‘ขโมยเทคโนโลยี’ ปมพิพาทใหม่ ‘สหรัฐ-หัวเว่ย’
ดูเหมือนความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลสหรัฐกับ “หัวเว่ย เทคโนโลยีส์” ยักษ์ใหญ่เทเลคอมของจีนจะยังไม่จบ ล่าสุดมีรายงานว่า อัยการสหรัฐกำลังตรวจสอบกรณีเพิ่มเติมที่มีการกล่าวหาบริษัทหัวเว่ยว่า “ขโมยเทคโนโลยี” ซึ่งอาจทำให้บริษัทแดนมังกรถูกตั้งข้อหาอาญาข้อหาใหม่
เว็บไซต์วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานอ้างแหล่งข่าวว่า หนึ่งในเหตุการณ์ที่สหรัฐกำลังสอบสวนคือ มหากาพย์ข้อกล่าวหาที่ว่าหัวเว่ยขโมยทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัทและบุคคลหลายรายในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการที่หัวเว่ยดูดพนักงานจากบริษัทคู่แข่งด้วย
การตรวจสอบซึ่งรวมถึงการออกหมายขอเอกสารจากหัวเว่ยโดยอัยการรัฐบาลกลางจากสำนักงานอัยการแขวงตะวันออกของนิวยอร์กในบรูคลิน บ่งชี้ว่า รัฐบาลวอชิงตันกำลังสอบสวนรูปแบบการทำธุรกิจของหัวเว่ยที่ไม่ได้รวมอยู่ในคำฟ้องหัวเว่ยเมื่อต้นปีนี้
แหล่งข่าวระบุว่า การสอบสวนครั้งใหม่ยังมีส่วนที่สอดคล้องกับผลการตรวจสอบของวอลล์สตรีท เจอร์นัลเมื่อเดือน พ.ค. ที่พบว่ามีเอกสารคำฟ้องจำนวนมากที่กล่าวหาหัวเว่ยว่าขโมยเทคโนโลยี นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2530
“ข้อกล่าวหาเหล่านี้รวมถึงการขโมยเทคโนโลยีกล้องสมาร์ทโฟนจากผู้ผลิตมัลติมีเดียชาวโปรตุเกส และพฤติกรรมของหัวเว่ยที่ดูดพนักงานจากบริษัทคู่แข่งมาทำงานกับตน”
หัวเว่ย ชี้แจงหลังการเปิดโปงของวอลล์สตรีท เจอร์นัลครั้งนั้นว่า บริษัทมุ่งมั่นที่จะปฏิบัติตามกฎหมายในตลาดทั่วโลก และมีประวัติในการสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มานาน
“เราให้ความเคารพต่อสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งสำหรับธุรกิจของเราเอง ของบริษัทร่วมอุตสาหกรรม บริษัทพันธมิตร และคู่แข่ง” ยักษ์ใหญ่จีนระบุ
จนถึงขณะนี้ ยังไม่อาจสรุปได้ว่าหัวเว่ยจะถูกตั้งข้อหาใหม่หรือไม่ ขณะที่โฆษกของหัวเว่ยปฏิเสธแสดงความเห็นต่อรายงานล่าสุดของวอลล์สตรีท เจอร์นัล เช่นเดียวกับโฆษกกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ
การสอบสวนรอบใหม่นี้ตอกย้ำถึงความท้าทายรอบด้านที่ถาโถมใส่ยักษ์ใหญ่จีน ซึ่งเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์เทเลคอมรายใหญ่ที่สุดในโลก และค่ายสมาร์ทโฟนรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก หลังจากสหรัฐออกมาตรการต่าง ๆ ที่พุ่งเป้าหัวเว่ยในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ขณะที่รัฐบาลจีนออกมาวิจารณ์ความเคลื่อนไหวของสหรัฐอย่างหนัก
ความเคลื่อนไหวเหล่านี้รวมถึงคำสั่งผู้บริหารเมื่อเดือน พ.ค.ลงนามโดยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งเปิดทางให้สหรัฐห้ามนำเข้าอุปกรณ์เทเลคอมที่ผลิตโดย “ปรปักษ์ต่างชาติ” ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าพุ่งเป้าเล่นงานหัวเว่ย
ในเดือนเดียวกัน กระทรวงพาณิชย์สหรัฐได้เพิ่มชื่อหัวเว่ยใน “บัญชีดำ” ซึ่งเป็นการห้ามไม่ให้บริษัทหัวเว่ยซื้อชิ้นส่วนและซอฟต์แวร์จากบริษัทสหรัฐโดยไม่ได้รับอนุญาต
ก่อนหน้านี้ หัวเว่ยได้ยื่นคัดค้านคดีขโมยความลับทางการค้าไปแล้ว 1 คดี โดยเมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา อัยการในเมืองซีแอตเทิลยื่นคำฟ้องโดยกล่าวหาหัวเว่ยว่าขโมยเทคโนโลยีทดสอบสมาร์ทโฟนจากอดีตบริษัทพันธมิตรอย่าง “ที-โมบาย ยูเอส อิงค์” ระหว่างปี 2555-2556คำฟ้องยังกล่าวหาหัวเว่ยว่าให้เงินโบนัสเพื่อตบรางวัลแก่ลูกจ้างที่ขโมยข้อมูลลับจากบรรดาคู่แข่ง
ขณะที่หัวเว่ยระบุในคำร้องต่อศาลเพื่อยกฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 9 ส.ค. ว่าข้อกล่าวหานี้ “มีแรงจูงใจทางการเมือง”
แหล่งข่าวเผยว่า หนึ่งในกรณีที่อัยการสหรัฐกำลังสอบสวนคือข้อกล่าวหาที่ว่าหัวเว่ยขโมยเทคโนโลยีกล้องสมาร์ทโฟนจาก “รุย โอลิเวรา” ผู้ผลิตมัลติมีเดียจากโปรตุเกส หลังจากถูกโอลิเวรากล่าวหาว่าขโมยทรัพย์สินทางปัญญาที่เขาจดสิทธิบัตรในสหรัฐ หัวเว่ยก็ฟ้องร้องชายรายนี้ในเดือน มี.ค. และระบุในคำฟ้องว่าบริษัทไม่ได้ละเมิดสิทธิบัตรของโอลิเวราแต่อย่างใด
แหล่งข่าวอีกราย เผยว่า เจ้าหน้าที่จากสำนักงานสอบสวนกลางสหรัฐ (เอฟบีไอ) และอัยการจากสำนักงานอัยการแขวงตะวันออกของนิวยอร์ก ได้พบกับโอลิเวราช่วงต้นเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา และสอบถามเขาเกี่ยวกับผู้บริหารหัวเว่ยที่มาร่วมการประชุมระหว่างเขากับบริษัทเมื่อปี 2557 ที่เขาเคยเสนอโอนสิทธิในสิทธิบัตรของตนให้หัวเว่ยนำไปผลิตต่อ
นอกจากนั้น เจ้าหน้าที่ยังสอบถามโรเบิร์ต รีด อดีตวิศวกรที่ทำงานกับหัวเว่ยในสวีเดนระหว่างปี 2545-2546เดือน พ.ค. วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า รีดมีส่วนช่วยหัวเว่ยดึงตัวพนักงานที่ถูกเลิกจ้างจากบริษัทอีรีคสัน เอบี ซึ่งมีสำนักงานอยู่ใกล้กันในช่วงเวลาดังกล่าวด้วย
รีดเผยว่า หัวเว่ย สาขาสวีเดน ซุกซ่อนอุปกรณ์ที่ผลิตโดยต่างชาติเอาไว้ในชั้นใต้ดินเพื่อให้วิศวกรของหัวเว่ยทำการวิเคราะห์
อย่างไรก็ตาม หัวเว่ยออกมาปกป้องชื่อเสียงของตนอยู่หลายครั้งเมื่อมีการกล่าวหาเรื่องละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา และว่า บริษัทเคยเป็นทั้งผู้เสียหายและผู้ถูกกล่าวหาในประเด็นนี้มาโดยตลอดนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท
เดือน มิ.ย. หัวหน้าฝ่ายกฎหมายของหัวเว่ย แถลงว่า บริษัทไม่เคยถูกศาลตัดสินว่ากระทำเลวร้ายในคดีใด ๆ ที่เกี่ยวกับข้อกล่าวหาขโมยความลับทางการค้า
ในเอกสารคำฟ้องต่อศาลซีแอตเทิลเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว อัยการได้เผยรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้โบนัสของหัวเว่ยเพื่อตอบแทนลูกจ้างที่ขโมยข้อมูลจากคู่แข่ง ซึ่งเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2556 โดยในบางส่วนของนโยบายหัวเว่ย กำหนดให้เปิด “อีเมลภายในบริษัทที่มีการเข้ารหัสพิเศษ” สำหรับโอนข้อมูลที่มีความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง และให้ลูกจ้างมีหน้าที่ในการเก็บข้อมูลจากบริษัทคู่แข่ง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
-เผยโฉม 'หัวเว่ย'ระบบ 5G รุ่นแรก
-สมาร์ทโฟนหัวเว่ยรุ่นใหม่ ส่อไร้แอพเครือกูเกิล
-สหรัฐเล็งต่ออายุ“หัวเว่ย” ซื้อสินค้าจากบ.มะกันได้อีก90วัน
-“หัวเว่ย”กดดันพนง.เร่งทำโปรเจคใหม่รับมือนโยบายกีดกันสหรัฐ