เปิด 'มุมมอง-ความคาดหวัง' ประเทศคู่เจรจาอาร์เซ็ป
การประชุมอาร์เซ็ปในกรุงเทพฯสัปดาห์นี้ จะเข้มข้นมากขึ้นเพราะทุกประเทศต่างต้องเร่งหาข้อสรุปร่วมกัน แต่ประเทศคู่เจรจาหลักๆมีมุมมองและคาดหวังกับการประชุมครั้งนี้อย่างไร ติดตามได้จากรายงาน
ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป)ถือเป็นความตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกเพราะเกี่ยวข้องกับผู้คนกว่า 3,560 ล้านคน มีมูลค่าการค้ารวมกว่า 11.4 ล้านล้านดอลลาร์ หรือ 30% ของมูลค่าการค้าโลก ประกอบด้วยสมาชิก 16 ประเทศ คือ อาเซียน 10 ประเทศ และคู่เจรจาอีก 6 ประเทศได้แก่ จีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์
สถาบันบรู๊กกิ้งส์ ที่กรุงวอชิงตัน เปิดเผยเมื่อเดือนพ.ย.ว่า หากมีการลงนามความตกลงอาร์เซ็ปจริงอย่างที่หลายฝ่ายคาดหวัง ในอีก 11 ปีข้างหน้า กลุ่มประเทศอาร์เซ็ป ซึ่งมีประชากรคิดเป็นสัดส่วน 47%ของโลก จะสามารถสร้างรายได้แก่ระบบเศรษฐกิจโลกเพิ่มขึ้นปีละ 286,000 ล้านดอลลาร์
แต่ด้วยความที่อาร์เซ็ป เป็นกลุ่มการค้าเสรีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก จึงมีข้อตกลงที่มีรายละเอียดปลีกย่อยหลายด้านและการเจรจาแต่ละครั้งมีทั้งเรื่องที่ตกลงกันได้และตกลงกันไม่ได้ในหลายประเด็น ซึ่งกรอบการเจรจาทั้งหมดมี 20 เรื่องด้วยกัน รวมถึง การเปิดตลาดการค้าสินค้า การค้าบริการ การลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การจัดซื้อโดยรัฐ กฎถิ่นกำเนิดสินค้า และนโยบายการแข่งขัน ซึ่งแต่ละประเทศพยายามเจรจาภายใต้กรอบต่างๆโดยยังคงรักษาผลประโยชน์ประเทศตนเองให้ได้มากที่สุด และมีความระมัดระวังในการตัดสินใจ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างอินเดีย
“ราจีฟ บิสวาส” จากไอเอชเอส มาร์กิต ให้ความเห็นว่า อินเดียยังคงไม่ผลักดันการเจรจาอาร์เซ็ปเพราะกังวลเรื่องสินค้านำเข้าราคาถูกจากจีน และการแข่งขันในภาคการผลิตจากจีน ส่วนโอห์ ไอ ซุน นักวิเคราะห์จากสถาบันเพื่อกิจการระหว่างประเทศ ในสิงคโปร์ กล่าวว่า อินเดียประเทศเดียวสามารถชะลอการเจรจาของอีก 15 ประเทศในกลุ่มได้ แม้ว่า จีนและอาเซียนแทบจะเห็นพ้องต้องกันในเรื่องการเข้าถึงตลาดและการค้าเสรีก็ตาม
ขณะที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า อินเดีย จำเป็นต้องสร้างขีดความสามารถในผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อให้แข่งขันได้ในแง่ของราคา ซึ่งถ้าอินเดียทำสิ่งเหล่านี้ได้จริง จะเป็นประเทที่ได้รับประโยชน์เต็มที่จากความตกลงอาร์เซ็ปที่อินเดียระแวดระวังไม่กล้าผู้มัดตัวเอง
อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2561-2562 อินเดีย ขาดดุลการค้ากับประเทศต่างๆที่เป็นสมาชิกอาร์เซ็ป 11 ประเทศจากทั้งหมด 15 ประเทศ คิดเป็นมูลค่ารวม 107.25 พันล้านดอลลาร์ โดยในช่วงปีดังกล่าว สินค้านำเข้าของอินเดียประมาณ 34% มาจากประเทศต่างๆในอาร์เซ็ป และอินเดียส่งออกไปยังประเทศต่างๆในอาร์เซ็ปแค่ 21%
นอกจากประเด็นการค้าแล้ว ประเด็นการเมืองระหว่างประเทศสมาชิกในอาร์เซ็ปทั้ง16 ประเทศก็เป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่อาจมีผลต่อความสำเร็จของการเจรจาด้วยเหมือนกัน เช่น กรณีของมาเลเซีย ที่ล่าสุด ระบุว่า กำลังดำเนินการทุกอย่าง รวมทั้งใช้ช่องทางในการทูตเพื่อคลายปมขัดแย้งกับอินเดียที่มีสาเหตุมาจากการแสดงจุดยืนสนับสนุนแคชเมียร์ของดร.มหาธีร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรี และหวังว่าเรื่องนี้ จะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงนามความตกลงอาร์เซ็ประหว่างวันที่ 31 ต.ค.-4 พ.ย.ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ไปพูดบนเวทีสหประชาชาติ (ยูเอ็น)เมื่อเดือน ก.ย. ว่า อินเดีย รุกรานและเข้าไปยึดครองรัฐจัมมูและแคชเมียร์ ทั้งยังเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ร่วมมือกับปากีสถาน เพื่อคลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
แคชเมียร์ ซึ่งมีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ถูกแบ่งออกเป็นฝั่งอินเดียและปากีสถาน และทั้ง 2 ฝ่ายต่างก็พยายามอ้างกรรมสิทธิ์เหนือดินแดนทั้งหมดทั้งยังเคยทำสงครามกันมาแล้วถึง 2 ครั้ง
เมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา รัฐบาลอินเดีย ภายใต้การบริหารประเทศของโมดี ได้สั่งเพิกถอนสถานะเขตปกครองตนเองของแคชเมียร์ฝั่งอินเดีย ซึ่งสร้างความโกรธกริ้วต่อทั้งปากีสถานและพลเมืองมุสลิมท้องถิ่น
คำพูดบนเวทียูเอ็นของนายกรัฐมนตรีมาเลเซีย สร้างความไม่พอใจให้อินเดียและมีกระแสข่าวว่าอินเดียเตรียมแก้แค้นมาเลเซียด้วยการระงับการนำเข้าน้ำมันประกอบอาหารและน้ำมันปาล์มหลังจากที่ถูกกดดันอย่างหนักจากบรรดาพ่อค้าในอินเดียให้ตอบโต้ ทำให้เกิดความวิตกกังวลกันมากว่า ความไม่พอใจของอินเดียเกี่ยวกับเรื่องนี้่จะพลอยทำให้การลงนามรับรองความตกลงอาร์เซ็ปมีปัญหาไปด้วย
"ดาเรลล์ ไลคิง" รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การเจรจาอาร์เซ็ปดำเนินไปด้วยดีและการลงนามรับรองความตกลงนี้ควรเกิดจากความพึงพอใจของทุกชาติที่เกี่ยวข้องทั้งชาติสมาชิกอาเซียน10 ชาติและอีก6ชาติในเอเชียแปซิฟิก
“อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น ก่อนที่จะมีการประชุมสุดยอดผู้นำ แต่สมาชิกทั้ง16 ประเทศกำลังร่วมกันผลักดันให้เกิดข้อตกลงการค้าเสรีขนาดใหญ่สุด เราหวังว่า ทุกประเทศจะหาข้อสรุปร่วมกันได้ในการเจรจาอาร์เซ็ปภายในปลายปีนี้ เพื่อให้บริษัทมาเลเซีย ได้มีโอกาสได้นำสินค้าและบริการเข้าไปยังประเทศสมาชิกทั้ง 15 ชาติ” รัฐมนตรีการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย กล่าว
ทั้งนี้ อินเดีย ถือเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันประกอบอาหารรายใหญ่ที่สุดของโลก ทั้งยังเป็นลูกค้าน้ำมันปาล์มอันดับ 1 ของมาเลเซีย โดยนำเข้าน้ำมันปาล์มจากมาเลเซียมากถึง 3.9 ล้านบาร์เรลในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ส่วนสินค้าที่มาเลเซียนำเข้าจากอินเดีย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม สัตว์เป็นๆ เนื้อสัตว์ โลหะชนิดต่างๆ สารเคมี และเคมีภัณฑ์ หากสองประเทศนี้มีกรณีพิพาทการค้ากันขึ้น ย่อมไม่ส่งผลดีต่อการผลักดันอาร์เซ็ปและการค้าในภูมิภาคโดยรวม
วันที่ 1 พ.ย.จะมีการประชุมเตรียมการรัฐมนตรีความตกลงอาร์เซ็ป เพื่อตัดสินใจว่าจะมีการส่งเรื่องให้ผู้นำอาร์เซ็ปประกาศความสำเร็จของการสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปีนี้ ตามเป้าหมายผู้นำหรือไม่
ปัจจุบัน การเจรจาอาร์เซ็ปที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2557 สามารถสรุปผลได้แล้ว 14 ข้อบท 3 ภาคผนวก ยังเหลืออีก 6 ข้อบทที่ต้องเจรจากันให้ได้ข้อสรุปภายในปีนี้ ได้แก่ บทการเยียวยาทางการค้า บทการแข่งขัน บทการค้าบริการ บทกฎถิ่นกำเนิดสินค้า บทการลงทุน และบทพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์