'อาเซียนซัมมิท' กรุงเทพฯ บทพิสูจน์ความจริงใจสหรัฐ
'อาเซียนซัมมิท' กรุงเทพฯ บทพิสูจน์ความจริงใจสหรัฐ หลังส่งเจ้าหน้าที่ระดับที่ปรึกษาด้านความมั่นคงร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทที่ไทยเป็นเจ้าภาพ
สหรัฐทำให้ภูมิภาคเอเชียผิดหวัง หลังจากลดระดับผู้แทนที่เข้าร่วมประชุมซัมมิทอาเซียนเป็นเจ้าหน้าที่ระดับที่ปรึกษาด้านความมั่นคง ต่างกันมากกับประเทศอื่นๆที่ผู้นำประเทศเข้าร่วมประชุมเอง ทำให้เกิดคำถามตามมาถึงความ“จริงใจ”และ“จริงจัง”ของรัฐบาลสหรัฐในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ต่อภูมิภาคนี้
ในช่วงที่คาดกันว่าประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐ จะร่วมประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค)ที่ประเทศชิลี กลางเดือน พ.ย. ทำเนียบขาวแถลงว่า วิลเบอร์ รอสส์ รัฐมนตรีว่าการกระทรทวงพาณิชย์ จะเป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงสุดของรัฐบาลวอชิงตัน ที่จะเข้าร่วมการประชุมผู้นำเอเชียตะวันออก (อีเอเอส) และผู้นำสหรัฐ-อาเซียน ที่กรุงเทพฯ ในสัปดาห์หน้า
โดยรอสส์ จะเป็นหัวหน้าคณะตัวแทนสหรัฐ ร่วมประชุมคณะทำงานของรัฐบาลและผู้บริหารภาคธุรกิจในเวทีอินโด-แปซิฟิก บิสสิเนส ฟอรัม นอกรอบการประชุมอีเอเอส ส่วนนายโรเบิร์ต โอไบรอัน ที่ปรึกษาความมั่นคงแห่งชาติทำเนียบขาว เป็นทูตพิเศษของทรัมป์เข้าประชุมซัมมิท
ส่วน เดวิด สติลเวลล์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกจะเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย แต่ที่น่าสังเกตุคือประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาค เช่น ญี่ปุ่น อินเดีย และจีน ส่งตัวแทนตำแหน่งสำคัญกว่าสหรัฐมาร่วมประชุม
อย่างไรก็ตาม รายงานยุทธศาสตร์ของกระทรวงกลาโหมสหรัฐในปีนี้ ประกาศถึง “อินโดแปซิฟิก” ว่า เป็นภูมิภาคเดียวที่สำคัญที่สุดต่ออนาคตของอเมริกา แต่รัฐบาลทรัมป์ กลับให้ความสำคัญกับการประชุมอีเอเอสและอาเซียนน้อยลงเรื่อย ๆ นับตั้งแต่รับตำแหน่งเมื่อช่วงสิ้นเดือนม.ค. 2560 ทรัมป์ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนด้วยตัวเองเพียงครั้งเดียว คือที่ฟิลิปปินส์เป็นเจ้าภาพในช่วงปลายปีเดียวกัน และให้เร็กซ์ ทิลเลอร์วสัน รมว.กระทรวงการต่างประเทศในตอนนั้น เข้าร่วมการประชุมอีเอเอสแทน
ขณะที่ รองประธานาธิบดีไมค์ เพนซ์ เป็นผู้แทนของทรัมป์เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนที่สิงคโปร์ เมื่อปีที่แล้ว แตกต่างจากยุครัฐบาลของอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ซึ่งโอบามา เดินทางมาประชุมด้วยตัวเองทุกครั้ง ยกเว้นเมื่อปี 2556 ซึ่งส่งรองประธานาธิบดีโจ ไบเดน มาแทน เนื่องจากนายโอบามาต้องอยู่แก้ปัญหาชัตดาวน์ที่ทำเนียบขาว
นักการทูตเอเชียหลายคน ให้ความเห็นว่า การที่สหรัฐไม่ส่งตัวแทนระดับสูงมากรุงเทพฯ เป็นเรื่องน่าผิดหวังมากสำหรับภูมิภาคที่กำลังกังวลเรื่องจีนขยายอิทธิพลอย่างรวดเร็ว ขณะที่ทรัมป์ มีแผนไปประชุมเอเปคที่ชิลี ที่เขาเคยบอกว่า หวังจะได้ลงนามข้อตกลงเฟส 1 กับจีนแก้ปัญหาสงครามการค้า แต่กลับไม่มาร่วมประชุมที่กรุงเทพฯ ทำให้บรรดานักการทูตและนักวิเคราะห์ ตั้งข้อสงสัยถึงความรับผิดชอบของสหรัฐต่อภูมิภาคนี้ โดยเฉพาะหลังจากทรัมป์ประกาศถอนตัวจากทีพีพีในปี 2560 หลังรับตำแหน่งประธานาธิบดีได้ไม่นาน
แมททิว กู๊ดแมน ที่ปรึกษาอาวุโสด้านเศรษฐกิจเอเชีย ศูนย์วอชิงตันเพื่อยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษา มองว่า การส่งตัวแทนมาแบบนี้เป็น “ปัญหาที่แท้จริง”
“ก็อย่างที่วู้ดดี้ อัลเลนบอก 80 หรือ 85% ของชีวิตคือการไปปรากฏตัว จริงที่สุดสำหรับอินโดแปซิฟิก ถ้าคุณไปคุณก็ได้รับการยกย่อง ไม่ว่าคุณจะทำหรือพูดอะไร แต่ถ้าคุณไม่ไปคือมีปัญหาแล้ว” กู๊ดแมน กล่าว
ส่วน เอมี ซีไรท์ เจ้าหน้าที่กลาโหมอาวุโสรัฐบาลนายโอบามา ซึ่งปัจจุบันเป็นที่ปรึกษาอาวุโสซีเอสไอเอส กล่าวว่า การประชุมผู้นำอีเอเอส เป็นเวทีสนทนาเชิงยุทธศาสตร์สำคัญยิ่งสำหรับเอเชียแปซิฟิก มีผู้นำจากจีน อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และอาเซียน 10 ประเทศร่วมประชุม
"ข่าวหน้า 1ในภูมิภาคต้องรายงานว่า ไม่มีผู้นำระดับสูงของสหรัฐมาร่วมประชุมซัมมิทกับผู้นำอินโดแปซิฟิกอีก 17 ประเทศ และต้องมีคนถามแน่ๆ ว่า รัฐบาลนี้จริงจังกับยุทธศาสตร์อินโดแปซิฟิกที่เสรีและเปิดกว้างแค่ไหน และที่แน่ๆ ต้องมีคนสงสัยถึงความน่าเชื่อถือของสหรัฐ ในการเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของภูมิภาค
การไม่เข้าร่วมประชุมอาเซียนซัมมิทของทรัมป์ครั้งนี้ เกิดขึ้นในช่วงที่สหรัฐกำลังทำสงครามการค้ากับจีน และผลกระทบจากสงครามการค้าเริ่มสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ทำให้หลายประเทศเกิดการรวมกลุ่มกันเพื่อรับมือกับผลพวงจากสงครามการค้า ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ว่า ความตึงเครียดด้านการค้าระหว่างสหรัฐกับจีน อาจช่วยเพิ่มแรงผลักดันให้มีความคืบหน้าในการเจรจาความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาค(อาร์เซ็ป)ระหว่างอาเซียนกับอีกหกประเทศคู่เจรจา คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน และอินเดียได้ ถึงแม้ว่าอาจจะยังไม่ถึงขั้นมีข้อตกลงท้ายสุดก็ตาม
จนถึงขณะนี้ การเจรจาเรื่องเงื่อนไขการเข้าถึงตลาดสำหรับอาร์เซ็ป ประสบความสำเร็จแล้วประมาณ 80% และประเทศสมาชิกก็สามารถทำความตกลงในข้อกำหนดต่าง ๆ 14 บท จากจำนวนทั้งสิ้น 20 บทด้วย ซึ่งการเจรจาเรื่องนี้จะดำเนินต่อไปหลังจากที่การประชุมระดับผู้นำของอาเซียนเสร็จสิ้นลง
ขณะนี้ในบรรดาประเทศสมาชิก 16 ประเทศที่ร่วมเจรจาข้อตกลงการค้าเสรีอาร์เซ็ปมีหลายประเทศด้วยกัน เช่น อินเดีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เกาหลีใต้ และไทย ซึ่งได้เปรียบดุลการค้าจำนวนมากกับสหรัฐ ซึ่งนักวิเคราะห์เตือนว่า เรื่องนี้อาจจะเป็นเป้าหรือเหตุผลให้สหรัฐใช้มาตรการลงโทษด้านการค้ากับประเทศเหล่านี้ได้
ขณะที่ผลสำรวจล่าสุด จัดทำโดยซีเอ็นบีซี เฟด เซอร์เวย์ ระบุว่า 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ซึ่งรวมถึงนักเศรษฐศาสตร์ ผู้จัดการกองทุน และนักกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ เห็นว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปีนี้และปีหน้า เนื่องจากผลกระทบของมาตรการภาษีนำเข้า
นักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญที่ถูกสุ่มสำรวจครั้งนี้ คาดการณ์ว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในปี 2562 อยู่ที่ 1.75% ลดลงจากระดับ 2.9% ในปี 2561 และคาดว่าจะขยายตัวที่ระดับ 2% ในอีกสองปีข้างหน้า และรายงานยังระบุด้วยว่า 34% ของผู้ตอบแบบสำรวจคาดการณ์ว่า สหรัฐจะเผชิญกับเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ซึ่งเป็นระดับสูงสูดนับตั้งแต่ปี 2554 ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับนโยบายกีดกันการค้าและความอ่อนของเศรษฐกิจโลก
ขณะเดียวกัน 60% ของผู้ตอบแบบสำรวจเชื่อว่า การเก็บภาษีนำเข้าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง ขณะที่อีก 76% กล่าวว่ามาตรการภาษีนำเข้าส่งผลให้ผู้บริโภคมีต้นทุนการใช้จ่ายที่สูงขึ้น
ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่า การที่สหรัฐเรียกเก็บภาษีนำเข้าจากประเทศคู่ค้านั้น ยังส่งผลต่อธุรกิจ ผู้บริโภค และเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐเองด้วย