จับคู่ธุรกิจ ‘ไทย-มาเลย์’ ทางลัดเจาะตลาดการค้า
มาเทรด นำกองทัพนักธุรกิจมาเลเซียเดินทางมาสำรวจตลาดและทำความรู้จักกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยครั้งนี้ หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับนักธุรกิจมาเลเซียที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย
เวทีจับคู่ทางธุรกิจ หรือบิสิเนส แมทชิ่ง เป็นอีกหนึ่งเส้นทางลัดเพื่อส่งเสริมการเชื่อมโยงทางการค้า และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำการตลาดในต่างประเทศ ซึ่งสถานเอกอัครราชทูตมาเลเซีย ประจำประเทศไทย ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดงาน “Business Matching with Malaysia 2019” มุ่งหวังเป็นเวทีพบปะกันระหว่างผู้ประกอบขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทยและมาเลเซีย ได้แนะนำผลิตภัณฑ์สินค้าของตนเอง เพื่อทำความรู้จักสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงต่อกัน ที่จะนำไปสู่เจรจาการค้า และแลกเปลี่ยนความร่วมมือในอนาคต
นอร์แมน ซูคาไน ทูตพาณิชย์มาเลเซีย ประจำประเทศไทย กล่าวถึงการจัดเวทีบิสิเนสแมทชิ่งครั้งนี้ว่า สำนักงานพัฒนาความร่วมมือเพื่อการส่งออกและการค้า (มาเทรด) อยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ของมาเลเซีย ได้เป็นหัวหอกสำคัญในจัดโครงการนำผู้ประกอบการบริษัทขนาดกลางของมาเลเซียบุกตลาดในประเทศไทย ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจใน 5 สาขา ได้แก่ เภสัชกรรม อาหาร เครื่องดื่ม การบริการท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) ก็เพื่อส่งเสริมการส่งออกสินค้าและบริการของมาเลเซียในประเทศไทย
นอร์แมน กล่าวว่า มาเทรดได้นำนักธุรกิจมาเลเซียจาก 40 บริษัท เดินทางมายังประเทศไทยเพื่อร่วมเวทีบิสิเนสแมทชิ่ง เพื่อทำความรู้จักกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยแบบตัวต่อตัว ซึ่งเป็นทั้งผู้นำเข้าสินค้าต่างประเทศ ผู้ซื้อ และผู้ประกอบการไทยที่กำลังมองหาช่องทางการตลาดในมาเลเซีย นอกจากนี้ ยังเป็นโอกาสให้นักธุรกิจมาเลเซียได้ลงพื้นที่สำรวจตลาด ด้วยตัวเองโดยตรง ตลอดจนสร้างเครือข่ายทางธุรกิจกับสมาคมอุตสาหกรรมและภาคเอกชนไทย
“มาเทรด นำกองทัพนักธุรกิจมาเลเซียเดินทางมาสำรวจตลาดและทำความรู้จักกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยครั้งนี้ หวังเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับนักธุรกิจมาเลเซีย ในการเข้ามามีส่วนแบ่งการตลาดในไทย ไปพร้อมๆกับการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ด้านการค้าและทำการตลาดระหว่างกัน” ทูตพาณิชย์มาเลเซีย กล่าวย้ำ
นอร์แมน กล่าวว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการค้าของมาเทรด จะทำหน้าที่เปรียบเหมือนเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการมาเลเซีย ทั้งการให้คำปรึกษา การวางแผนกลยุทธ์ แนะนำการวางแผนเชิงรุกเพื่อการส่งออก มุ่งให้เกิดการขยายตลาดในต่างประเทศ รวมไปถึงการสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจทั่วโลก ก็เพื่อผลักดันให้ผู้ประกอบบริษัทขนาดกลางของมาเลเซียสามารถเติบโตไปสู่ระดับภูมิภาคและระดับโลก
ทูตพาณิชย์มาเลเซีย ชี้ว่า ในปี 2561 ตัวเลขการส่งออกของธุรกิจเอสเอ็มอีที่เข้าร่วมกับโครงการของมาเทรด สามารถขยายตัวเติบโตสูงขึ้น 10.9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า หรือมูลค่าการค้าประมาณ 2.77 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งรายได้ประจำปีของบริษัทขนาดกลางในภาคการผลิต เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 11.93 - 119.25 ล้านดอลลาร์ และบริษัทขนาดกลางในภาคการบริการอยู่ที่ 4.76 - 119.25 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ ในปีที่ผ่านมา มาเทรดได้จัดทำโครการ Market Immersion Mission ซึ่งได้สร้างรายได้ที่มาจากการจัดงานจับคู่ธุรกิจระหว่างบริษัทไทย-มาเลเซีย มูลค่ามากถึง 2.81 ล้านดอลลาร์
ปัจจุบันมี บริษัทขนาดกลางของมาเลเซียเข้าร่วมโครงการรวม 253 แห่ง ครอบคลุมประเภทธุรกิจที่หลากหลาย อาทิ อิเล็กทรอนิกส์ ไอซีที ชิ้นส่วนยานยนต์ ผู้ผลิตส่วนประกอบพลาสติก เภสัชกรรม การบริการท่องเที่ยว แฟรนไชส์ และอาหารแปรรูป เป็นต้น
นอร์แมน กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างมาเลเซียกับไทยใกล้ชิดกันมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสัมพันธ์ทางการค้าของ 2 ประเทศอยู่ที่ 26.19 พันล้านดอลลาร์ในปี 2561 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกันในปี 2560 จะเห็นการเติบโตที่เพิ่มสูงขึ้น 14.1% โดยการส่งออกอยู่ที่ 14.14 พันล้านดอลลาร์ และนำเข้า 12.05 พันล้านดอลลาร์
ปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นคู่ค้าอาเซียนที่ใหญ่เป็นอันดับ2 ของมาเลเซีย และประเทศไทยยังเป็นคู่ค้าระดับโลกที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของมาเลเซีย โดยมูลค่าการค้าของไทยและมาเลเซีย ตั้งแต่เดือน ม.ค. - ก.ค. 2562 อยู่ที่ 14.67 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ มาเลเซียส่งออกสินค้ามายังไทยมากที่สุดใน 5 อันดับแรก ได้แก่ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์เคมีคอล สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เครื่องจักร แผงวงไฟฟ้า ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เสริม
ทูตพาณิชย์มาเลเซีย กล่าวด้วยว่า มาเลเซียได้ทำการสำรวจตลาดไทยในระยะ 2-3 ปีนี้ พบว่า ธุรกิจที่ผลิตอาหารแปรรูปพร้อมรับประทาน อาหารเพื่อสุขภาพ อาหารออแกนิค เภสัชกรรม และเวชภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ จะเป็นประเภทที่มีศักยภาพและสามารถทำตลาดในประเทศไทยได้
ด้าน นิภาดา ถังศิริกุล ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทถังศิริเทรดดิ้ง ซึ่งรู้จักกันในชื่อ ขนมข้าวซอยตัด เป็นสินค้าของฝากที่กำลังได้รับความนิยมของ จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า บริษัทได้รับโอกาสทางการค้าจากการเข้าร่วมงานจับคู่นักธุรกิจไทย - มาเลเซีย ซึ่งก็ไม่ผิดหวัง เพราะได้แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ด้านการตลาดระหว่าง และยังทำให้เชื่อมั่นว่า ขนมข้าวซอยตัดจะสามารถเข้าไปทำการตลาดได้ในมาเลเซีย เพราะสินค้าเรามีเครื่องหมายรับรองอาหารฮาลาล และหน้าตารสชาติของ ขนมข้าวซอยตัด ก็คล้ายกับไลท์แครกเกอร์ ซึ่งเป็นขนมที่ขายอยู่ทั่วไปของมาเลเซีย จึงเชื่อว่า เป็นเรื่องไม่ยากจนเกินไป ถ้าจะทำการตลาดในมาเลเซีย
“เรามีโอกาสได้จับคู่พูดคุยเรื่องธุรกิจกับบริษัทเอ็กซ์เซลวิท ซึ่งเป็นประเภทธุรกิจอาหารที่สามารถให้คำแนะนำและเติมเต็มความรู้ด้านการผลิตให้กับเราได้อย่างดีเยี่ยม โดยเฉพาะได้ชี้แนะในเรื่องการยืดอายุให้กับผลิตภัณฑ์อาหารให้มีความปลอดภัย ซึ่งเป็นไอเดียที่ดีที่จะเข้ามาสนับสนุนกระบวนการผลิตของเรา เนื่องจากบริษัทมีแผนเตรียมส่งออกไปจำหน่ายยังตลาดในประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย และเมียนมาในปี 2563” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัทถังศิริเทรดดิ้ง ระบุ
ส่วน ฟาติน ฟาติฮาล อับดุลลา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัทเอ็กซ์เซลวิท เป็นธุรกิจน้ำมันพืชสำหรับใช้ประกอบอาหารของมาเลเซีย กล่าวว่า เวทีจับคู่ทางธุรกิจไทย-มาเลเซีย ทำให้เห็นช่องทางการค้าในประเทศไทยอีกมากมาย โดยบริษัทสามารถเข้าไปรองรับและสนับสนุนการผลิตสินค้าอาหารในไทย รวมทั้งช่วยยกระดับคุณภาพการผลิตให้ดีขึ้น นอกจากนี้ ยังสร้างคอนเนคชั่น นำไปสู่เชื่อมโยงเครือข่ายธุรกิจระหว่างไทยและมาเลเซีย
อย่างไรก็ตาม การจัดงานครั้งนี้ สถานทูตฯ ยังต้องการให้บรรดาเจ้าของธุรกิจได้แลกเปลี่ยนความเห็นในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาช่วยสนับสนุนและพัฒนาธุรกิจให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกด้วย