'สหรัฐ-อิหร่าน-อิรัก' ในวังวนความขัดแย้ง
ความขัดแย้งสหรัฐ-อิหร่าน ชนวนจากการลอบสังหารนายพลคนสำคัญของฝ่ายหลัง ขยายวงไปถึงเพื่อนบ้าน รัฐสภาอิรักเรียกร้องให้สหรัฐและต่างชาติถอนทหารออกไป ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์จึงขู่ว่าจะคว่ำบาตรอิรักด้วย หลังขู่ว่าจะเล่นงานแหล่งวัฒนธรรมของอิหร่านถ้าตอบโต้
รัฐสภาอิรักเห็นชอบข้อมติเมื่อวันอาทิตย์ (5 ม.ค.) เรียกร้องให้ถอนทหารต่างชาติทั้งหมดออกไปจากอิรัก หลังเกิดเหตุโดรนสหรัฐถล่มขบวนรถนายพลกาเซ็ม โซไลมานี ของอิหร่าน เป็นเหตุให้นายพลคนสำคัญเสียชีวิต ข้อมติของสภาสะท้อนถึงความหวาดกลัวของหลายคนในอิรัก ที่เกรงว่าเหตุโจมตีโซไลมานีจะทำให้อิรักติดกับอยู่ระหว่างสองมหาอำนาจที่ใหญ่กว่าตนอย่างสหรัฐและอิหร่าน ที่ขัดแย้งกันมานานแล้วทั้งในอิรักและตะวันออกกลาง
แม้ข้อมติดังกล่าวไม่มีผลผูกพันต่อรัฐบาล แต่เป็นไปได้ว่าคราวนี้รัฐบาลอาจนำไปพิจารณา เพราะก่อนการประชุมนายกรัฐมนตรีอาเดล อับดุล มาห์ดี เรียกร้องให้สภายุติการดำรงอยู่ของทหารต่างชาติให้เร็วที่สุด
อิหร่านและสหรัฐแข่งกันมีอิทธิพลในอิรัก ตั้งแต่กองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐบุกอิรักในปี 2546 เพื่อโค่นผู้นำเผด็จการ “ซัดดัม ฮุสเซ็น”
ด้านประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ตอบโต้ว่าถ้าอิรักขอแบบไม่เป็นมิตรให้สหรัฐถอนทหารออกไป “สหรัฐจะคว่ำบาตรอิรักอย่างที่พวกเขาไม่เคยเจอมาก่อน ชนิดที่การคว่ำบาตรอิหร่านกลายเป็นเรื่องเล็กๆ ไปเลย” และรัฐบาลแบกแดดจะต้องจ่ายค่าฐานทัพอากาศแพงหูฉี่ให้กับวอชิงตันด้วย
อย่างไรก็ตาม โฆษกกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ แถลงก่อนทรัมป์แสดงความเห็นกับนักข่าวว่า สหรัฐยังรอความชัดเจนด้านกฎหมายและผลของข้อมติสภาอิรัก พร้อมเรียกร้องอย่างแข็งขันให้ผู้นำอิรักคิดให้ดีถึงความสัมพันธ์ด้านเศรษฐกิจและความมั่นคงระหว่างทั้งสองชาติที่กำลังดำเนินอยู่
ขณะนี้สหรัฐคงทหารในอิรักไว้ราว 5,000 นาย ส่วนใหญ่มีบทบาทด้านที่ปรึกษา
ขณะที่นายกรัฐมนตรีอับดุล มาห์ดีของอิรักกล่าวว่า แม้อิรักอาจต้องเผชิญกับอุปสรรคทั้งภายในและภายนอก การเลิกขอความช่วยเหลือจากกองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐ “ยังคงดีที่สุดสำหรับอิรักทั้งในแง่หลักการและการปฏิบัติ”
นายกฯ อิรักกล่าวด้วยว่า ตนต้องพบกับโซไลมานีในวันศุกร์ (3 ม.ค.) นายพลผู้นี้มีกำหนดส่งสารตอบกลับจากอิหร่านสู่ซาอุดีอาระเบีย ตามที่ตนเคยแจ้งไปก่อนหน้านั้น โดยซาอุดีอาระเบียที่เป็นซุนนี กับอิหร่านที่เป็นชีอะห์ “กำลังจะตกลงกันได้เรื่องสถานการณ์ในอิรักและตะวันออกกลาง”
นายกฯ อิรักกล่าวด้วยว่า ตนต้องพบกับโซไลมานีในวันศุกร์ (3 ม.ค.) นายพลผู้นี้มีกำหนดส่งสารตอบกลับจากอิหร่านสู่ซาอุดีอาระเบีย ตามที่ตนเคยแจ้งไปก่อนหน้านั้น โดยซาอุดีอาระเบียที่เป็นซุนนี กับอิหร่านที่เป็นชีอะห์ “กำลังจะตกลงกันได้เรื่องสถานการณ์ในอิรักและตะวันออกลาง”
แม้สหรัฐกับอิหร่านจะเป็นศัตรูคู่ปรปักษ์กันมานานหลายสิบปี แต่กองกำลังติดอาวุธที่มีอิหร่านหนุนหลังกับทหารสหรัฐก็สู้รบเคียงบ่าเคียงไหล่กันในอิรัก ระหว่างปี 2557-2560 ต่อสู้กับกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) ศัตรูร่วมของทั้งคู่ แต่อาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส หัวหน้ากลุ่มติดอาวุธก็เสียชีวิตจากโดรนสหรัฐถล่มเมื่อวันศุกร์พร้อมกับโซไลมานีด้วย
การประชุมสภาอิรักเมื่อวันอาทิตย์ (5 ม.ค.) เป็นการประชุมวาระพิเศษ ที่ ส.ส.ซุนนีและชาวเคิร์ดส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย แต่ข้อมติก็ผ่านออกมาโดยเสียงสนับสนุนอย่างท่วมท้นของ ส.ส.ชีอะห์
ส.ส.ซุนนีคนหนึ่งเผยกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า ฝ่ายซุนนีและเคิร์ดเกรงว่า ถ้าขับกองกำลังพันธมิตรนำโดยสหรัฐออกไปแล้ว อิรักอาจเสี่ยงถูกกลุ่มกบฎเล่นงาน บั่นทอนเสถียรภาพ ขณะที่กลุ่มติดอาวุธชีอะห์ที่อิหร่านหนุนหลังแข็งแกร่งขึ้น
ขณะนี้โลกกำลังหวั่นเกรงว่าความตึงเครียดระหว่างสหรัฐกับอิหร่านจะบานปลาย แต่ดักลาส ซิลลิแมน อดีตทูตสหรัฐประจำอิรัก ระหว่างปี 2559-2562 ปัจจุบันเป็นประธานสถาบันรัฐอ่าวอาหรับ กลุ่มคลังสมองในวอชิงตันเผยกับสถานีโทรทัศน์ซีเอ็นบีซี เมื่อวันจันทร์ (6 ม.ค.) เตือนว่า ความรุนแรงในอิรักอาจเป็นสาเหตุสำคัญทำให้ตะวันออกกลางไร้เสถียรภาพ
การโจมตีทางอากาศของสหรัฐเมื่อสัปดาห์ก่อน นอกจากปลิดชีพนายพลคนสำคัญของอิหร่านแล้ว อาบู มาห์ดี อัล มูฮันดิส รองผู้บัญชาการกองกำลังระดมพลประชาชน (พีเอ็มเอฟ) ในอิรักด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบมากมายต่ออิรัก การสูญเสียสองคนนี้ทำให้สถานการณ์ในอิรักอันตรายมาก
“ชายทั้งสองคนสลับกันเป็นตัวเร่งความรุนแรงต่อทหารอเมริกัน ต่อศัตรู และเข้าไปในซีเรีย แต่อีกนัยหนึ่งพวกเขาก็ป้องกันไม่ให้เหตุรุนแรงขยายวงได้ ถ้ามองว่าความเคลื่อนไหวนั้นไม่ใช่ผลประโยชน์ของอิหร่านหรือนักรบชีอะห์” อดีตทูตสหรัฐกล่าว
ด้านอังกฤษซึี่งเป็นพันธมิตรสำคัญของสหรัฐในการต่อสู้ต้านกลุ่มติดอาวุธ เรียกร้องให้อิรักคงทหารกองกำลังพันธมิตรเอาไว้ เพราะงานของพันธมิตรสำคัญมาก
อีกมุมหนึ่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต) เรียกทูตประชุมหารือสถานการณ์ตะวันออกกลางที่กรุงบรัสเซลส์ของเบลเยียม
ปัจจุบันนาโตยังคงปฏิบัติการฝึกอบรมในอิรัก เพื่อเตรียมกองกำลังท้องถิ่นต่อกรกับกลุ่มไอเอส ซึ่งหากกองกำลังพันธมิตรต้องถอนตัวไปก็ไม่แน่ใจว่า จะเกิดอะไรขึ้น โดยเมื่อวันเสาร์ (4 ม.ค.) โฆษกนาโตแถลงว่า ภารกิจของนาโตที่ต้องใช้บุคลากรของพันธมิตรหลายร้อยนายยังคงดำเนินต่อไป แต่การฝึกอบรมถูกระงับไปแล้ว
สำหรับอิหร่านที่ผู้นำประกาศเอาคืนสหรัฐแน่ๆ ล่าสุดรัฐบาลเตหะรานแถลงว่า จะไม่ปฏิบัติตามข้อจำกัดในเรื่องของการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอีกต่อไป ซึ่งนับเป็นการละเมิดข้อตกลงนิวเคลียร์ปี 2558 ที่อิหร่านเคยตกลงไว้กับชาติมหาอำนาจ
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า อิหร่านจะเดินหน้าเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอย่างเต็มที่โดยไม่มีข้อจำกัด อย่างไรก็ดี อิหร่านจะยังคงร่วมมือกับสำนักงานพลังงานปรมาณูสากล (ไอเออีเอ) ต่อไป โดยสำนักงานดังกล่าวเป็นหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายคาดว่าอิหร่านตั้งใจจะประกาศเพิ่มการเสริมสมรรถนะแร่ยูเรเนียมอยู่เดิมแล้ว หลังเมื่อเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว อิหร่านได้เปิดเผยว่าจะลดการปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์เมื่อปี 2558 ลงบางประการ และดำเนินการหลายอย่างเพื่อพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ให้เกินกว่าขอบเขตตามข้อตกลงนิวเคลียร์
ทั้งนี้ อิหร่านและ 6 ชาติมหาอำนาจ ได้แก่ สหรัฐ อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ได้บรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านในปี 2558
ด้านกลุ่มประเทศ “อี3” ซึ่งประกอบด้วยฝรั่งเศส อังกฤษ และเยอรมนี เรียกร้องให้อิหร่านงดเว้นกระทำการรุนแรง และให้ปฏิบัติตามข้อตกลงนิวเคลียร์ 2558 ที่มีความน่าเชื่อถือ รวมทั้งยังยืนยันถึงความมุ่งมั่นต่อสู่กับกลุ่มไอเอส และขอให้ทางการอิรักให้การสนับสนุนที่จำเป็นต้องกองกำลังพันธมิตรต่อไป