นักวิเคราะห์ชี้ม็อบฮ่องกงชนวนฉุดเศรษฐกิจถดถอย
"ฮัล แลมเบิร์ต" ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)บริษัทพอยท์ บริดจ์ แคปปิตัล เฟาเดอร์ ระบุว่า การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกงจะส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจนำเงินเข้าไปลงทุนในฮ่องกงของบรรดานักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนชาวฮ่องกงโดยตรง
การชุมนุมประท้วงของชาวฮ่องกงครั้งนี้ ถือเป็นการส่งสัญญาณความรุนแรงมากขึ้น เริ่มจากช่วงเย็นของวันที่ 2 ส.ค.ที่ประชาชนไปรวมตัวกันตามถนนสายต่างๆ ตามาด้วยวันที่ 5 ส.ค.ที่เป็นการท้าทายทางการจีน จนมาถึงการปิดสนามบินเมื่อวันที่ 12 ส.ค. ซึ่งผู้ร่วมชุมนุมมีหลากหลายอาชีพ ตั้งแต่ทนายความไปจนถึงนักเรียน นักเคลื่อนไหวไปจนถึงผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ก่อสร้าง การศึกษา การเงิน สุขภาพ ค้าปลีก
บรรดาบริษัทชื่อดังระดับโลก7 แห่งของฮ่องกง ที่อยู่ในรายชื่อบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกจาก 500 บริษัท รวมถึง เลอโนโว ซีเค ฮัทชิสัน และธนาคารพาณิชย์ระดับโลก ต่างแสดงความกังวลถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น โดยผลกระทบที่ว่านี้่จะลามไปถึงผลประกอบการ ส่งผลกระทบต่อไปยังห่วงโซ่อุปทาน และการลงทุนโดยรวม
แม้แต่แคร์รี หล่ำ หัวหน้าคณะบริหารเขตปกครองพิเศษฮ่องกง ยังเตือนว่า กิจกรรมการประท้วงที่ผิดกฎหมายโดยอ้างสิทธิเสรีภาพกำลังทำลายหลักนิติธรรม และสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในระยะยาว โดยผลกระทบอาจรุนแรงกว่าวิกฤตในปี 2546 และ2551 ซึ่งอาจต้องใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้ ขณะที่นักวิเคราะห์เตือนว่า มีโอกาสเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรง หากวิกฤตการเมืองในฮ่องกงยังคงยืดเยื้อต่อไป
แฟรงค์ ชานเลขาธิการด้านการขนส่งของฮ่องกง เปิดเผยว่า เมื่อปี2561 สนามบินฮ่องกงรองรับผู้โดยสารมากถึง 74 ล้านคน และมีเที่ยวบินจำนวนกว่า 1,000 เที่ยวทั้งเที่ยวบินขนส่งผู้โดยสารและขนส่งสินค้า ไปยังจุดหมายปลายทางต่างๆ 200 จุดหมายทางทั่วโลก คิดเป็นสัดส่วน 5% ของผลผลิตมวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ซึ่งการปิดสนามบินจะสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่านับสิบล้านดอลลาร์ และถึงแม้จะกลับมาเปิดสนามบินฮ่องกงได้ตามปกติ แต่ความเสียหายยังส่งผลต่อเนื่องไปอีกหลายเดือนข้างหน้าจากการยกเลิกและการจองตั๋วโดยสารใหม่
ขณะที่บทวิเคราะห์ของซีเอ็นบีซี ระบุว่า การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อมานานกว่า2เดือนในฮ่องกงกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ธุรกิจ การค้า การลงทุนในฮ่องกงโดยตรงและในระยะสั้น สิ่งที่บรรดาผู้เชี่ยวชาญ และนักเศรษฐศาสตร์วิตกกังวลคือ เศรษฐกิจของฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ส่วนในระยะยาวนั้นฮ่องกงจะสูญเสียชื่อเสียงในฐานะเป็นศูนย์กลางการเงินของภูมิภาคที่มีความน่าเชื่อถือในสายตาบรรดานักลงทุนต่างชาติ
บรรดานักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นว่า เหตุผลที่วิตกว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยเพราะการชุมนุมประท้วงในฮ่องกงเกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐและจีนกำลังทำสงครามการค้าระหว่างกัน ทำให้ยอดส่งออกสินค้าของฮ่องกงปรับตัวลดลง ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของฮ่องกงตลอดทั้งปีปรับตัวลดลง
ล่าสุดธุรกิจค้าปลีก ซึ่งเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฮ่องกงปรับตัวลดลง 6.7% ในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และร่วงลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 สื่อชั้นนำของฮ่องกงอย่างเซาท์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์ ระบุว่ายอดขายของบริษัทค้าปลีกในฮ่องกงปรับตัวร่วงลง 50%-70% ตั้งแต่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยมียอดขายต่ำกว่า 300 ดอลลาร์ฮ่องกง แต่มีภาระค่าเช่าต่อเดือนที่มากถึง 2 หมื่นดอลลาร์ฮ่องกงต่อเดือน
“ท่ามกลางภาวะสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ ทำให้สถานการณ์ธุรกิจในฮ่องกงแย่มากแล้ว ขณะที่การชุมนุมประท้วงยิ่งทำให้สถานการณ์แย่ที่สุด”เจ้าของบริษัทค้าปลีกในฮ่องกงแห่งหนึ่ง กล่าว
นอกจากค้าปลีกจะย่ำแย่ลงแล้ว กระแสเงินลงทุนในตลาดหุ้นของฮ่องกงที่มีมูลค่ารวม 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ก็พลอยได้รับผลกระทบไปด้วย ไม่ต่างจากยอดขายอสังหาริมทรัพย์ในฮ่องกงที่ปรับตัวลง
“นี่ไม่ได้เป็นหายนะในระยะสั้น ทุกคนพากันพลาดนัดหมายและการวางแผนทางธุรกิจ การประชุมทางธุรกิจก็ไม่สามารถทำได้ แต่ในระยะยาว เมื่อคิดถึงบรรดาบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาตั้งสำนักงานใหญ่ในฮ่องกงแล้ว พวกเขากำลังคิดที่จะย้ายสำนักงานใหญ่ไปตั้งที่สิงคโปร์ หรืออาจจะย้ายไปไต้หวัน หรือกรุงโตเกียว”สตีฟ ออร์ลิน ประธานคณะกรรมการด้านความสัมพันธ์สหรัฐ-จีน ให้ความเห็น
ขณะที่ ฮัล แลมเบิร์ต ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ)บริษัทพอยท์ บริดจ์ แคปปิตัล เฟาเดอร์ ระบุว่า การชุมนุมประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกงจะส่งผลกระทบถึงการตัดสินใจนำเงินเข้าไปลงทุนในฮ่องกงของบรรดานักลงทุนต่างชาติและนักลงทุนชาวฮ่องกงโดยตรง
“ชาวฮ่องกงพยายามโยกเงินออกจากประเทศนี้ และพวกเขาก็พยายามเอาตัวเองออกจากฮ่องกงด้วย และเมื่อสถานการณ์เป็นแบบนี้ไปเรื่อยๆ เท่ากับเศรษฐกิจของฮ่องกงใกล้จะเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยคาดว่าเศรษฐกิจของฮ่องกงในไตรมาส3 จะหดตัว”แลมเบิร์ต กล่าว