ตลาด 'เนื้อเทียม' เอเชียมาแรง แตะ 1.6 หมื่นล้านดอลล์ปีนี้

ตลาด 'เนื้อเทียม' เอเชียมาแรง แตะ 1.6 หมื่นล้านดอลล์ปีนี้

เนื้อเทียมเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ยอดนิยมของสหรัฐในปี 2562 ถึงปี 2563 เนื้อเทียมนานาชนิดจะปรากฏบนโต๊ะอาหารของชาวเอเชียมากขึ้นด้วย

เว็บไซต์นิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า เมื่อปี 2562 เบอร์เกอร์คิงเริ่มวางขาย อิมพอสสิเบิลวอปเปอร์ เบอร์เกอร์เนื้อจากพืชของบริษัทอิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ ขณะที่คู่แข่งอย่างบียอนด์มีตเข้าจดทะเบียนในตลาดแนสแด็ก ที่เอเชียแปซิฟิกก็คึกคักไม่แพ้กันเมื่อเครือร้านฟาสต์ฟู้ดและบริษัทแปรรูปอาหารทำกลยุทธ์หวังเจาะตลาดเนื้อเทียมในภูมิภาค ที่ยูโรมอนิเตอร์ อินเตอร์เนชันแนลคาดว่าจะสูงทะลุ 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์ในปีนี้

ผู้เล่นในอุตสาหกรรมนี้มองเห็นโอกาสด้วยเหตุผลที่ว่า ผู้บริโภคเปลี่ยนความคิดหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น สังคมตระหนักมากขึ้นถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของฟาร์มปศุสัตว์ และการระบาดอย่างรุนแรงของอหิวาต์สุกรแอฟริกันในจีน

เซอิจิ คิซูกิ ผู้อำนวยการวิจัยสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ เผยว่า การที่ผู้บริโภคตระหนักมากขึ้นถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจี) ของสหประชาชาติที่รวมถึงการผลิตและบริโภคอย่างรับผิดชอบ ช่วยหนุนให้ตลาดขยายตัว นอกจากนี้การห่วงใยสุขภาพมากขึ้นผนวกกับเศรษฐกิจในภูมิภาคเติบโต เป็นแรงจูงใจอีกประการหนึ่งในผู้บริโภคเอเชียเลือกเนื้อจากพืช

“เทรนด์นี้ไม่อาจพลาดได้เลย”

ที่ญี่ปุ่น อิโตะแฮมฟู้ดส์ บริษัทแปรรูปเนื้อรายใหญ่กำลังเตรียมเปิดตัวฮัมบูร์กสเต็กสไตล์ญี่ปุ่นและไก่ทอดแปลงจากถั่วเหลืองในเดือน ก.พ.นี้ ส่วนบริษัทลูกอย่างโยเนคิว โฮลดิงส์ก็หวังจับกลุ่มลูกค้ากลุ่มมังสวิรัติแบบไม่เคร่ง ที่ส่วนใหญ่เลี่ยงเนื้อสัตว์แต่ก็รับประทานบ้างเป็นบางครา

บริษัทน้ำมันปรุงอาหาร “ฟูจิออยล์ โฮลดิงส์” เปิดร้านอาหารในโอซากา เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เสิร์ฟอาหารผลิตจากพืชเท่านั้น เช่น ลาซานญา โดยเนื้อที่ใช้ทำจากถั่วเหลืองสกัดไขมัน

“อาหารแบบนี้ดึงดูดนักท่องเที่ยวเอเชียให้มาเที่ยวโอซากา รวมทั้งชาวพุทธเคร่งจารีต ผู้รับประทานเนื้อในอาหารตะวันตกส่วนใหญ่ไม่ได้” โฆษกบริษัทเผย

ฟูจิออยล์คาดหวังมากว่า ความต้องการโปรตีนถั่วเหลืองในฐานะอาหารทดแทนเนื้อสัตว์จะมีสูงมาก บริษัทซึ่งมีฐานปฏิบัติการในโอซากาลงทุนราว 2.4 พันล้านเยน สร้างโรงงานใน จ.ชิบะใกล้กรุงโตเกียว เริ่มผลิตได้ในเดือน ก.ค.นี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการผลิตของบริษัทได้เป็นสองเท่าจากปัจจุบันอยู่ที่ 9,000 ตันต่อปี

กล่าวได้ว่าเนื้อเทียมกำลังมาแรง จนฟาสต์ฟู้ดเอเชียต้องโดดมาร่วมวงด้วย

มอสเบอร์เกอร์ บริหารโดยมอสฟู้ดเซอร์วิสของญี่ปุ่น เริ่มขายมอสอิมพอสสิเบิลเบอร์เกอร์ในสิงคโปร์เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาในราคา 6.95 ดอลลาร์สิงคโปร์ (155 บาท) เนื้อเทียมที่ใช้พัฒนาโดยอิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ ขณะนี้มอสกำลังจับตาการตอบสนองของผู้บริโภค แต่ก็หวังทำยอดขายเบอร์เกอร์ได้ 20,000 ชิ้นภายในสิ้นปี 2562 และวางแผนเพิ่มเนื้อเทียมลงไปในเมนูปกติเร็วๆ นี้

ขณะเดียวกันที่ไต้หวัน มอสนำเสนอเบอร์เกอร์ทางเลือกใช้เนื้อจากบียอนด์มีต ที่กำลังวางแผนขยายตลาดเนื้อเทียมไปยังประเทศอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม เทรนด์เนื้อเทียมไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในกลุ่มผู้เล่นรายใหญ่เท่านั้น วูลฟ์เบอร์เกอร์ส ที่มี 4 สาขาในสิงคโปร์ เปิดตัวเนื้อทางเลือกเรียกว่า ฟิวเจอร์เบอร์เกอร์ ในเดือน ต.ค.2561 ใช้เนื้อเทียมจากบียอนด์มีต ราคาก็ไม่ใช่ถูกๆ ฟิวเจอร์เบอร์เกอร์ราคา 16.9 ดอลลาร์สิงคโปร์ (377 บาท) ขณะที่วูลฟ์เบอร์เกอร์ออริจินัลขายกันที่ 9.9 ดอลลาร์สิงคโปร์ (221 บาท) นี่คือความท้าทายอย่างหนึ่งของเนื้อเทียม ที่ราคามีแนวโน้มสูงกว่าเนื้อจริง เนื่องด้วยตลาดมีจำกัดจึงยากที่จะบรรลุการประหยัดต่อขนาดได้

กระนั้น วูลฟ์เบอร์เกอร์สเชื่อว่าผู้บริโภคหันเข้าหาอาหารเพื่อสุขภาพมากขึ้น เพราะสังคมมั่งคั่งขึ้น ทั้งยังมีจิตสำนึกรักษ์โลก องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (เอฟเอโอ) เผยว่าการทำปศุสัตว์มีส่วนปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากถึง 14.5% การบริโภคเนื้อสัตว์ล้นเกินจึงสร้างปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสภาพแวดล้อม

แม้ธุรกิจอเมริกันจะเป็นผู้จุดกระแสเบอร์เกอร์เนื้อเทียมไปทั่วโลก แต่เอเชียก็มีประวัติการใช้เนื้อทดแทนมาแนนแล้วในตำรับอาหารชาวพุทธ และลี กาชิง มหาเศรษฐีเบอร์ 1 ของฮ่องกงนักธุรกิจผู้โด่งดังที่สุดคนหนึ่งของเอเชีย เป็นนักลงทุนคนแรกๆ ในตลาดเนื้อเทียมยุคใหม่

ในฐานะชาวพุทธผู้เคร่งครัดและชอบเนื้อเทียมอยู่แล้ว ลีลงทุนในอิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ ผ่านฮอไรซันส์เวนเจอร์ส บริษัทหุ้นนอกตลาดของตนตั้งแต่เมื่อปี 2557 หรือ 2 ปีก่อนที่อิมพอสสิเบิลฟู้ดส์เปิดตัว “อิมพอสสิเบิลเบอร์เกอร์” ผลิตภัณฑ์ชิ้นแรกของบริษัท

การเก็งกำไรของลีไปได้สวย ข้อมูลจากบริษัทบริการข้อมูล “พิตช์บุ๊ค” ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมามูลค่าของอิมพอสสิเบิลฟู้ดส์ ที่มีฐานปฏิบัติการในแคลิฟอร์เนีย เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า จาก 700 ล้านดอลลาร์มาอยู่ที่ 2,000 ล้านดอลลาร์

เนื้อเทียมของบริษัทนำมาขายในฮ่องกงครั้งแรกเมื่อปี 2561 ปัจจุบันพร้อมบริการให้ร้านอาหารฮ่องกงกว่า 250 ร้าน

ธุรกิจบางแห่งที่ขายเนื้อเทียมในฮ่องกงกำลังมองตลาดจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีขนาดใหญ่กว่า จีนบริโภคเนื้อจริง 28% ของซัพพลายโลก และกำลังต่อกรกับการระบาดของอหิวาต์สุกรที่จำเป็นต้องฆ่าสุกรราว 1 ล้านตัว ตลาดจึงเกิดช่องว่างขนาดใหญ่

กรีนคอมมอน บริษัทค้าปลีกในฮ่องกง ตัวแทนจำหน่ายบียอนด์มีต ตั้งร้านค้าปลีกบนเว็บทีมอลล์ของอาลีบาบากรุ๊ปโฮลดิงส์เมื่อปีก่อน ขายเนื้อทดแทนรวมถึงนักเก็ตไก่และอาหารแช่แข็งจากภาคีฝ่ายที่ 3

นอกจากนี้กรีนคอมมอนยังใช้บริษัทลูกชื่อไรท์ทรีต พัฒนาออมนิพอร์ก หมูสับเทียมทำจากถั่วเหลืองและข้าว ภายในไม่กี่เดือนนี้โรงแรมและร้านอาหาร 180 แห่งในกรุงปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้จะเสิร์ฟเนื้อหมูเทียมแบรนด์นี้

ดูแล้วน่าจะเป็นช่วงเวลาดีของการขยายตลาดเนื้อเทียม งานวิจัยของยูโรมอนิเตอร์ชี้ว่า ความต้องการของตลาด ตั้งแต่เบอร์เกอร์และไส้กรอกมังสวิรัติ ไปจนถึงอาหารสำเร็จรูปใช้เนื้อทำจากถั่วเหลือง รวมถึงอาหารแช่แข็งและอาหารแช่เย็นที่ต้องเก็บไว้นานๆ จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 5 ปีข้างหน้า