รัสเซียขายอาวุธอินเดียหนุนตลาดยุทโธปกรณ์เอเชียคึกคัก

รัสเซียขายอาวุธอินเดียหนุนตลาดยุทโธปกรณ์เอเชียคึกคัก

การขายอาวุธยุทโธปกรณ์ของรัสเซียให้แก่อินเดียในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นจุดเปลี่ยนของการแข่งขันสะสมอาวุธของหลายประเทศในเอเชีย ในยุคที่มีสถานการณ์ล่อแหลมเกิดขึ้นตลอดเวลา ประเทศในภูมิภาคเหล่านี้ จึงจำเป็นต้องเสริมเขี้ยวเล็บเพื่อป้องกันประเทศ

วลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย และนเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีอินเดีย สร้างความฮือฮาไปทั่วโลก เมื่ออินเดียลงนามข้อตกลงซื้อระบบป้องกันอาวุธทางอากาศ เอส-400 จากรัสเซีย จำนวน 5 ชุด รวมเป็นเงินสูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ ซึ่งข้อตกลงสะเทือนโลกนี้ มีขึ้นระหว่างที่นายปูตินเดินทางเยือนกรุงนิวเดลี และหารือเรื่องพลังงานนิวเคลียร์ เรื่องการสำรวจอวกาศ และการค้ากับอินเดีย

แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะขู่เอาไว้ก่อนหน้านี้ว่า ห้ามชาติอื่นทำสัญญาซื้อขายอาวุธและกิจการใดๆ ที่เกี่ยวกับข่าวกรองของรัสเซีย มิฉะนั้นจะถูกลงโทษทางเศรษฐกิจ ซึ่งเหล่าผู้เชี่ยวชาญทั้งหลาย

คาดการณ์ว่า การที่อินเดียซื้อระบบต่อต้านอากาศยานนี้จากรัสเซียก็เพื่อไว้คุมเชิงจีนที่พยายามรุกเข้าภูมิภาคเอเชียใต้ด้วยแผนการขยายเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมเส้นใหม่

ผู้เชี่ยวชาญหลายคนมองว่า การตัดสินใจซื้ออาวุธจากรัสเซียครั้งนี้ อาจทำให้อินเดียเสี่ยงถูกสหรัฐดำเนินมาตรการคว่ำบาตร เหมือนกับที่สหรัฐเพิ่งประกาศคว่ำบาตรจีนจากกรณีซื้อเครื่องบินขับไล่ซุคฮอย ซู-35 และระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานเอส-400 จากบริษัทโรโซโบรอน เอ็กซ์พอร์ต ผู้ส่งออกอาวุธสงครามรายใหญ่ของทางการรัสเซีย

สหรัฐและชาติพันธมิตรตะวันตก เริ่มบังคับใช้มาตรการคว่ำบาตรที่ห้ามประเทศต่าง ๆ ค้าขายอาวุธกับรัสเซียเมื่อปี 2557 เพื่อตอบโต้ต่อการที่รัสเซียคุกคามยูเครน รวมทั้งเข้าไปแทรกแซงการเมืองของสหรัฐ แต่กรณีของอินเดีย ก็ทำเอาสหรัฐอยู่ในฐานะที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพราะสหรัฐนั้น ไม่ได้เป็นแค่ผู้ขายอาวุธรายใหญ่อันดับ 2 ให้แก่อินเดียเท่านั้น ในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐพยายามกระชับความสัมพันธ์กับอินเดียเพื่อใช้อินเดียคานอำนาจกับจีน ที่กำลังแผ่ขยายอิทธิพลทางการทหารในเอเชียด้วยเหมือนกัน

นอกจากอินเดียและรัสเซีย จะทำข้อตกลงการซื้อขายระบบขีปนาวุธต่อต้านอากาศยานเอส-400 แล้ว ทั้งสองประเทศยังทำข้อตกลงมูลค่ามหาศาลระหว่างกัน เช่นในด้านการรถไฟ ปุ๋ย และอวกาศ โดยรัสเซียจะช่วยฝึกนักบินอวกาศชุดแรกให้อินเดียซึ่งประกาศจะส่งยานอวกาศที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศให้สำเร็จภายในปี 2565

นอกจากนี้ การเจรจายังครอบคลุมเรื่องที่รัสเซียอาจเข้าไปสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ในอินเดีย รวมทั้งเรื่องที่อินเดียจะซื้อเรือฟริเกตมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์ และเฮลิคอปเตอร์อีก 1 พันล้านดอลลาร์จากรัสเซีย

แต่อินเดีย ไม่ใช่ประเทศเดียวที่ติดตั้งอาวุธยุทโธปกรณ์เชิงยุทธศาสตร์ รัฐบาลประเทศต่างๆทั่วภูมิภาคเอเชียต่างทุ่มงบประมาณมากมายกับการนำเข้าอาวุธตลอดสองสามปีมานี้ แต่ขณะนี้การแข่งขันรูปแบบดังกล่าวเริ่มเปลี่ยนไปเป็นการสร้างอุตสาหกรรมอาวุธของตัวเอง ถือเป็นการสกัดเงินทุนรั่วไหลออกนอกประเทศ แถมเป็นหลักประกันเรื่องเสรีภาพของการผลิต

รายงานจากสถาบันวิจัยเพื่อสันติภาพระหว่างประเทศสต็อกโฮล์มระบุว่า การใช้จ่ายด้านการทหารของภูมิภาคเอเชียแซงหน้ายุโรปในปี 2552และปริมาณการใช้จ่ายในส่วนนี้กำลังใกล้เคียงกับสหรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจและอิทธิพลของจีนเป็นตัวแปรหลัก แต่ประเทศอื่นๆก็เพิ่มงบประมาณด้านการทหารเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ตัวอย่างเช่น อินเดีย ปัจจุบัน เป็นประเทศที่ใช้จ่ายด้านการป้องกันประเทศสูงสุดอันดับ4ของโลกในปี 2561 ด้วยมูลค่ารวม 66,000 ล้านดอลลาร์ เป็นรองก็แต่เพียง สหรัฐ จีน และซาอุดิอาระเบียเท่านั้น

ปัจจุบัน ประเทศในเอเชียเหล่านี้ เริ่มเปลี่ยนจากการสั่งซื้ออาวุธมาเป็นการลงทุนและถ่ายโอนเทคโนโลยีจากบรรดาซัพพลายเออร์ชั้นนำทั้งหลาย เช่น กรณีของอินเดียที่จะรับถ่ายทอดเทคโนโลยีเครื่องบินเจ็ทจากรัสเซีย และมาเลเซียกำลังซึมซับโนว์-ฮาวด้านการผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์จากจีน

“เบาสตีด นาวาล ชิปยาร์ด บริษัทต่อเรือของมาเลเซีย จะรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากจีนผ่านการฝึกอบรมและการบำรุงรักษาเรือลิททอรัล มิชชัน ชิป”โมฮาหมัด ซาบู รัฐมนตรีกลาโหมมาเลเซีย กล่าว

ปัจจุบัน กองทัพเรือมาเลเซีย กำลังอยู่ในขั้นตอนของการจัดซื้อกองเรือลาดตระเวณ4ลำจากจีน โดยได้รับมอบเรือนี้จากจีนแล้ว 2 ลำอีกสองลำที่เหลือมีกำหนดส่งมอบให้มาเลเซีย ภายในเดือนพ.ค.และส.ค.ปี 2564

ภาพการแข่งขันพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ของประเทศต่างๆในเอเชีย ดูจะขัดแย้งกับการที่10 ชาติสมาชิกสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน)ทำข้อตกลงร่วมมือด้านการป้องกันประเทศ เพราะในความเป็นจริงแล้ว 10 ประเทศอาเซียนมีการสั่งซื้ออาวุธรวมกันแล้วมากกว่าการสั่งซื้ออาวุธของอินเดียในช่วง2-3ปีมานี้ด้วยซ้ำ ทำให้หลายคนตั้งคำถามเกี่ยวกับการทำข้อตกลงร่วมกันของกลุ่มอาเซียน

“ประเทศสมาชิกอาเซียนในปัจจุบันยังมีความเห็นต่างกันอยู่มาก โดยเฉพาะในประเด็นผลประโยชน์ของประเทศและความสำคัญอันดับต้นๆของการผลิตทางด้านอุตสาหกรรม ประเด็นเหล่านี้ต่างระแวงกันและกัน”ริชาร์ด เอ. บิทซิงเกอร์ สมาชิกอาวุโสจากเอส ราชารัทนัม สคูล ออฟ อินเตอร์เนชั่นแนล สตัดดี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ในสิงคโปร์ ให้ความเห็น