เกาหลีเหนือเปิดท่องเที่ยวการแพทย์เจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีน
เกาหลีเหนือจะเปิดตัวการท่องเที่ยวทางการแพทย์ในปีหน้า เพื่อให้นักท่องเที่ยวมารับบริการด้านการแพทย์ที่หลากหลาย ทั้ง ผ่าตัดต้อกระจก ใส่รากฟันเทียม รักษาเนื้องอก และมุ่งเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าชาวจีนเป็นหลัก
หนังสือพิมพ์โรดองซินมุน ของพรรคแรงงานเกาหลีเหนือ รายงานว่า ทางการเปียงยางเพิ่งเปิดตัวบรรษัทแลกเปลี่ยนการท่องเที่ยวเน้นการรักษาพยาบาลเมื่อไม่นานมานี้ หวังหารายได้จากกระแสความต้องการท่องเที่ยวที่มีการดูแลทางการแพทย์ด้วย เพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มสากล
บรรษัทของรัฐแห่งนี้จะบริหารคลีนิกต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ใกล้แหล่งบ่อน้ำร้อน ซึ่งมีแร่ธาตุที่สามารถรักษาอาการปวดเส้นประสาท อาการข้ออักเสบ โรคหัวใจและโรคผิวหนัง
เมื่อเดือนที่แล้ว นายคิม จองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือไปเยี่ยมที่พักตากอากาศบ่อน้ำร้อนที่ก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จในเมืองยังด๊ก เมืองป่าสนทางตอนกลางของประเทศ เป็นหนึ่งในโครงการก่อสร้างใหญ่ที่ผู้นำเกาหลีเหนือหวังผลักดันให้เศรษฐกิจเกาหลีเหนือสามารถพึ่งพาตัวเองได้
การท่องเที่ยวของเอกชนเป็นหนึ่งในธุรกิจไม่กี่ประเภทที่เกาหลีเหนือไม่ถูกคว่ำบาตรจากเรื่องทดสอบขีปนาวุธและนิวเคลียร์ ซึ่งนักวิเคราะห์ ให้ความเห็นว่า ปีนี้ มีชาวจีนไปเที่ยวเกาหลีเหนือมากถึง 350,000 คน น่าจะทำรายได้ให้มากถึง 175 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 5,308 ล้านบาท)
นักวิชาการในเกาหลีใต้ มีความเห็นว่า การรณรงค์เรื่องท่องเที่ยวทางการแพทย์เป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่าเกาหลีเหนือมีความก้าวหน้า ขณะเดียวกัน อาจดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวจีนที่นิยมเรื่องการแพทย์แผนตะวันออก นอกเหนือไปจากการท่องเที่ยวธรรมชาติที่เกาหลีเหนือมีอยู่แล้ว
ขณะที่เกาหลีเหนือเตรียมเปิดตัวการท่องเที่ยวทางการแพทย์ในปีหน้านั้น จีนก็เตรียมส่งนักเรียนไปญี่ปุ่นเพื่อไปเรียนรู้วิธีดูแลผู้สูงวัยที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆเนื่องจากจีนกำลังจะเป็นสังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์แบบในอีกไม่นานนี้
ต้นเดือนพ.ย.ที่ผ่านมา นักเรียนสัญชาติจีนอายุประมาณ 20 ปีมารวมกันที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเมืองจี้หนาน ซึ่งไกลจากปักกิ่งไปทางใต้ประมาณ 400 กิโลเมตร เพื่อร่วมฉลองการเปิดคอร์สฝึกอบรมวิชาชีพพยาบาลในญี่ปุ่น ที่สถาบันด้านการพาณิชย์และเทคโนโลยีชานตง
ภายในปี 2568 ประชากรสูงวัยคือผู้ที่มีอายุ60 ปีขึ้นไปในจีนจะเพิ่มขึ้นเป็น 34.8% ของประชากรโดยรวม เพราะฉะนั้น นักเรียนจีนทั้ง 100 คนที่จะเดินทางไปรับการศึกษาด้านการดูแลและพยาบาลผู้สูงวัยในญี่ปุ่นจึงเป็นความหวังทั้งต่อชุมชนและต่อไช่ หยงกวง ผู้อำนวยการสมาคมการแพทย์และสวัสดิการญี่ปุ่น-จีน ซึ่งจัดทำโครงการนี้
การดูแลผู้สูงวัยอย่างมีคุณภาพเป็น1ในนโยบายหลักของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่ประกาศยกระดับมาตรฐานการดำเนินชีวิตของชาวจีนทั่วทั้งประเทศและรัฐบาลปักกิ่งต้องการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งในเรื่องนี้ของญี่ปุ่น
ไช่ กล่าวว่า ชาวจีนรุ่นใหม่จะสนับสนุนธุรกิจให้บริการและรักษาพยาบาลผู้สูงวัยของญี่ปุ่น ซึ่งขณะนี้กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาขาดแคลนแรงงานขั้นรุนแรง ให้สามารถเรียนรู้ทักษะด้านนี้ จนท้ายที่สุด สามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจการพยาบาลหรือดูแลผู้สูงวัยในจีนได้ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ ซึ่งการจัดคอร์สลักษณะนี้ จะขยายไปในมณฑลเหลียวหนิง ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของจีนและในมณฑลอื่นๆทั่วประเทศในอนาคต
จีน หวังว่าจะได้รับประโยชน์จากการให้วีซ่ารูปแบบใหม่ของรัฐบาลญี่ปุ่นที่เน้นรับแรงงานมีทักษะเฉพาะด้าน เข้ามาช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนบุคลากรในอุตสาหกรรมดูแลและพยาบาล โดยญี่ปุ่นมีแผนรับแรงงานต่างชาติที่มีทักษะความชำนาญดังกล่าวจำนวนมากถึง 60,000 คนในระยะ 5ปีเพื่อรองรับความต้องการด้านการดูแลผู้สูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย จะส่งออกแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านการดูแลและพยาบาลผู้สูงวัยมาที่ญี่ปุ่นตลอดช่วง 2-3 ปีมานี้ แต่ข้อจำกัดด้านภาษาญี่ปุ่นก็เป็นอุปสรรคสำคัญที่สกัดกั้นแรงงานจาก2ประเทศนี้ทำให้ไม่ได้วีซ่าทำงานในญี่ปุ่น
สำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ระบุว่าในปี 2561 จีนมีประชากรที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไปมากถึง 249.5 ล้านคน คิดเป็น 17.9% ของจำนวนประชากรทั้งหมด และคาดว่าภายในปี 2593 สัดส่วนผู้สูงวัยในจีนจะเพิ่มเป็นกว่า 1 ใน 3 ของประชากรจีนหรือราว 485 ล้านคน
นอกจากนี้ รายงานการพัฒนาอุตสาหกรรมการดูแลผู้สูงวัยของจีน ยังประเมินว่า การจับจ่ายรวมของกลุ่มผู้สูงวัยในจีนจะเพิ่มจาก 4 ล้านล้านหยวนในปี 2557 เป็น 106 ล้านล้านหยวนในปี 2593 ประกอบกับการที่สังคมจีนให้ความสำคัญกับความกตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ ทำให้ลูกหลานชาวจีนมักดูแลผู้ใหญ่ในบ้านเป็นอย่างดี จึงเป็นโอกาสอย่างมากสำหรับผู้ประกอบการทั่วโลกในการรุกตลาดผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงวัยในจีน