'วิกฤติอากาศ' ทำลาย 'จีดีพีโลก' เกิน 50%
ผลการวิจัยฉบับใหม่เผยว่า วิกฤติสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นสร้างความเสียหายให้กับสภาพธรรมชาติเป็นอันตรายต่อจีดีพีโลกกว่าครึ่งหนึ่ง
เว็บไซต์ซีเอ็นบีซีรายงานว่า ในวาระการประชุมประจำปีของเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (ดับเบิลยูอีเอฟ) ที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์นี้ ดับเบิลยูอีเอฟร่วมกับพีดับเบิลยูซี สหราชอาณาจักร จัดทำรายงาน “เศรษฐกิจธรรมชาติใหม่” ศึกษาพบว่า ปี 2562 เป็นปีที่มหาสมุทรโลกร้อนเป็นประวัติการณ์ อุณหภูมิเฉลี่ยโลกสูงสุดเป็นปีที่ 2 และเกิดไฟป่าหลายพื้นที่ตั้งแต่สหรัฐไปจนถึงป่าอเมซอนและออสเตรเลีย สร้างความเสียหายให้กับจีดีพีโลกกว่าครึ่ง เนื่องจากผลผลิตเหล่านี้ที่คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจ 44 ล้านล้านดอลลาร์ ต้องพึ่งธรรมชาติในระดับปานกลางหรือระดับสูงมาก จึงเกิดความเสี่ยงหากธรรมชาติเสียหาย
รายงานระบุด้วยว่า การก่อสร้าง (4 ล้านล้านดอลลาร์) การเกษตร (2.5 ล้านล้านดอลลาร์) และอาหารและเครื่องดื่ม (1.4 ล้านล้านดอลลาร์) เป็น 3 อุตสาหกรรมใหญ่สุดที่พึ่งพาธรรมชาติมากที่สุด
เมื่อรวมกันมูลค่าของธุรกิจเหล่านี้ใหญ่กว่าเศรษฐกิจเยอรมนีราว 2 เท่า ว่ากันว่าทั้ง 3 อุตสาหกรรมไม่พึ่งพาธรรมชาติทางตรง เช่น ใช้ทรัพยากรจากป่าและมหาสมุทร ก็พึ่งพาทางอ้อม กล่าวคือระบบนิเวศของอุตสาหกรรมต้องใช้ดินดี น้ำสะอาด การถ่ายละอองเกสร และสภาพอากาศที่แน่นอน เท่ากับว่าถ้าธรรมชาติเสียหาย ขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเหล่านี้จะต้องปั่นป่วนเป็นอย่างมาก
รายงานจำแนกชัดว่า อุตสาหกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติสูงสร้างรายได้ 15% ของจีดีพีโลก (13 ล้านล้านดอลลาร์) ส่วนอุตสาหกรรมที่พึ่งพาธรรมชาติปานกลาง สร้างรายได้ 37% ของจีดีพีโลก (31 ล้านล้านดอลลาร์)
“เราจำเป็นต้องกำหนดความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติเสียใหม่ จะต้องไม่มองว่าการที่ธรรมชาติเสียหายจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องภายนอกอีกต่อไป รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นแล้วว่า ธรรมชาติเสียงหายส่งผลสำคัญต่อธุรกิจทุกภาคส่วน ทั้งยังเป็นความเสี่ยงเร่งด่วนในแนวดิ่งต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจในอนาคตของเราทั้งผอง” โดมินิก วาเกรย์ กรรมการผู้จัดการดับเบิลยูอีเอฟกล่าวในรายงาน
ธีมงานประชุมดับเบิลยูอีเอฟในปีนี้คือ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อโลกที่เหนียวแน่นและยั่งยืน” ถูกวิจารณ์หนาหูว่าแปลกแยกจากโลกแห่งความเป็นจริง แต่ดับเบิลยูอีเอฟแจ้งว่า วัตถุประสงค์การประชุมคือช่วยเหลือรัฐบาลและสถาบันระหว่างประเทศติดตามความก้าวหน้าของข้อตกลงปารีสว่าด้วยโลกร้อน และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (เอสดีจี) ของสหประชาชาติ (ยูเอ็น)
ยูเอ็นยอมรับแล้วว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็น “ปัญหาสำคัญในยุคสมัยของเรา” รายงานเมื่อเร็วๆ นี้เรียกวิกฤติสภาพภูมิอากาศว่า "ความท้าทายใหญ่สุดต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน
อลัน โจป ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ยูนิลีเวอร์ ระบุ รายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นถึงเรื่องสำคัญอย่างมากว่าเราอยู่ในความทุกข์ยากแสนสาหัส ผู้นำภาคธุรกิจและรัฐบาลยังมีเวลาลงมือทำตามข้อเสนอของรายงาน
"ถ้าเราร่วมมือกันการประชุม COP15 และ COP26 สามารถบรรลุข้อตกลงที่เราต้องการให้เกิด เพื่อขับเคลื่อนโลกออกจากห้องฉุกเฉินไปอยู่ห้องพักฟื้นได้" ซีอีโอยูนิลีเวอร์กล่าว
รายงานฉบับก่อนของดับเบิลยูอีเอฟเผยด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะส่งผลกระทบต่อชุมชน สังคม บริษัทเอกชน ตลอดจนหน่วยงานรัฐบาลโดยถ้วนหน้า ก่อต้นทุนแก่บริษัทขนาดใหญ่สุดของโลกจำนวนกว่า 200 แห่งเป็นเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ในระยะ5ปีข้างหน้า หากไม่มีการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อนอย่างเห็นผล
นอกจากนี้ ดับเบิลยูอีเอฟ ยังระบุว่า สำหรับประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้งบประมาณ 3 แสนล้านดอลลาร์ในแต่ละปีเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เกิดจากสภาพอากาศเปลี่ยน และภายในสิ้นศตวรรษนี้ ปัญหาสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงสร้างความเสียหายแก่เศรษฐกิจของสหรัฐประมาณ 10% และการที่สหภาพยุโรป (อียู) ตั้งเป้าลดก๊าซคาร์บอนไดอ็อกไซด์ให้เหลือ 0% ภายในปี 2593 จำเป็นต้องใช้งบประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์