องช่วยกันสอดส่อง เพื่อลดความเสี่ยงได้
กลินท์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อาเซียนเป็นตลาดการค้าที่สำคัญของไทย ที่ควรที่จะคงรักษาไว้ และให้ความสำเร็จมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการค้าชายไทยไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงตลาดในอนุภูมิภาค“ซีแอลเอ็มวี”ที่ยังเป็นตลาดส่งออกสินค้าหลักของไทย